นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ปี 2562 จะมีมูลค่า 54,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากปี 2561 ที่มีมูลค่า 52,254 ล้านบาท และเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการรัฐประหาร และมีการจัดตั้งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเติบโตเพียง ร้อยละ 2.21
โดยการใช้จ่ายที่เติบโตดีขึ้นมาจากผลของเศรษฐกิจฟื้นตัวสะสม โดยอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2560 เติบโตราว ร้อยละ 4 ปี 2561 เติบโต ร้อยละ 4.1 แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก และเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับจีนยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองมองว่าการลงทุนการศึกษาเป็นเรื่องคุ้มค่า และปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1-2 คน ต่อครอบครัว ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ1.3 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนช่วยพยุงเศรฐกิจ และผู้ปกครองนำเงินมาใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม รวมทั้งราคาพืชผงทางการเกษตรที่ดีขึ้นทำให้มีรายได้มากขึ้น
ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 18,299 บาท แต่พบว่า ร้อยละ 40 ของกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน มีเงินไม่เพียงพอต่อไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ทั้งการจำนำ การกู้ในระบบผ่านสินเชื่อบุคคล รถแลกเงิน ยืมจากญาติพี่น้อง และมีบางส่วนที่ยังต้องพึ่งพาแหล่งเงินนอกระบบ สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แบงก์ชาติกังวลอยู่ เพราะสัดส่วนคิดเป็นกว่า ร้อยละ 80 ของจีดีพี ซึ่งภาครัฐมีการดมีการพยายามเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มอยู่
ทั้งนี้ โครงสร้างการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่ ค่าเล่าเรียนสัดส่วน ร้อยละ 45.4 ค่าบำรุงโรงเรียน(กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แป๊ะเจี๊ยะ) ร้อยละ 28.6 ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) ร้อยละ 6.4 ค่าเสื้อผ้า ร้อยละ 5.6 ค่าหนังสือ ร้อยละ 5.3 ค่าบริหารจัดการพิเศษ ร้อยละ 4.2 ค่ารองเท้า/ถุงเท้า ร้อยละ 2.7 ค่าอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 1.8
โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากที่สุด คือ ค่าบำรุงโรงเรียน(กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แป๊ะเจี๊ยะ) รองลงมา คือ ค่าหนังสือ ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า ค่ารองเท้า/ถุงเท้า ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าบริหารจัดการพิเศษ ตามลำดับ ส่วนจำนวนสินค้าที่ใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมปีนี้เทียบปี 2561 ส่วนมาก ร้อยละ 47.2 ยังเท่าเดิม เช่น กระเป๋า ชุดนักเรียน ส่วน ร้อยละ 31.6 เพิ่มขึ้น เช่น หนังสือ รองเท้า และลดลง ร้อยละ 21.3 เช่น อุปกรณ์การเรียน ด้านราคาสินค้าปีนี้เทียบปี 2561 พบว่าสินค้าที่แพงขึ้นมาก คือ ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน รองเท้า/ถุงเท้า อุปกรณ์การเรียน
สำหรับความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อปัญหาด้านการศึกษา ได้แก่ ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขันเรียนต่อ ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดี จรรยาบรรณในวิชาชีพครูและอาจารย์ลดลง จำนวนครู/อาจารย์น้อยไม่เพียงพอความต้องการ ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพครู/อาจารย์ หลักสูตรการศึกษาเน้นศีลธรรม/จริยธรรมน้อย และจากการสอบถามทัศนะต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 62.6 ระบุว่าดีขึ้น สัดส่วน ร้อยละ 16.4 ไม่แตกต่าง และร้อยละ 18.2 แย่ลง และไม่มีความเห็น ร้อยละ 2.8 ด้านความพึงพอใจในการปฏิรูปด้านการศึกษาของรัฐบาลระดับคะแนน 7.08 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10.0 คะแนน