ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เปิดบริการศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล 10,611 แห่งทั่วประเทศ ดูแลช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง 2 แสนกว่าราย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และวันที่ 25 พฤศจิกายนทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลเพื่อกระตุ้นให้สังคมทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในเด็กและสตรี กระทรวงสาธารณสุข จึงให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัด จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 ใช้ชื่อว่า “ศูนย์พึ่งได้” (One Stop Crisis Center : OSCC) มีทีมสหวิชาชีพ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้ทันที ครบวงจร โดยทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ส่งเสริมป้องกันโรค ดูแลด้านความปลอดภัย ประเมินด้านจิตใจเพื่อช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ ประสานและให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ให้คำปรึกษา ฟื้นฟู เยียวยาสภาพจิตใจ ติดตามเยี่ยมบ้าน และประเมินผล

นายแพทย์สุขุม กล่าวต่อว่า ก���ะทรวงสาธารณสุขมีศูนย์พึ่งได้จำนวน 10,611 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป /โรงพยาบาลชุมชน จำนวน 829 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัดกรมต่าง ๆ จำนวน 32 แห่ง ข้อมูลตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบัน ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งเป็นเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงมารับบริการทั้งสิ้น 247,480 ราย เป็นเด็ก 121,860 ราย และสตรี 119,331 ราย

การกระทำรุนแรงในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัว ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมจนเป็นสาเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศ มากที่สุด ส่วนใหญ่จะถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด และส่วนในสตรีมีสาเหตุมาจากการหึงหวงทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันของคู่สมรส

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ (ร่าง) ยุทธศาสตร์บูรณาการพัฒนาระบบบริการศูนย์พึ่งได้ เพื่อการป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ.ศ. 2561 – 2565 ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.การป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง

2.พัฒนาการเข้าถึงระบบบริการช่วยเหลือ เด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมถึงระบบการส่งต่อ

3.พัฒนาศักยภาพบุคลากรและขีดความสามารถของบุคลากรเครือข่ายศูนย์พึ่งได้

และ4.ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ โดยจัดทำเป็นคู่มือในการดำเนินงานของศูนย์พึ่งให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง


Photo by Volkan Olmez on Unsplash


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :