ไม่พบผลการค้นหา
ยูเอ็นออกรายงานเรียกร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้บัญชาทหารสูงสุดของเมียนมา ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และก่ออาชญากรรมสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น พร้อมตำหนิ 'อองซาน ซูจี' ว่าไม่พยายามยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงานการค้นหาความจริงเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งสรุปว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม เช่นเดียวกับสถานการณ์การสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานและรัฐกะฉิ่น อีกทั้งยังเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ทีมค้นหาความจริงของยูเอ็นได้สรุปไว้ในรายงานว่า ขณะนี้ มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะยื่นฟ้องนายพลระดับสูงในกองทัพเมียนมา รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามต่อกลุ่มชาติพันธุ์ รายงานฉบับนี้ถือเป็นการประณามกองทัพเมียนมาที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างหนักรอบล่าสุดในเดือนส.ค. 2560

อีกทั้งรายงานฉบับนี้ จัดทำโดยทีมค้นหาความจริงของยูเอ็น ซึ่งไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่รอบล่าสุดในปี 2554 เท่านั้น แต่ยังตรวจสอบการกระทำของกองทัพเมียนมาต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นับตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เมียนมาพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

ยูเอ็นพบว่า กองทัพเมียนมามีแบบแผนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้ายในรัฐฉาน กะฉิ่น และยะไข่ ซึ่งถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไม่ต้องสงสัย” กลยุทธ์การปราบปรามอย่างเป็นระบบของกองทัพเมียนมาถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง และมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุไปมาก โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ และแม้กองทัพเมียนมาจะอ้างความจำเป็นทางการทหาร แต่ก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมการสังหารแบบไม่เลือกหน้า รุมข่มขืนผู้หญิง ทำร้ายเด็ก และเผาหมู่บ้าน

ยูเอ็นยังระบุว่า เหยื่อความรุนแรงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาของเมียนมายังหาความยุติธรรมตามกระบวนการภายในประเทศได้ยากมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ล้มเหลวอย่างเป็นระบบในการประณาม สอบสวน และดำเนินคดีผู้กระทำความผิด

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังตำหนิอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาอย่างรุนแรงว่า เธอไม่ใช้ตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล หรือแม้แต่ “อำนาจทางศีลธรรม” ของเธอในการหยุดยั้งความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ์ที่เกิดขึ้น

อีกทั้ง รัฐบาลพลเรือนของเมียนมายังพยายามปฏิเสธความผิดของกองทัพ เผยแพร่ข้อมูลที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ละเลยการทำลายหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ อีกทั้งยังขัดขวางกระบวนการสืบสวนสอบสวน

โดยทีมค้นหาความจริงของยูเอ็นกล่าวว่า “การกระทำและการเพิกเฉยของรัฐบาลพลเรือนเมียนมามีส่วนให้เกิดอาชญากรรมที่ชั่วร้าย”

พร้อมกับสรุปรายงานฉบับนี้ไว้ว่า เมียนมามีความรับผิดชอบในการเยียวยาสถานการณ์ภายในประเทศอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงทำให้กระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยของเมียนมาล้มเหลว พร้อมย้ำให้ยูเอ็นและทั่วโลกพยายามใช้วิธีทางการทูต มนุษยธรรม และวิธีการสันติอื่นในการช่วยให้เมียนมาปกป้องประชาชนของตัวเองจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือ UNSC ต้องกดดันให้มีการดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมถึงคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมา ทั้งการห้ามเข้าประเทศ อายัดทรัพย์สิน และห้ามขายอาวุธให้เมียนมาด้วย

ขณะนี้ โฆษกกองทัพเมียนมาและโฆษกรัฐบาลพลเรือนของเมียนมายังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้แต่อย่างใด

ด้านฮิวแมนไรท์วอทช์ องคกรด้านสิทธิมนุษยชนสากลออกแถลงการณ์เกี่ยวกับรายงานของยูเอ็นว่า รายงานการค้นหาความจริงในเมียนมาได้แนะนำว่าสมาชิกยูเอ็นจะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมให้การนำผู้ก่อาชญากรรมอันชั่วร้ายมาสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ที่ผ่านมา สมาชิกยูเอ็นได้แต่ประณามและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเมียมาเท่านั้น

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า ประเทศสมาชิกจะต้องพยายามมากกว่านี้ในการสร้างกลไกสากลที่ยุติธรรมและเสรีอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงจะไม่สามารถหลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดีไปได้


ที่มา : OHCHR, The Washington Post, Human Rights Watch