ไม่พบผลการค้นหา
'สรรพสามิต' ชี้แจงกรณีพ่อค้าขายน้ำข้าวหมาก จ.บุรีรัมย์ ร้องเรียนหลังถูกจับกุมขณะขายสินค้าอยู่ในงานโอทอป เผยสินค้าตัวอย่างมีแรงแอลกอฮอล์รวมเกินกว่า 0.5 ดีกรี จึงมีคุณสมบัติเป็นสุราตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งไม่ได้ห้ามผลิต แต่จะจำหน่ายต้องขออนุญาต

จากกรณีนายลภณ จันน้อย พ่อค้าขายน้ำข้าวหมาก จังหวัดบุรีรัมย์ และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้นำน้ำข้าวหมากบรรจุขวดมาร้องขอความเป็นธรรม ที่กรมสรรพสามิต หลังถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตจับดำเนินคดี ข้อหาจำหน่ายสุราแช่โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่มีการวางจำหน่ายในงานแสดงสินค้าโอทอป อีกทั้งได้หยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับแป้งข้าวหมากมาประกอบนั้น

กรมสรรพสามิตขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2547 กรมสรรพสามิตได้ยกเลิกการควบคุม 'แป้งข้าวหมัก' (ข้าวหมาก) ว่าเป็นเชื้อสุรา หลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการกำหนดให้แป้งข้าวหมักดังกล่าวเป็นเชื้อสุราขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สำหรับพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่เป็นกฎหมายใช้บริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ในปัจจุบันมีการควบคุมเฉพาะสินค้าสุรา โดยไม่ได้ควบคุมเชื้อสุราและมิได้มีการควบคุมแป้งข้าวหมักแต่อย่างใด 

ดังนั้น การนำแป้งข้าวหมักมาทำเป็นข้าวหมากเพื่อใช้ในการบริโภคกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจึงไม่มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต เนื่องจากข้าวหมากไม่ถือเป็นสุราและไม่อยู่ในการควบคุมของกรมสรรพสามิต

สำหรับกรณีน้ำข้าวหมากที่นำมาร้องขอความเป็นธรรมนั้น มีลักษณะเป็นของเหลวเช่นเดียวกับน้ำสุรา จากตัวอย่างน้ำข้าวหมากที่นายลภณนำมาแจกจ่ายที่กรมสรรพสามิตได้นำส่งตรวจวิเคราะห์ที่กลุ่มวิเคราะห์สินค้าและของกลาง กรมสรรพสามิต ทันที ซึ่งผลการวิเคราะห์ตัวอย่างทั้ง 3 ประเภท ปรากฏว่า 

(1) น้ำข้าวหมากสีม่วง มีแรงแอลกอฮอล์ 4.230 ดีกรี 

(2) น้ำข้าวหมากสีขาว มีแรงแอลกอฮอล์ 3.815 ดีกรี และ 

(3) น้ำข้าวหมากสีแดง มีแรงแอลกอฮอล์ 4.844 ดีกรี ดังนั้น น้ำข้าวหมากตัวอย่างทั้งหมดมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 0.5 ดีกรี 

จึงถือว่ามีคุณสมบัติเป็นสุราตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งตามกฎหมายภาษีสรรพสามิตนั้นไม่ได้มีข้อห้ามในการผลิตสุรา เพียงแต่กำหนดว่าจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อควบคุมการผลิตสุราให้มีคุณภาพมาตรฐานโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้น ผู้ที่ประสงค์ผลิตสุราสามารถยื่นคำขอการผลิตสุราได้ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขาในท้องที่ที่จะทำการผลิตสุรา และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขออนุญาต สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่และสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่สาขาในวันและเวลาราชการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: