ความคืบหน้าการผลักดันแก้ไขกฎหมายยาเสพติด โดยเมื่อวานนี้ (15พ.ค.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในตอนหนึ่งว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ 'ประมวลกฎหมายยาเสพติด' มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.) การป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด
2.) การควบคุมยาเสพติด
3.) การตรวจสอบทรัพย์สิน
4.) กองทุน
5.) การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด
6.) ความผิดและบทกำหนดโทษ
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งกระทรวงเลขที่ 530/2561 ลงวันที่ 2 พ.ค. 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หลังปรากฎว่ามีการนำกัญชา ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างหลากหลายในต่างประเทศ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อการรักษาโรค หรือ เพื่อการศึกษาวิจัยได้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการรองรับกับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยในประเทศมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม รัดกุม เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นไปตามหลักวิชาการ และกฎหมาย
อย่างไรก็ตามภายหลังที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปคือเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรี อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ... มีสาระสำคัญให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตผลิตหรือครอบครองกัญชา เพื่อนำไปใช้ในทางการแพทย์หรือการวิจัยได้ คณะกรรมการได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวน่าจะประกาศใช้ในอีกประมาณ 9 เดือนข้างหน้า ระหว่างนี้จึงเตรียมแนวทางการดำเนินการ ทั้งการนำมาใช้ในการรักษาโรค การปลูก การควบคุม ระบบการศึกษาวิจัย
โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด ประกอบด้วย 1. การปลูก พัฒนาสายพันธุ์ มอบผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเป็นประธานกรรมการ. 2.การสกัด มอบ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเป็นประธานกรรมการ 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์และข้อบ่งชี้การใช้ทางการแพทย์ มอบอธิบดีกรมการแพทย์เป็นประธาน 4.ระบบควบคุม การศึกษาวิจัย มอบเลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นประธาน ให้เสนอชื่อตั้งคณะทำงานใน 1 สัปดาห์. และนัดประชุมคณะกรรมการในอีก 1 เดือน
“ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่าการอนุญาตให้ปลูกกัญชา อาจมีความเข้าใจผิดว่าสามารถปลูกได้ทั่วไป ขอย้ำว่ากัญชายังคงเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีโทษตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ชัดเจนว่าให้ปลูกเพื่อการรักษาโรคทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งในหลายประเทศได้ดำเนินการเช่นนี้ โดยประเทศไทยยังต้องศึกษาเพื่อนำมาใช้เพิ่มเติมในหลายโรค ขณะที่ทางแผนไทยมีหลายตำรับ เช่น มะเร็งตับ ลมชัก ยานอนหลับ” นพ.โสภณ กล่าว
อ่านเพิ่มเติม