ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยสถานการณ์หนี้ครัวเรือน พบ ยอดหนี้สูงขึ้น กู้นอกระบบร้อยละ 35.3 สะท้อนประชาชนรายได้น้อยเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางการเงินในระบบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2561 โดยจำนวนหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 316,623.51 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมที่ 299,266.08 บาทต่อครัวเรือน มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.8 โดยยอดหนี้ แบ่งเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 64.7 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว ที่ร้อยละ 74.6 และหนี้นอกระบบ 35.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่อยู่ร้อยละ 26.4

ผลสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,203 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 19-28 พฤศจิกายน 2561 พบว่าประชาชนมีหนี้สินร้อยละ 87.4

โดยอันดับหนึ่งคือการเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ที่ร้อยละ 38.6 อันดับสอง หนี้ซื้อยานพาหนะ ร้อยละ 30.2 อันดับสาม หนี้เพื่อประกอบธุรกิจ ร้อยละ 28.5 และอันดับสี่ หนี้บัตรเครดิต ร้อยละ 28.4

 2ปีคสช. เศรษฐกิจดีจริงหรือ? แต่หนี้ครัวเรือนสูงสุดใน 9ปี

เมื่อแยกตามอาชีพ พบว่า ข้าราชการเป็นหนี้ซื้อยานพาหนะเยอะสุดที่ร้อยละ 21.9 ในขณะที่ลูกจ้างรายวันเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไปถึงร้อยละ 49.5 ด้านเจ้าของกิจการเป็นหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจที่อัตราร้อยละ 34.3 ส่วนพนักงานเอกชนเป็นหนี้บัตรเครดิตมากที่สุดที่ร้อยละ 25.7 ปิดท้ายด้วยเกษตรกรที่มีหนี้เพื่อใช้ในการเกษตรถึงร้อยละ 58.6

เมื่อดูถึงแหล่งที่มาของหนี้ พบว่าประชาชนที่มีรายได้สูงตั้งแต่กลุ่มรายได้ 15,001 - 30,000 บาท / 30,001 - 50,000 บาท / มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป เป็นหนี้ในระบบสูงอย่างเดียวที่สัดส่วนร้อยละ 72.0, 71.7 และ 86.1 ตามลำดับ ในขณะที่ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ ต่ำกว่า 5,000 บาท มีหนี้ทั้งในและนอกระบบถึง ร้อยละ 80.2 แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่มีรายได้น้อยยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางการเงินในระบบ

นายธนวรรธน์แนะว่า รัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนโดยเริ่มจาก (1) กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ (2) ดูแลค่าครองชีพและควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (3) ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน (4) แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการลดอัตราเงินกู้ (5) แก้ไขปัญหาการว่างงาน (6) จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับประชาชนหรือผู้ประกอบการที่มีความต้องการในกู้ยืมเงิน (7) ดำเนินการคัดสรรผู้ที่ควรมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แท้จริง