ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และภรรยา หลังพ้นตำแหน่งสมาชิก สนช. พบทรัพย์สินทั้งหมดกว่า 358 ล้านบาท ส่วนการกู้ยืมเสี่ยกำพล 300 ล้านบาท ไม่มีการแจ้งในบัญชีทรัพย์สิน ด้าน ป.ป.ช. เดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีบุคคลที่สนใจคือพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร. และนางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง คู่สมรส หลังจากพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา 

โดยพล.อ.อ.สมยศ แจ้งว่ามีทรัพย์สินทั้งหมด 358,683,700 บาท แบ่งเป็นทรัพย์สินของ พล.ต.อ.สมยศ จำนวน 262,802,209 บาท ของนางพจจมาน คู่สมรสจำนวน 95,881,491 บาท ซึ่งพล.ต.อ.สมยศไม่ได้แจ้งเรื่องกู้ยืมเงินหรือการคืนเงินนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์-อาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเครท มูลค่า 300 ล้านบาท ตามที่เป็นข่าว ไว้ในบัญชีทรัพย์สิน

ด้าน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงถึงกรณีที่ไม่ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเงิน 300 ล้านบาท ของพล.ต.อ.สมยศ จากเสี่ยกำพลว่า อาจเพราะเป็นการกู้ยืมเงินกัน ในสมัยที่พล.ต.อ.สมยศ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ตำแหน่งดังกล่าว ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อสาธารณะ

แต่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.เอกสมยศ ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช. แล้ว และระหว่างนี้ ป.ป.ช. ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสถาบันการเงิน ตีกรอบเวลา 30 วัน เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว ป.ป.ช. ก็จะนำมาพิจารณา หาความมีอยู่จริงของทรัพย์ต่อไป โดยต้องเชิญเสี่ยกำพลมาให้ข้อมูลด้วย แต่เมื่ออยู่ระหว่างการหลบหนี ก็สามารถใช้เอกสารที่เกี่ยวข้องมาประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริงได้ หรือประสานขอข้อมูลเส้นทางการเงิน จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ได้ด้วย

สำหรับรายอะเอียดบัญชีทรัพย์สินของพล.ต.อ.สมยศและภรรยา มีดังนี้

ทรัพย์สินของ พล.ต.อ.สมยศ

  • เงินฝาก 6,223,731 บาท 
  • เงินลงทุน 74,285,877 บาท 
  • เงินให้กู้ยืม 109,000,000 บาท 
  • ที่ดิน 40,792,600 บาท 
  • โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 2,000,000 บาท 
  • ยานพาหนะ 500,000 บาท 
  • ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป) 30,000,000 บาท 


ทรัพย์สินของนางพจมานคู่สมรส

  • เงินฝาก 8,415,241 บาท 
  • เงินลงทุน 8,822,300 บาท 
  • ที่ดิน 45,300,300 บาท 
  • โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 23,343,950 บาท 
  • ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่ 2 แสนบาทขึ้นไป) 10,000,000 บาท

ส่วนหนี้สินนั้นเป็นของ พล.ต.อ.สมยศในส่วนเงินกู้จากธนาคารและสถาบันอื่นจำนวน 3,313,473 บาท เท่ากับมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 355,370,227 บาท 

ขณะที่ก่อนเข้ารับตำแหน่งสนช. พล.ต.อ.สมยศและภรรยา ได้ยื่นแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2557 มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 355,857,726 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินทั้งสิ้น 374,679,849 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 18,822,122 บาท 

เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าปัจจุบันพล.ต.อ.สมยศและภรรยา มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินลดลง 487,499 บาท ทรัพย์สินลดลง 15,996,149 บาท หนี้สินลดลง 15,508,649 ส่วนบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอื่นที่ยื่น ประกอบไปด้วย นาฬิกาหรูยี่ห้อดัง ปืน รวมถึงพระเครื่อง 12 องค์ 25 ล้านบาท และเครื่องประดับต่างๆ 


ดีเอสไอ แจง ประเด็นกู้เงิน 300 ล้านบาท จากผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ 

ตามที่ปรากฏข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 คอลัมภ์ “จันทราท่าพระอาทิตย์” ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เชิญ พล.ต.อ.สมยศ ไปสอบสวนขยายผลกรณีปรากฏหลักฐานการรับเงินจากนายกำพล วีระเทพสุภรณ์ ซึ่งตก เป็นผู้ต้องหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษในความผิดเรื่องค้ามนุษย์ แต่เวลาผ่านไป 3 เดือน กรมสอบสวนคดี พิเศษไม่เคยแถลงข่าวให้สาธารณชนทราบความคืบหน้า นั้น เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และทราบผล การดำเนินการ จึงชี้แจงดังนี้ 

1. สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีอาญากับนายกำพล กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานบริการ “วิคตอเรีย ซีเครต” โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 5/2561ซึ่งคดีดังกล่าว สอบสวนเสร็จสิ้นและสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นส่งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว 

2. จากการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 5/2561 ปรากฏข้อเท็จจริงอันน่าเชื่อว่านายก กับพวก มีการนำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปดำเนินการ เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว รวมทั้งกระทำด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อปกปิด อำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือยักย้าย ถ่ายเท จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปยัง บุคคลประมาณ 40 ราย จึงมีการแยกการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 10/2561 และเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน ถึงพฤติการณ์ในการโอน รับโอนเงิน ว่ามีมูลหนี้หรือที่มาอย่างไร มีลักษณะที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ รวมทั้งมีการสอบสวนสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทราบข้อเท็จจริง ซึ่งบุคคลตามข่าวเป็นหนึ่งในบุคคลที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเชิญมาสอบสวนปากคำด้วย 

3. ปัจจุบันคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ในคดีพิเศษที่ 10/2561 ตามข้อ 2 ซึ่งมีจำนวนธุรกรรมที่ต้องตรวจสอบจำนวนมาก การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่สนใจของสาธารณชน ดังนั้นหากคดีมีความคืบหน้าที่สำคัญ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบต่อไป 


 อ่านเพิ่มเติม