ไม่พบผลการค้นหา
วิเคราะห์ละคร 'เมีย 2018' คือ ละครที่มุ่งสร้างกำลังใจให้ผู้หญิง หรือแท้จริง คือ การผลิตซ้ำความคิดชายเป็นใหญ่ ทำลายคุณค่าของสุภาพสตรี

ละครเรื่อง 'เมีย 2018' ที่กำลังโด่งดังจนเป็นกระแสไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งยอดการชมย้อนหลังในโซเชียลกว่า 3 ล้านวิวต่อคลิป หรือเรตติ้งผ่านการชมสดทางหน้าจอทีวีที่นำหน้าละครเรื่องอื่นๆในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งยอดทวีตจำนวนมาก เป็นละครรีเมคที่มีต้นฉบับมาจากละครเรื่อง 'The Fierce Wife' ออกอากาศครั้งแรกในประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2010 และถูกดัดแปลงให้เข้ากับบริบทในปัจจุบันด้วยผู้เขียนบทโทรทัศน์ 'เจี๊ยบ-วรรธนา' และกำกับโดย 'สันต์ ศรีแก้วหล่อ'

สันต์ ศรีแก้วหล่อ.jpg

ผู้กำกับละคร เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่เคยทำละครแนวผัวเมีย หรือแนวตบตีแย่งชิงมาก่อน ตอนแรกอ่านบทประพันธ์ก็รู้สึกเฉยๆ แต่พอได้อ่านบทละครแล้วรู้สึกว่าสนุก มีความแหลมคม ชัดเจนในประเด็นที่ต้องการจะนำเสอ และมีความสมจริง ไม่เหมือนละครผัวเมียเรื่องอื่นๆ ที่เคยดูมา จึงมีความต้องการทำละครเรื่อง 'เมีย 2018' ให้เป็นละครเพื่อเพื่อนหญิงพลังหญิง ให้กำลังใจผู้หญิงทุกคนผ่านพ้นอุปสรรค์ในชีวิตไปได้ โดยมีประโยคทองของเรื่องคือ "อย่าปล่อยให้ของเก่า กลายเป็นของตาย"

สิ่งที่คิดว่าเป็นจุดแข็ง และทำให้ตนเองสามารถถ่ายทอดละครเรื่องนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี นั่นคือ 'ความรักครอบครัว' หากเปรียบไปแล้ว สันต์ คงคล้ายกับตัวละคร 'สุชาติ สามีของธารี' ที่แม้จะชอบเหลียวมองผู้หญิงคนอื่นบ้างตามประสาของผู้ชายที่รักสนุก และสุดท้าย ก็จะให้ความสำคัญกับภรรยาและลูกมากที่สุด ทุกวันนี้กำลังใจในการทำงานก็คือผู้ชม และครอบครัว วันที่ทำงานเหนื่อยๆ กลับบ้านมาได้เจอหน้าลูก เมีย ตัวเองก็มีความสุขแล้ว

ดังนั้น ถ้าถามเรื่อง 'การผลิตซ้ำวิธีคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว' สันต์จะมองว่าการคบซ้อน หรือการเป็นมือที่สาม ย่อมทำให้เกิดปัญหาครอบครัว เมียหลวงเมียน้อยทะเลาะกัน ลามไปถึงลูกก็จะกลายเป็นเด็กมีปัญหา

เมีย2018.jpg

เมื่อถามว่า แล้วคิดว่าละครเรื่องนี้ผลิตซ้ำความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ในสังคมหรือไม่? สันต์ตอบว่า ส่วนตัวไม่ได้ต้องการผลิตซ้ำความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ในละครเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าความคิดนี้ยังมีอยู่ในสังคม และเป็นความจริง เรายังรู้สึกอยู่ดีว่าผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในครอบครัว แต่ปัญหาทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ชายเป็นใหญ่ แต่มันอยู่ที่ความไม่รู้จักพอในความรัก ทำให้ครอบครัวแตกแยก อย่างไรก็ตามละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้บอกว่าผู้ชายเป็นตัวหลักของเรื่อง แม้เรื่องการพัฒนาตัวเองของอรุณา ก็เป็นผลมาจากการให้กำลังใจ และการกระทำของตัวละครอื่นๆ ด้วย ไม่ได้เกิดจากตัวละครวศินอย่างเดียว แต่สาเหตุที่ทำให้ 'บอสวศิน' โดดเด่นกว่าตัวละครอื่น อาจเป็นคนดูชอบความเป็นคู่จิ้นมากกว่า

ภาสกร อินทุมาร.jpg

ดร. ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ละครเรื่องนี้กระตุ้นความรู้สึกด้านลบของคนดูขึ้นมา ผ่านการสร้างตัวละครที่มีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากบรรทัดฐานของสังคม เป็นตัวร้าย โดยอ้างว่าตัวละครมีปัญหาทางจิต แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอด้านร้ายด้านเดียว จนทำให้คนดูค่อยๆ เกิดความเกลียดชัง อยากทำร้ายตัวละคร หรือสะใจกับการเห็นตัวละครถูกทำร้าย ซึ่งเห็นได้จากคอมเมนต์ในอินสตาแกรมของมารี เบิร์นเนอร์ ที่รับบทเป็น กันยา ลึกๆ แล้วละครกำลังทำให้สังคมสนุกสนานกับการใช้ความรู้สึก และสุดท้ายคนดูจะบอกตัวเองไปเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่คิดถูกต้องแล้ว เหมือนที่สมัยก่อน "แฟนละครมักจะบอกว่า นางร้ายห้ามมาเดินตลาดเดี๋ยวจะโดนทุเรียนตบหน้า"

เมีย2018.jpg

ขณะที่การผลิตซ้ำเรื่องชายเป็นใหญ่กลับชัดเจนในละครเรื่องนี้อย่างมาก การกระทำของ 'ธาดา' กดทับความเป็นหญิง ด้วยการมีความสุขกับความเป็นผู้ชายของตนเองมีอำนาจที่จะสามารถเลือกใครก็ได้ ผู้หญิงมีสถานะเป็นเพียงวัตถุทางเพศ แต่กลับถูกโยนความผิดให้ 'กันยา' ที่เข้ามายั่วยวน แม้ว่าจะมองว่าธาดาจะดูเหมือนถูกกระทำ เลือกเมียน้อยจนต้องมาเสียใจเอง แต่โครงเรื่องหลักก็ยังมาจากการเลือกของผู้ชายบนฐานคิดว่าตนมีสิทธิ์เลือกอยู่ดี ผู้หญิงเข้ามาหาเอง

นอกจากนี้ การลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงตัวเองของ 'อรุณา' ก็ถูกผลักดันมาจาก 'บอสวศิน' ซึ่งเป็นผู้ชายในเรื่องอยู่ดี แทนที่จะให้ผู้หญิงเกิดความตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งตัว 'ธารี' เองที่ดูเหมือนจะมีความเป็นสตรีนิยม (Feminist) ที่คอยตามจิกด่าสามีที่นอกใจ แต่สุดท้ายตัวละครตัวนี้เองก็กลับมองไม่เห็นปัญหาของพี่ชายตัวเอง หรือ ธาดา มองไม่เห็นโครงสร้างเชิงอำนาจชายเป็นใหญ่ในสังคม แต่กลับกล่าวโทษ กันยา หรือกดทับคุณค่าความเป็นหญิงด้วยกัน อีกมุมหนึ่ง แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังสร้างความกดดันให้กับผู้ชายที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ หรือความคาดหวังในสังคม จนคนทีี่รับไม่ไหว ต้องฆ่าตัวตายในที่สุด เหมือนผู้ชายในประเทศญี่ปุ่น ที่มีความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่แข็งแรงมาก

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแนวคิดครอบครัวที่สมบูรณ์ คือมี พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งเป็นดาบสองคมในสังคมยุคปัจจุบัน เช่น ฉากงานวันพ่อของโรงเรียนนุดา ละครพยายามใช้โครงสร้างครอบครัวแบบเดิมมาเหนี่ยวรั้งความรักในครอบครัวไว้ ส่งผลให้ครอบครัวอื่นๆ เช่น พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคู่รักเพศเดียวกันที่รับบุตรบุญธรรม หาพื้นที่ในสังคมได้ยากมากขึ้น เช่น ในประเทศไทย ที่ผู้ชายที่เข้าสู่วัยทำงานมักจะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อไรจะแต่งงาน? หรือถ้าไม่แต่งงานมีเมีย ก็จะต้องถูกตั้งคำถามว่าเป็นเกย์หรือเปล่า?

เมีย 2018.png

อ. ภาสกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ละครที่ดีไม่ควรดูได้แบบเดียว แต่ควรจะตั้งคำถามกับสังคม และโยนคำถามใส่คนดู เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การมองกลับมาวิเคราะห์ตัวตนของคนดูขณะดูละคร