จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ว่าด้วยโลกาภิวัตน์ : ความท้าทายทางเศรษฐกิจ และการโต้กลับทางการเมือง ในหัวข้อ "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์"
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวคิดเสรีนิยมว่า เกิดจากการต่อสู้กับอำนาจทางการเมืองที่อยู่กับพระมหากษัตริย์และอำนาจทางจิตวิญญาณซึ่งอยู่ที่ศาสนจักร ของบรรดาเสรีชนในยุโรป โดยเฉพาะช่างฝีมือและพ่อค้า ซึ่งเติบโตได้จากระบบเศรษฐกิจใช้ระบบตลาด สร้างเครือข่ายใหม่ช่วงชิงกับเครือข่ายของชนชั้นนำเก่า จากการให้ความสำคัญกับเสรีภาพปัจเจกนำสู่การต่อรองช่วงชิงและกำหนดบทบาทของอำนาจรัฐ ที่ต้องให้ความคุ้มครองแต่ต้องไม่แทรกแซงจนเกินไป เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มุ่งสร้างตลาดเสรี โดยลัทธิเสรีนิยมใหม่ จะวางแผนกำกับแรงงานและมีระบบบริหารแบบใหม่ ไม่จำกัดขอบเขตประเทศแต่ข้ามเขตแดนหรือเป็นลักษณะบรรษัทภิบาลข้ามชาติ
ศ.ดร.ธเนศ ยืนยันว่า ระบบทุนนิยมจะนำสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นวัฏจักร โดยเฉพาะเมื่อมีระบบเสรีทางการเงิน ที่ทำให้โครงสร้างการเงินเปราะบางและควบคุมยาก ที่สำคัญนโยบายระดับมหภาคที่ไร้เสถียรภาพในโลกการค้าและทุนเสรีนั้น การควบคุมอัตราดอกเบี้ย การยืมและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องยาก และสิ่งที่ระบบเสรีนิยมใหม่คาดไม่ถึง คือ เกิดปัญหาชนชั้น ทุนบริหารจัดการ managerial capital ทุนการเงิน finace capital รวมถึงปัญหาศาสนา ที่จะเกิดและขยายทั้งแย่งพื้นที่ทางการเมืองจากลัทธิเสรีนิยม
นักวิชาการรัฐศาสตร์ ชี้ชนชั้นนำไทยไม่เปิดรับระบบทุนนิยม
ด้าน รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุนนิยมเกิดขึ้นในรัฐไทยหรือสยามในอดีต ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่เปลี่ยนจากรัฐศักดินาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง มีการปลดปล่อยทาสไพร่ เพราะต้องการแรงงานอิสระ หนุนการส่งออกข้าว หลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 ที่อังกฤษ ต้องการให้รัฐไทยลดอัตราภาษี โดยลักษณะเศรษฐกิจทุนนิยมเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ไทยในยุคจักรวรรดินิยมอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีแนวคิด"การพัฒนา"(development)เกิดขึ้น พร้อมๆกับความคิดที่ว่าประเทศพัฒนาแล้ว ต้องช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา มีธนาคารโลก(World Bank)ให้กู้เงิน สร้างเขื่อน พัฒนาท่าเรือ ขนส่งสินค้าเกษตรออกสู่ภายนอก ซึ่งถือว่าไทยถูกกำหนดบทบาทในระบบทุนนิยมโลก นำสู่การเปิดให้เอกชนอุตสาหกรรมเติบโต เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐวิสาหกิจหรือลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยอำนาจรัฐ เห็นชัดที่สุดคือยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก
ในระยะหลังระบบทุนนิยม ทำให้แรงงานได้รับสวัสดิการในระบบการผลิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในอังกฤษ แต่กำไรนายทุนลดลง จึงสร้าง "ลัทธิเสรีนิยมใหม่" ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในสหรัฐอเมริกา ส่วนในไทยก็เปิดรับทุนนิยมอย่างเต็มที่ มีการกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำ แล้วเก็บภาษีส่งออกตาม"ค่าพรีเมี่ยมข้าว"
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ชนชั้นปกครองไทย ไม่เคยคำนึงในการเปิดรับระบบทุนนิยมว่าจะมีผลกระทบกับคนในประเทศอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจและต้องรับความช่วยเหลือหรือกู้เงินจาก IMF , ADB หรือ World Bank โดยมีเงื่อนไขการปล่อยกู้ อย่างต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พร้อมย้ำว่า หัวใจของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีกำไรสูงสุด ผ่านการค้าเสรี(FTA) การเปิดเสรีทางการเงิน ที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์โลกาภิวัฒน์ รวมถึงการลงทุนในประเทศที่แรงงานมีราคาถูก
'ผาสุก' ชี้เสรีนิยมใหม่ ทำเหลื่อมล้ำสูง จีดีพีโตช้า
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ลงหลักปักฐานในทศวรรษที่ 1980 ในอังกฤษยุคนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ค.ศ.1979-1990) และในสหรัฐอเมริกา ยุคที่นายโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี(ค.ศ.1981-1989) ขณะที่มีแนวคิดรัฐสวัสดิการ ของนายจอห์น เมนาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มมาตรฐานการครองชีพคนในรัฐ และลดความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับนายทุน แนวคิดนี้หนุนให้รัฐแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สาธารณะ
แต่นักคิดแนวตลาดเสรี อย่างนายฟรีดริค ฟอน ไฮเยค และระบบทุนนิยมต้องการลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ให้เป็นกลไกตลาดเสรี รวมถึงเปิดเสรีตลาดแรงงานด้วย ซึ่งนายทุนจะได้ประโยชน์ จากค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและผลกำไรสูงขึ้น
ศ.ดร.ผาสุก ระบุว่า งานศึกษาทั่วโลกชี้ว่า ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ แต่ละประเทศจะมีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น จีดีพีเติบโตในอัตราที่ช้าลง คาดการณ์ว่าจีดีพีจะตกต่ำลงปีละ 0.35% ต่อเนื่องไป 25 ปี เพราะความเหลื่อมล้ำจะตกทอดจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกด้วย และจะเห็นการเกิดวิกฤติแรงงานอพยพ เพื่อหนีวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง ทั้งนี้ เสนอว่าแทนที่จะลดบทบาทรัฐ แต่ภาครัฐต้องมีมาตรการกำกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อลดปัญหาเหลื่อมล้ำ โดยต้องยอมรับปัญหาแรงงานอพยพ ที่ทุกประเทศต้องร่วมกันรับมืออย่างมีมยุษยธรรมมากกว่าปัจจุบัน ที่หลายประเทศไม่รับแรงงานอพยพ