ไม่พบผลการค้นหา
ชีวิตจริงไม่ต่างจากละคร 'แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช' เล่าชีวิตหลานสาวจากตระกูลจีน สู่การรับบทบาท 'ภัสสร' ในละคร 'เลือดข้นคนจาง' ที่เชื่อว่าลูกชายย่อมสำคัญกว่าลูกสาว

'แหม่ม - คัทลียา แมคอินทอช' เปิดเผยกับทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงชีวิตในวัยเด็ก ตนเป็นลูกครึ่งอังกฤษ-จีน โดยพ่อเป็นชาวอังกฤษและแม่เป็นลูกคนจีนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย

เธอเล่าให้ฟังว่า ครอบครัวอากงอาม่าของเธอเลี้ยงลูกเหมือนกับในละครเรื่อง 'เลือดข้นคนจาง' คือ ลูกชาย-หลานชาย จะได้รับทุกอย่างก่อน และมากกว่าลูกสาว-หลานสาว

"จริงๆ แล้วเนี่ย คุณแม่ก็มาจากครอบครัวที่เป็นคนจีน คุณตาคุณยายเป็นคนจีนเลย ตอนคุณตาเสียก็มีพิธีกงเต็กอย่างที่เห็นในละคร ซึ่งตอนคุณตาเสีย เราก็อายุ 10 ขวบ เราก็ผ่านมาแล้ว...พอตรุษจีนก็ต้องไปขอแต๊ะเอีย ไปรับซองจากคุณตาคุณยาย...เราก็จะเร็วมาก แต่เร็วยังไงก็ไม่เคยทันพี่ๆ ที่เป็นญาติ หรือพี่วิลลี่ แล้วก็พอเปิดซองเงินมา ผู้ชายก็จะได้มากกว่าเรา...มันมีอยู่จริงในครอบครัวคนจีนค่ะ คุณตาก็คงคิดว่าลูกชายเนี่ยก็จะต้องเป็นคนที่สืบทอด แล้วก็เป็นผู้นำครอบครัว ผู้หญิงก็ต้องเป็นฝ่ายดูแลข้างหลัง"

อย่างไรก็ตาม เมื่อเติบโตขึ้น เธอจึงได้รับการสั่งสอนจากครอบครัวให้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมจีน ว่าลูกชายจะต้องเป็นผู้สืบสกุล และเป็นหัวหน้าครอบครัว เปรียบกับการออกรบ ผู้ชายก็ต้องเป็นนักรบ ส่วนผู้หญิงก็ต้องอยู่หลังบ้านเตรียมเสบียงอาหาร แต่เมื่อเธอมีครอบครัวของตัวเองจึงปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้ร่วมสมัยมากขึ้น และไม่มีกงสีเหมือนสมัยอากงอาม่า

เลือดข้นคนจาง.jpg

ดังนั้นเธอจึงใช้ความทรงจำจากครอบครัวมาใช้ในการเล่นละคร 'เลือดข้นคนจาง' ในบทบาทภัสสร ลูกสาวคนที่ 3 ของตระกูลจิระอนันต์ ที่ถูกมองว่าเป็นคนนอก เพราะแต่งงานออกเรือน และเปลี่ยนนามสกุล ซึ่งความยากของบทภัสสร คือ ความซับซ้อนของอารมณ์ที่มีทั้งความเป็นแม่ ความรักครอบครัว ความรักงาน ความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และรักความยุติธรรม

แต่หลังจากตอนที่ 'อากง' ตายไป ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์น้อยใจ และอารมณ์อื่นๆ ที่เข้ามาในเวลาเดียวกัน ทำให้แต่ละฉากต้องทำการบ้านอย่างหนัก เช่น ฉากขอซื้อหุ้นโรงแรมจากประเสริฐ ที่ต้องมีทั้งความโกรธ ความน้อยใจ และความมีเหตุผลที่ตัวละครต้องก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น เธอต้องทำการบ้านกับบทละครทุกคืนหลังลูกทั้ง 3 คนนอนหลับเพื่อมารับบรีฟจากผู้กำกับตอนเช้า

เลือดข้นคนจาง.jpg

แหม่มรู้สึกปลื้มใจที่ละครเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม เธอกล่าวว่า ความสำเร็จของละครมาจากทีมงานที่ตั้งใจทำงานอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่ผู้กำกับและคนเขียนบทละคร 'ย้ง - ทรงยศ สุขมากอนันต์' ที่ใช้ประสบการณ์จากหลายคดีความของตระกูลใหญ่ ไม่ใช่เพียงตระกูลธรรมวัฒนะ รวมทั้งเรื่องราวของครอบครัวผู้กำกับเอง คือ ฉากอาม่าคีบปูให้ลูกชาย เป็นต้น

อีกเทคนิคหนึ่งของผู้กำกับคือการแจกบทให้กับนักแสดงในเฉพาะฉากของตนเองเท่านั้น ทำให้นักแสดงจะไม่รู้เรื่องของบ้านอื่นๆ เวลาเข้าฉากด้วยกันจะมีความสดและการปะทะกันที่สมจริงมากขึ้น ขณะเดียวกันทีมนักแสดงที่ทำการบ้านมาอย่างดี ทำให้การเข้าฉากด้วยกันลื่นไหล โดยเฉพาะ ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน ที่รับบทเป็น อาม่า ซึ่งเธอและนักแสดงคนอื่นๆ ต่างก็เกรงใจ และกลัวที่จะเข้าฉากด้วย แต่ตรงกันข้ามในกองถ่ายละคร ครูเล็กวางตัวเป็นอาม่าของทุกคน สร้างความสนิทสนม และรับส่งอารมณ์อย่างเต็มที่ในเวลาถ่ายทำ

แหม่ม กล่าวติดตลกว่า ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดกับนักแสดงทุกคนคือการเรียกชื่อตามลำดับญาติของคนจีน เช่น อากง อาม่า ป๊า ม๊า เป็นต้น เธอและนักแสดงคนอื่นๆ มักจะเรียกผิดบ่อย และหลายครั้งก็เผลอเรียกตามลูกๆ

ขณะเดียวกัน เธอขอบคุณผู้ชมที่ติดตามละคร เธอและทีมงานได้อ่านทุกกระแสตอบรับในโลกออนไลน์ หลายความเห็นทำให้เธอและผู้กำกับละครอึ้ง เพราะคนดูจับสังเกตเก่งมาก จนบางรายละเอียดบางฉาก ผู้กำกับเองก็คิดไม่ถึง เวลาไปข้างนอกก็มักจะมีคนถามว่าใครเป็นคนฆ่าประเสริฐ เธอตอบด้วยรอยยิ้มว่า "พี่ย้งนั่นแหละเป็นคนฆ่า"


คัทลิยา แมคอินทอช.jpg

เธอยอมรับว่า ตัวเองเห็นด้วยในความคิดของตัวละคร 'ภัสสร' ที่ไม่ยินดีกับความอยุติธรรมที่มีต่อลูกสาวในครอบครัวจีน แต่ขณะเดียวกันก็มองว่า เราต้องทำความเข้าใจพ่อกับแม่ด้วย

วรรคทองของละครที่เธอจำได้ขึ้นใจ คือ คำพูดของอาม่า ที่กล่าวว่า "ก็มันก็เป็นอย่างนี้ ลื้อจะมาบ่นทำไม ลื้อจะไปคิดทำไม มันก็เป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว" มันสะท้อนใจเธอว่า เราเองต้องปรับและต้องทำความเข้าใจ ขณะที่พ่อแม่ก็ต้องทบทวนว่าการเลี้ยงลูกและทำความเข้าใจกับลูก 'ดีพอ' แล้วหรือยัง

"เลือดมันข้น ความเป็นพี่น้อง ความเป็นครอบครัวเนี่ย มันเข้มข้นด้วยเลือดอยู่แล้ว เราสายเลือดเดียวกัน แต่แค่ความเป็นคนมันเจือจางลง เวลามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง มีคนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะสะใภ้ เขย ผลประโยชน์ หรือความโลภ ฉะนั้นเราจะใช้ชีวิตยังไง ความรักเรามีให้กับครอบครัวอยู่เสมอ แต่ความเข้าใจมันก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน"

อ่านเพิ่มเติม: