ไม่พบผลการค้นหา
ผู้แทนจาก สปป.ลาว ยืนยันเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนเพิ่มในแม่น้ำโขงเพื่อผลิตพลังงานรองรับความต้องการในอนุภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็น ‘แบตเตอร์รี่แห่งเอเชีย’ ในปี 2030

ดร.ดาวง พอนแก้ว ปลัดกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของ สปป.ลาว ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์ ออนไลน์' ระหว่างการประชุมภาคเอกชนภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS CEO Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ วันนี้ (15 มิ.ย.) โดยระบุว่า ลาวพร้อมจะเป็นผู้นำด้านพลังงานในอนุภูมิภาคอินโดจีน ภายใต้แผนยุทธ์ศาสตร์ของรัฐบาลภายในปี 2030 ที่ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานแบบยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญของลาว คือ เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่อาจจะสูญเสียไปในระหว่างดำเนินโครงการขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้ ลาวได้พยายามหาทางออกด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ทุกฝ่าย และจะให้ควบคุมให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด

ปัจจุบัน ลาวมีแผนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งหมด 11 เขื่อน ซึ่งรายงานขององค์การแม่น้ำนานาชาติ International River เปิดเผยว่า การก่อสร้างเขื่อนจะมีประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยกว่า 200,000 คน และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกหลายล้านคนจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงพันธุ์ปลาและระบบนิเวศที่อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ทั้งนี้ ดร.ดาวงให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าววอยซ์ว่า ที่ผ่านมา ทาง สปป.ลาวได้ก่อสร้างเขื่อนมาแล้ว 2 เขื่อน ปัจจุบันยังไม่พบผลกระทบที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องปลาและเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในแม่น้ำโขงที่เสียหายจากการกั้นน้ำเพื่อการก่อสร้างเขื่อน

ดร.ดาวงได้ยกตัวอย่างกรณีเขื่อนดอนสะโฮงในแขวงอัตตาปือ บริเวณชายแดนลาว-กัมพูชา ที่เริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งพบว่าเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมาประชาชนสามารถจับปลาในพื้นที่ฮูสะโฮงที่เป็นแหล่งทางผ่านของปลาในแม่น้ำโขงได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทางการลาวสามารถบริหารจัดการเรื่องของทรัพยากรในแม่น้ำโขงได้

และเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง ได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากทางรัฐบาลลาวว่า ทางลาวจะส่งโครงการเขื่อนปากลาย ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุลี สปป.ลาว ซึ่งเป็นจะเขื่อนไฟฟ้าแห่งที่ 4 ในแม่น้ำโขงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบและดำเนินการสร้างเขื่อนในขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบัน ลาวดำเนินการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงแล้ว 2 แห่ง คือเขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง ขณะที่เขื่อนปากแบงกำลังอยู่ในขั้นต่อการเตรียมดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน 1- 2 ปีข้างหน้านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: