'คริสติน ลาการ์ด' กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้าร่วมการประชุมนานาชาติระหว่างธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และไอเอ็มเอฟ ซึ่งจัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 8-14 ต.ค. 2561 และในการประชุมครั้งนี้ ลาการ์ดได้แถลงแนะนำตัวหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คนใหม่ของไอเอ็มเอฟอย่างเป็นทางการ โดยจะเป็นผู้มาแทน 'มอริซ ออบสเฟลด์' ซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่งสิ้นปีนี้
ผู้ที่จะมารับตำแหน่งแทนออบสเฟลด์ คือ 'กีตา โกปินาธ' ศาสตราจารย์จากสถาบันด้านเศรษฐศาสตร์ จอห์น สวอนสทรา ในสังกัดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทั้งยังเป็น 'ผู้หญิงคนแรก' ที่ได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนี้
ปัจจุบัน โกปินาธเป็นพลเมืองอเมริกัน แต่มีเชื้อสายอินเดีย และเป็นนักวิเคราะห์ของวารสาร American Economic Review ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของไอเอ็มเอฟมาก่อน โดยเฉพาะการใช้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่า โกปินาธจะมีบทบาทสำคัญ ทั้งในการขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการเงิน-การลงทุนของไอเอ็มเอฟในยุคต่อจากนี้
บลูมเบิร์กรายงานว่า ก่อนหน้าที่โกปินาธจะได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ฝั่งเวิลด์แบงก์ก็ได้ประกาศแต่งตั้ง 'พิเนโลพี คูเจียนู โกลด์เบิร์ก' ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล รับตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
(ศรี มุลยานี อินดราวตี รมว.คลังอินโดนีเซีย หารือคริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการ IMF ในการประชุมที่บาหลี)
ด้วยเหตุนี้ การประชุม 'เวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ' ที่บาหลี จึงเป็นการประชุมที่มีผู้หญิงเข้าร่วมในตำแหน่งสำคัญหลายราย รวมถึง 'ศรี มุลยานี อินดราวตี' อดีตประธานเวิลด์แบงก์ ที่ปัจจุบันรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย ก็เข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนของรัฐบาลประเทศเจ้าภาพด้วยเช่นกัน
อนาคตต้องมุ่งพัฒนา 'ทรัพยากรมนุษย์' โดยเฉพาะ 'ผู้หญิง'
ในระหว่างการประชุม คริสติน ลาการ์ด เตือนว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใน 2 มิติ โดยมิติแรกเป็นเกี่ยวข้องกับการเงิน การคลัง และการประกอบธุรกิจต่างๆ และมิติที่ 2 คือการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของเทคโนโลยี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันในระดับนานาชาติและพหุภาคี เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ลาการ์ดยังประกาศด้วยว่าไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์จะต้องร่วมมือกันกำจัดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล เอกชน และประชาสังคม โดยจะต้องกำจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ออกแบบการปฏิรูปสิทธิแรงงาน เสริมพลังด้านการศึกษา ผลักดันกลไกป้องกันทางสังคมให้ผู้คนมีส่วนร่วม และต้องเตรียมความพร้อมให้ประชาชนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีในอนาคตได้
ขณะเดียวกัน 'จิมยองคิม' ประธานเวิลด์แบงก์ เป็นอีกหนึ่งคนที่เรียกร้องให้รัฐบาลและเอกชนทั่วโลกคำนึงถึงการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลงทุน-พัฒนาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ซึ่งการให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนในทุกประเทศ
(เครือข่ายภาคประชาสังคมรวมตัวบริเวณที่จัดประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟที่บาหลี เพื่อประท้วงนโยบายทุนนิยม)
อย่างไรก็ตาม 'วาดารีนา' หรือ รีนา เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการของสมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (APWLD) หนึ่งในองค์กรที่ร่วมจัดงานคู่ขนานกับการประชุมเวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ เผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' เพิ่มเติมว่า การคำนึงถึงทุนมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในความเป็นจริง ประชาชนจำนวนมากในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิกกลับได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟสนับสนุนด้านเงินทุนและกำหนดทิศทางนโยบาย
การลงทุนในนาม 'โครงการพัฒนา' ตัวขยาย 'ความเหลื่อมล้ำ'
รีนาเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟมีส่วนสนับสนุนโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ให้แก่รัฐบาลหลายประเทศ แต่การพัฒนาดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลหลายประเทศเปิดโอกาสหรือเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ซึ่งถูกยึดที่ดินหรือเวนคืนที่ดิน
ปัญหาที่ตามมาคือประชาชนในหลายพื้นที่สูญเสียที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกิน แต่ไม่ได้รับค่าชดเชยหรือการเยียวยาที่เป็นธรรม ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากรัฐบาล โดยกรณีของอินโดนีเซีย มีหลายโครงการที่กลุ่มทุนต่างประเทศเข้ามากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านในราคาถูก และเปลี่ยนพื้นที่เป็นแหล่งเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น เกาะริเยา แต่ชาวบ้านหลายรายถูกบีบให้ขายที่ดิน และการเผาปรับหน้าดินเพื่อเตรียมเพาะปลูกปาล์มจำนวนมากยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ประกอบกับระบบรัฐการมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เปิดช่องให้บริษัทหรือกลุ่มทุนขนาดใหญ่แสวงหาประโยชน์สูงสุด จากการลงทุนน้อยที่สุด
"งานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ บ่งชี้ว่าคนแค่ประมาณ 8 คน ซ่ึงส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ครอบครองความมั่งคั่งร่ำรวยเท่ากับคนเกือบทั่วโลกรวมกัน และที่มีคนพูดกันมากมายว่าจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ฉันว่ามันไม่จริง เพราะผู้หญิงและชุมชนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลังมาตลอด ... เพราะระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนิยมนั้นถูกออกแบบให้อภิสิทธิ์ชนและคนรวยดูดทรัพยากรและเอาเปรียบผู้หญิงหรือชุมชนท้องถิ่นได้ตลอดเวลา"
(เง็ต คอน เป็นอีกผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งถูกไล่ที่ออกจากชุมชนริมทะเลสาบในกรุงพนมเปญของกัมพูชา หลังรัฐบาลให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนจีนเพื่อจัดสรรโครงการพัฒนา เธอถูกยิงด้วยกระสุนยางขณะชุมนุมต้านการไล่ที่ในปี 2556)
ผู้หญิง 'แบกโลก' เพราะต้องรับภาระทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน
รีนาระบุว่าการลดความเหลื่อมล้ำต้องมุ่งเน้นที่ผู้หญิงเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมา โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจนำไปสู่การขยายระบบสาธารณูปโภคและโครงการก่อสร้างต่างๆ ทำให้เกิดการยึดครองที่ดินทำกินโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ รวมไปถึงการแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นสินค้า ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ผู้หญิงจำนวนมากต้องแบกรับภาระทั้งในบ้านและนอกบ้าน เพราะสมาชิกในครอบครัวแยกย้ายไปประกอบอาชีพ และแรงงานหญิงได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชาย แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่มีบทบาทมากกว่าผู้ชายในการประคับประคองสถาบันครอบครัวเอาไว้ และในขณะเดียวกันก็ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสาธารณะด้านสิทธิเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ เงื่อนไขของข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ในหลายประเทศ ส่งผลให้การแข่งขันทางการค้ามีความเข้มข้นยิ่งขึ้น นอกจากผู้ผลิตในประเทศจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องรับมือกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจากต่างประเทศที่อาจมีราคาถูกกว่าที่ผลิตเองในประเทศ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม ทั้งยังมีเงื่อนไขใหม่ที่เปิดให้เอกชนสามารถฟ้องร้องค่าชดเชยจากประเทศต่างๆ ได้ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการค้าการลงทุนในประเทศนั้นๆ ทั้งที่ปัจจุบันกิจการเอกชนจำนวนมากมีความมั่งคั่งร่ำรวยยิ่งกว่าอีกหลายประเทศ
"การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้รับการสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ มีการบอกว่าเราต้องเปิดตลาดเสรี เปิดเสรีทางการค้า แต่รายละเอียดในข้อตกลงการค้าและการลงทุนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน กลับมีเนื้อหาที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่สามารถฟ้องร้องต่อรัฐบาลแต่ละประเทศได้อีกด้วย"
"หลายครั้ง ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ยากจนต้องจ่ายเงินภาษีที่เก็บจากประชาชนให้กับบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งที่เงินภาษีของรัฐควรจะนำไปใช้ในการส่งเสริมการศึกษา สาธารณสุข แต่กลับต้องนำงบไปสนับสนุนกองทัพหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แม้ว่าเวิลด์แบงก์กับไอเอ็มเอฟจะบอกเสมอว่าองค์กรของพวกเขาส่งเสริมสันติภาพและความเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริง พวกเขาไม่ได้ทำเช่นนั้นเลย" รีนากล่าว
"ในระยะยาว เราต้องการความมั่นใจว่าผู้หญิงจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทางกฎหมาย ในระดับนโยบาย ในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เราเชื่อว่าผู้หญิงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่อาจต่อสู้ได้เพียงลำพัง"
ภาพ: Artem Bali on Unsplash และ AFP และ Voice Online
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: