ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันอังคาร นำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจทำให้เกิดผลสืบเนื่องอย่างน้อย 3 อย่าง
นั่นคือ อเมริกาตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว สหรัฐฯ สูญเสียความร่วมมือกับชาติพันธมิตรตะวันตก และหลายประเทศในตะวันออกกลางอาจทำสงครามกัน
ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านบรรลุผลการเจรจาเมื่อปี 2015 ในยุครัฐบาลบารัก โอบามา โดยสหรัฐฯ กับอิหร่านลงนามร่วมกับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี
ข้อตกลงฉบับนี้มุ่งควบคุมอิหร่านไม่ให้พัฒนานิวเคลียร์ในทางการทหาร รัฐบาลเตหะรานยอมรับพันธะดังกล่าวเพื่อแลกกับการยุติการคว่ำบาตรของนานาชาติ
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) รับหน้าที่ตรวจพิสูจน์การปฏิบัติตามข้อตกลง โดยพบว่า อิหร่านได้ลดปริมาณและคุณภาพของวัสดุนิวเคลียร์จนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้ทำระเบิดได้
ทรัมป์อ้างว่า ข้อตกลงมีจุดบกพร่องร้ายแรง เพราะไม่ได้จำกัดบทบาทของอิหร่านใน 2 เรื่อง คือ การพัฒนาขีปนาวุธ กับการสนับสนุนบรรดากลุ่มนักรบในหลายประเทศย่านตะวันออกกลาง เช่น เยเมน ซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน
รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวแต่ฝ่ายเดียว ประเทศอื่นๆที่ร่วมลงนามยังคงเป็นภาคีต่อไป นับจากนี้ สหรัฐฯจะใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อกดดันให้รัฐบาลเตหะรานยอมเจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่
นักวิเคราะห์บอกว่า การตัดสินใจของทรัมป์ดังกล่าวจะทำให้อเมริการะดมแรงสนับสนุนในการเล่นงานอิหร่านจากชาติยุโรป รวมถึงจากจีนและรัสเซีย ได้ยากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ เมื่อสหรัฐฯนำมาตรการคว่ำบาตรกลับมาใช้กับอิหร่าน รัฐบาลเตหะรานอาจตอบโต้ด้วยการโจมตีผลประโยชน์ของอเมริกัน หรือตอกลิ่มความไม่ลงรอยระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป หรือเพิ่มการสนับสนุนแก่พวกนักรบในประเทศที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง เช่น ซีเรีย เยเมน
ในกรณีซีเรีย อิสราเอลโจมตีกองกำลังของอิหร่านในซีเรียมาแล้วหลายครั้ง ถ้าอิหร่านขยายอิทธิพลในซีเรีย มีความเป็นไปได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะบานปลาย
ในกรณีเยเมน อิหร่านซึ่งถือนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏในเยเมน ซึ่งถือนิกายเดียวกัน ทำให้ซาอุดีอาระเบียซึ่งถือนิกายสุหนี่ และเป็นคู่แข่งอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง ร่วมมือกับบรรดาชาติอาหรับ และสหรัฐอเมริกา ให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเยเมน
นักวิเคราะห์บอกว่า อิหร่านอาจเพิ่มการสนับสนุนแก่ฝ่ายกบฏในเยเมน พวกกบฏอาจโหมยิงจรวดโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย หากชาวซาอุดีเสียชีวิตจำนวนมาก ซาอุดีอาระเบียและบรรดารัฐบาลกษัตริย์ในคาบสมุทรอาหรับอาจขยายวงสงคราม
ผลที่อาจตามมาจากการคว่ำบาตรอิหร่านอีกอย่างหนึ่ง คือ เตหะรานอาจหวนกลับมาเสริมสร้างขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ ซึ่งอาจทำแบบปิดลับ.
ภาพ: AP
อ่านเพิ่มเติม: