ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็น เผยรายงานสถานการณ์ความยากจนในสหรัฐฯ ชี้นโยบายด้านภาษีและเศรษฐกิจของทรัมป์เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุน-มหาเศรษฐี แต่ลิดรอนสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของประชาชนผู้มีรายได้น้อย พร้อมย้ำ 'อเมริกันดรีม' เสื่อมแล้ว

ฟิลิป อัลสตัน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยความยากจนขั้นร้ายแรง เผยรายงานสถานการณ์ความยากจนในสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) ก่อนที่จะนำรายงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 38 ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 18 มิ.ย. - 6 ก.ค. 2561 โดยรายงานเกี่ยวกับสหรัฐฯ ฉบับนี้ระบุว่า 'อเมริกันดรีม' หรือความฝันของชาวอเมริกันที่เชื่อว่าผู้ทำงานหนักจะสามารถสร้างฐานะขึ้นมาได้นั้น 'ไม่เป็นความจริง' อีกต่อไป

รายงานสถานการณ์ความยากจนเป็นการเข้าสำรวจพื้นที่ 40 แห่งใน 6 รัฐทั่วสหรัฐฯ เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนจำนวนมากปรับตัวไม่ทัน และมีแนวโน้มจะตกงานเพราะถูกหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำหน้าที่แทน อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ยิ่งทำให้ช่องว่างทางด้านรายได้ระหว่างคนรวยกับคนยากจนในสังคมอเมริกันยิ่งขยายกว้างยิ่งกว่าเดิม

ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความเป็นอยู่ ได้แก่ นโยบายลดหย่อนภาษีที่รัฐบาลทรัมป์บังคับใช้เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้รัฐบาลขาดรายได้ไปประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลทรัมป์ระบุว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในสหรัฐฯ แต่กลับสั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือด้านการแพทย์ การศึกษา และบริการสาธารณะ ทำให้คนยากจนยิ่งประสบภาวะขาดแคลน แต่คนรวยกลับยิ่งได้รับผลประโยชน์จากมาตรการด้านภาษี 

สหรัฐอเมริกา 'ดินแดนแห่งความแตกต่าง-เหลื่อมล้ำสุดขั้ว'

รายงานของยูเอ็นระบุด้วยว่า สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างคนยากจนและคนร่ำรวย โดยผลสำรวจบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันประมาณ 550,000 คนเป็น 'คนไร้บ้าน' และชาวอเมริกันประมาณ 40 ล้านคนมีฐานะยากจน ส่วนอีก 18.5 ล้านคน มีฐานะยากจนอย่างรุนแรง และ 5.3 ล้านคนมีสภาพความเป็นอยู่เทียบเท่ากับคนในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ทั้งยังมีอัตราประชากรวัยเยาว์ที่ยากจนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ธงสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม 1 ใน 4 ของมหาเศรษฐี 2,208 คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกก็อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องกับรายงานของยูเอ็น โดยเขาเตือนด้วยว่า ชนชั้นกลางอเมริกันอาจไม่ตระหนักว่าพวกเขาเป็นกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ในอนาคต แต่การปรับลดงบประมาณด้านการบริการสาธารณะและสังคมสงเคราะห์ต่างๆ จะทำให้คนชั้นกลางเดือดร้อนไม่ต่างจากคนยากจน 

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากนโยบายลดหย่อนภาษีของทรัมป์ คือ คนรวยได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่คนจนและคนชั้นกลางกลับไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เพิ่มเติมจากรัฐบาล แม้แต่บริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข และในอนาคตอาจมีคนที่ต้องล้มละลายเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมของอัลสตัน ซึ่งระบุว่ากระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ซ้ำเติมคนยากจน อ้างอิงการตั้งวงเงินประกันในคดีต่างๆ เป็นก้อนใหญ่ ทำให้คนยากจนไม่ได้รับการปล่อยตัว และต้องถูกคุมขัง หมดอิสรภาพ ถูกลิดรอนโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งอัลสตันเรียกร้องว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องรับประกันและคุ้มครองสิทธิที่จะเข้าถึงการพัฒนาของคนยากจนในประเทศตัวเองด้วย

Photo by Matt Collamer on Unsplash และ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: