ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' (HRW) วิจารณ์รายงานสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่าลำเอียงเข้าข้างอิสราเอลและประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านเนื้อหาบางส่วนในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่รวบรวมข้อมูลจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก และเผยแพร่ออกสู่สาธารณะเมื่อวันศุกร์ที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการอ้างอิงข้อมูลช่วงเดือนตุลาคม 2559 จนถึงเดือนกันยายน 2560 ซึ่งระบุว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนถดถอยลงเกือบจะทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่ารายงานของสหรัฐฯ กลับไม่พูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง โดยรายงานที่เผยแพร่ในปีนี้ไม่พูดถึง 'การเลือกปฏิบัติ' ที่กลุ่มประชาชนเชื้อสายอาหรับต้องเผชิญในสังคมอิสราเอล ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายยิว และการใช้นโยบายเลือกปฏิบัติก็ทำให้เกิดการประท้วงและก่อเหตุปะทะบริเวณเส้นแบ่งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล ทำให้ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ถูกปราบเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และทหารฝั่งอิสราเอลได้รับบาดเจ็บหลายราย

นอกจากนี้ ฮิวแมนไรท์ยังระบุด้วยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี กลับไม่มีการระบุข้อสังเกตด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนที่เคยมีในรายงานหลายฉบับก่อนหน้านี้ 

ปาเลสไตน์ ประท้วง อิสราเอล ตะวันออกกลาง

ทางด้านกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังมิได้แสดงความคิดเห็นต่อแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังดำเนินเรื่องแต่งตั้งนายไมค์ ปอมเปโอ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทนนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งถูกปลดจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ส่วนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่ปรากฏในรายงานของสหรัฐฯ ระบุว่า ภายใต้ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพของประชาชนไทยอยู่หลายเรื่อง เช่น การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การคุกคามผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้ถูกคุมขัง และนักโทษในเรือนจำ การใช้กำลังของฝ่ายความมั่นคงที่เผชิญหน้ากับการก่อเหตุของกลุ่มชาติพันธุ์มลายูมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางพื้นที่ของจังหวัดสงขลา

ด้วยเหตุนี้ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ว่า กสม.มีมติแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและเฝ้าระวังการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อดำเนินการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องในรายงานของสหรัฐฯ ว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมอย่างไรหรือไม่ โดยให้เลขาธิการ กสม.เป็นประธานคณะทำงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: