ไม่พบผลการค้นหา
นักสังเกตการณ์เตือนกัมพูชา-ลาว รักษาดุลสัมพันธ์กับสหรัฐฯ หลังจีนรุกแผ่อิทธิพลในประเทศทั้งสอง หว่านเงินช่วยเหลือ-อัดงบลงทุน มูลค่านับแสนล้านบาท

นายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง เสนอแก่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ระหว่างการเยือนกรุงพนมเปญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม ในโอกาสร่วมประชุมผู้นำประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ว่า จีนจะให้เงินช่วยเหลือและเพิ่มเงินลงทุนในกัมพูชาเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานในวันอาทิตย์ว่า นายหลี่ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชา รวม 19 ฉบับ เพื่อสนับสนุนโครงการด้านสาธารณูปโภค การเกษตร และสาธารณสุข

กระทรวงโยธาธิการและขนส่งของกัมพูชา เปิดเผยว่า ข้อตกลงที่มีมูลค่าสูงที่สุดในจำนวนนี้ คือ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จากกรุงพนมเปญไปยังเมืองตากอากาศสีหนุวิลล์ ซึ่งจีนจะลงทุนเป็นเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ถ้อยแถลงของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ระบุว่า จีนจะลงทุนในโครงการอื่นๆ ด้วย เช่น สนามบินพนมเปญแห่งใหม่, ระบบสายส่งไฟฟ้า 2 โครงการ, และศูนย์ขยายพันธุ์ไม้คุณภาพสูง


Hun Sen_Li Keqiang_02.jpg

นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน (ขวา) กับนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งสอง เมื่อ 11 มกราคม 2018 ณ กรุงพนมเปญ


นักวิจารณ์เตือนว่า การรับเงินสนับสนุนจากจีนจะทำให้กัมพูชาตกอยู่ในสภาพน้ำท่วมปากในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังมีข้อพิพาทกรรมสิทธิ์เรื่องเขตแดนกับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน

จีนยื่นมือสนับสนุนกัมพูชาในขณะที่รัฐบาลฮุน เซนถูกสหรัฐฯและสหภาพยุโรปขู่ที่จะคว่ำบาตรสืบเนื่องจากกรณีศาลฎีกาของกัมพูชาสั่งยุบพรรคกู้ชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลักในเวลานี้ ส่งผลให้พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุน เซนลงสนามเลือกตั้งในปีนี้โดยไม่มีคู่แข่ง

ซก สีพนา ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา บอกว่า การมาเยือนของนายหลี่เป็นการส่งสัญญาณที่หนักแน่น ว่า จีนยืนเคียงข้างกัมพูชา ประเทศของตนเป็นชาติยากจน ถูกโลกภายนอกบีบในทางเศรษฐกิจได้ง่าย การคบจีนเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นการเดินหมากที่ชาญฉลาด เราต้องการส่งออกไปยังอียู แต่ถ้าถูกคว่ำบาตร เราไม่อาจนั่งรอความตายได้ เราต้องมองหาตลาดอื่นๆ จีนเป็นตลาดข้าวและผลิตผลการเกษตรที่สำคัญสำหรับเรา

นับแต่แซงหน้าญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน จนกลายเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งในกัมพูชา จีนทวีอิทธิพลขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ ในช่วงปี 2011-2015 กิจการของจีนปล่อยเงินกู้และลงทุนเป็นมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ฯ เช่น กรณีหัวเว่ยร่วมกับบริษัทในกัมพูชาทำโครงข่ายสื่อสาร 4.5G

ทุนจีนยังช่วยสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีแบบเดียวกับเมืองเสิ่นเจิ้น เวลานี้ มีบริษัทจีนเข้าไปลงทุนแล้วประมาณ 100 บริษัท

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์มองว่า การใกล้ชิดจีนมากเกินไป อาจทำให้กัมพูชามีทางเลือกจำกัดในระยะยาว

วีระ โอ นักวิเคราะห์ของฟิวเจอร์ ฟอรัม หน่วยงานคลังปัญญาอิสระในกรุงพนมเปญ บอกว่า ในระยะสั้น ถ้าสหรัฐฯ กับอียูคว่ำบาตร กัมพูชายังมีจีนเป็นตัวเลือกทดแทนได้อย่างสบายๆ แต่ถ้ากัมพูชาใกล้ชิดจีนมากขึ้นๆ ในอัตราที่เป็นอยู่ ภายในเวลา 10 ปี กัมพูชาจะตกที่นั่งลำบาก รัฐบาลควรดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด รักษาไมตรีทั้งกับจีนและสหรัฐฯ

นอกจากกัมพูชาแล้ว จีนยังโปรยเงินช่วยเหลือและเงินลงทุน จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ฯ ในลาวด้วย


Bounnhang_Xi Jinping_01.jpg

ประธานประเทศลาว บุนยัง วอละจิด (ซ้าย) จับมือกับประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ระหว่างพิธีลงนามภายหลังการพบหารือ เมื่อ 16 พฤษภาคม 2017 ณ บ้านพักรับรองของรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง


วิทยุเอเชียเสรี สื่อในความสนับสนุนของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันศุกร์ว่า จีนกำลังดึงลาวเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลปักกิ่งมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ

สำนักข่าวของรัฐบาลลาว รายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า นายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด เรียกร้องให้กระทรวงทบวงกรมต่างๆ ใช้จ่ายเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาที่ได้รับจากจีน มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 3 มกราคม รองรัฐมนตรีต่างประเทศ คำเพา เอินทะวัน กับเอกอัครราชทูตจีนประจำนครหลวงเวียงจันทน์ หวังเหวินเทียน ลงนามข้อตกลงสนับสนุนโครงการพัฒนาแม่น้ำโขง เช่น ท่าเรือ มูลค่า 3.4 ล้านดอลลาร์ฯ

จีนยังสนับสนุนการพัฒนาของลาวอีกหลายโครงการ อาทิ เงินช่วยเหลือ 90 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับโรงพยาบาลในเวียงจันทน์ และเงินช่วยเหลือ 615 ล้านดอลลาร์ฯสำหรับการปรับปรุงระบบสาธารณสุขในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

ขณะนี้ จีนเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งในลาว บรรดาบริษัทจีนใช้เงินรวมกันถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาว รวมทั้งโครงการเขื่อน เหมืองแร่ และยางพาราแปลงใหญ่ และกำลังจะลงทุนอีก 9,000 ล้านดอลลาร์ฯในเขตเศรษฐกิจพิเศษในแขวงจำปาศักดิ์

นักสังเกตการณ์บอกว่า จีนกำลังแผ่อิทธิพลในลาว เพื่อให้ลาวสนับสนุนจีนในเวทีอาเซียนเกี่ยวกับปมพิพาททะเลจีนใต้

นักวิจัย ไมเคิล ฮาร์ท เขียนในวารสาร World Politics Review เมื่อเดือนธันวาคม ว่า ลาวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรับเม็ดเงินลงทุนก้อนมหาศาลจากจีน แม้ว่านั่นทำให้จีนมีอิทธิพลเหนือลาวเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เขาบอกว่า ลาวไม่อาจปฏิเสธทุนจีนได้ เพราะจำเป็นต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ประเทศมีการพัฒนา จึงจะรักษาความชอบธรรมของระบบการเมืองแบบพรรคเดียวไว้ได้.

ที่มา: South China Morning Post ; Radio Free Asia

ภาพ: AFP