กรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่โขง (LMC) ที่กำลังมีการประชุมขึ้นที่กรุงพนมเปญ กัมพูชาวันนี้ และพรุ่งนี้ (10-11 มกราคม 2561) จีนเตรียมเสนอแผนการพัฒนาแม่น้ำโขง 5 ปีตามข้อตกลงที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบความร่วมมือล้านช้าง – แม่น้ำโขงที่เมืองต้าหลี่ มณฑลยูนาน ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (2560) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งรายงานว่า สิ่งที่จีนจะเสนอเข้าที่ประชุมนั้นไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาแม่น้ำโขงในด้านพลังงานและการพาณิชย์
ประเทศสมาชิกLMC มีโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงจากการก่อสร้างเขื่อนขึ้นหลายแห่ง ตั้งแต่จีนลงมาจนถึงกัมพูชา โดยจีนวางแผนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน 8 แห่ง สร้างเสร็จแล้ว 3 แห่ง กำลังก่อสร้าง 1 แห่ง และ อยู่ระหว่างการสำรวจอีก 4 แห่ง
ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่างที่ไหลผ่านลาว ไทย กัมพูชาและเวียดนามก็มีโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 2 เขื่อนในลาว คือเขื่อนไซยะ บุลีและเขื่อนดอนสะโฮง ขณะที่เขื่อนปากแบงที่เป็นเขื่อนแห่งที่3 ในลาวจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2561
ดาวง พอนแก้ว ปลัดกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของลาว กล่าวกับผู้สื่อข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า เขื่อนไซยะบุลีก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่า 85 % และในปลายปี 2561 เขื่อนไซยะบุลีจะสามารถติดตั้งเครื่องจักรปั่นไฟฟ้าได้ 1-2 เครื่องจากทั้งหมด 10กว่าเครื่อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จรวมถึงผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้แก่ไทยได้ภายในปี 2562
ขณะที่ความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนปากแบงนั้น ดาวง กล่าวว่า ตอนนี้ได้เสร็จสิ้นกระบวนการปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกแม่น้ำโขงและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง หรือ ที่เรียกว่า PNCA แล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมตามคำแนะนำของที่ประชุมPNCA และอยู่ระหว่างการเจรจาการขายไฟฟ้าให้กับไทย หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติการก่อสร้างจากทางรัฐบาลลาวต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างได้ภายในปลายปี 2561 นี้
เขื่อนไซยะบุลีที่กำลังก่อสร้างอยู่ที่แขวงไซยะบุลี ประเทศลาว
นอกจากประเด็นเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขงแล้ว โครงการขยายร่องน้ำเพื่อการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง เป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากที่ผ่านมาจีนมีความต้องการที่จะพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำจากจีนลงมายังลาว และได้ดำเนิการขยายเส้นทางในแม่น้ำโขงช่วงของจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อรองรับการเดินเรือขนส่งสินค้าขนาด 500 ตันให้ผ่านได้
โครงการขยายร่องน้ำโขงนี้ถูกกลุ่มภาคประชาชนในไทยและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมคัดค้านมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว และโครงการนี้เคยถูกระงับไปแล้วครั้งหนึ่งในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่กลับถูกนำมารื้อฟื้นอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาล คสช.ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ให้ดำเนินการตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากจีนมาถึงไทยและเชื่อมต่อไปยังลาว
เสียงคัดค้านจากหลายภาคส่วนเกิดขึ้นจากผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิตของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการเปิดทางให้จีนเข้ามาขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้
หลังจากที่ทางจีนเข้ามาสำรวจร่องน้ำโขงตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเมื่อช่วงต้นปี2560 ล่าสุดจีนได้ออกมาประกาศว่าจะนำโครงการพัฒนาร่องน้ำโขงไปปรับปรุง โดยขณะนี้ได้ยุติการสำรวจร่องน้ำโขงเอาไว้ก่อน เพื่อรอท่าทีจากที่ประชุมกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่จัดขึ้นในวันนี้ ซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในประเด็นนี้ด้วย
จากรายงานขององค์กรแม่น้ำสากล เปิดเผยว่า การก่อสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้นในประเทศลาวทั้ง 11แห่งจะมีประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัยกว่า200,000 คน และประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกหลายล้านคนจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงพันธุ์ปลาและระบบนิเวศที่อาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ปัจจุบันปริมาณการจับปลาในแม่น้ำโขงมีมากกว่า 2.6 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการจับปลาน้ำจืดทั่วโลกและมีมูลค่าการทำประมงต่อปีอยู่ที่ 127,000 – 231,000 ล้านบาท