ไม่พบผลการค้นหา
น้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย หลังทรัมป์เสนอตัวเป็น 'กาวใจ' ในสงครามราคาน้ำมันซาอุดีอาระเบีย-รัสเซีย ฟากนักวิเคราะห์ประเมิน ความบาดหมาง 2 ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ไม่จบ ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสดิ่งลงไปอยู่ที่ 13-19 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เขย่าเศรษฐกิจโลก สะเทือนค่าเงินอีกรอบ

เวลาเพียง 1 วัน (19 มี.ค.) ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 23 หลังจากตลาดต้องแบกรับการดำดิ่งของราคาน้ำมันครั้งประวัติศาสตร์ โดยน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ หรือ WTI ( West Texas Intermediate) ราคาเพิ่มขึ้น 4.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 158 บาท) หรือประมาณร้อยละ 23.8 มาจบอยู่ที่ 25.22 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 822 บาท) หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันดิลเวสเทกซัสฯ ตกลงกว่าร้อยละ 24.4 และไปปิดตัวที่ 20.37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 664 บาท) ต่ำที่สุดในรอบ 18 ปี

หรือพูดง่ายๆ ว่า เพียง 10 วันที่่ผ่านมา (9-20 มี.ค.) หลังความบาดหมางระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ร่วงมาอยู่ที่ 31.13 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ผ่านมาเพียง 10 วัน ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ตกมาอยู่ที่ 25.22 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือหายไปเกือบ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และจะเห็นการหล่นร่วงหนักมาก เมื่อเทียบกับสิ้นเดือน ก.พ. ที่ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ยังอยู่ที่ระดับ 44.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นับว่า ถึงวันนี้ราคาตกลงแล้วร้อยละ 43 ในช่วงเวลาเพียง 21 วัน (28 ก.พ.-20 มี.ค.)

ขณะที่ฝั่งน้ำมันดิบเบรนท์ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 มาปิดตัวที่ 28.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 928 บาท) ณ วันที่ 20 มี.ค. จากก่อนหน้านี้ร่วงลงมาอย่างมากจากราคา 49.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อ 28 ก.พ. 2563 มาอยู่ที่ 30.30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในวันที่ 19 มี.ค. 2563 หรือ ลดลงร้อยละ 39

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในวันนี้ (20 มี.ค.) มาจากการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ออกมาประกาศจะเป็นตัวกลางในการหาทางออกในความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย โดยชี้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามหา "จุดกลาง" ท่ามกลางทางตันในปัจจุบัน

นายทรัมป์ชี้ว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลร้ายต่อรัสเซียอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจหลักของประเทศตั้งอยู่บนอุตสาหกรรมนี้ และราคาน้ำมันในปัจจุบันยังตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

พร้อมย้ำว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลเสียต่อซาอุดีอาระเบียไม่น้อยไปกว่ากัน พร้อมย้ำในช่วงหนึ่งว่า "พวกเขากำลังสู้กัน สู้กันด้วยราคา สู้ด้วยกำลังการผลิต เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผมจะยื่นมือเข้าไป"

ขณะที่ 'วอลเตอร์ ซิมเมอร์แมน' หัวหน้านักกลยุทธ์จากสถาบันวิเคราห์ ไอซีเอพี อธิบายว่า การที่ทรัมป์ยื่นมือเข้ามาในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่งอยู่แล้ว เพราะสถานการณ์สงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสากรรมน้ำมันทั่วโลก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาในวันนี้ ไม่ได้เป็นสัญญาณว่ากราฟจะหันหัวดีขึ้นตราบใดที่ความขัดแย้งของ 2 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันยังไม่คลี่คลาย

AFP - OPEC โอเปก น้ำมัน


ทำไมราคาน้ำมันมาอยู่จุดนี้

ตามข้อมูลของเว็บไซต์ OILPRICE ราคาน้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ณ วันที่ 28 ก.พ. อยู่ที่ 44.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 1,460 บาท) ก่อนจะลงไปต่ำสุดด้วยราคา 20.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 679 บาท) ในวันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย โดยปัจจัยหลักมาจากการแข่งกันเพิ่มกำลังการผลิตที่จะส่งให้ราคาน้ำมันลดลงโดยอัตโนมัติ

น้ำมัน

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 'ซาอุดิ อารัมโค' บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ประกาศจะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงเดือน เม.ย. ไปจนถึงเดือนพ.ค. 2563 ทั้งยังอ้างว่าสามารถแบกรับราคาน้ำมันที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 978 บาท) ได้แบบ "สบายๆ" โดยมองการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันไว้ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ขณะที่ รัสเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ออกมาปฏิเสธที่จะลงนามในการลดกำลังการผลิต ก็ประกาศว่าสามารถทนแบกรับกับราคาน้ำมันที่ตกลงได้เป็นเวลานานเช่นเดียวกัน

เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศยังไม่สามารถมีข้อตกลงร่วมกันได้ การแข่งขันจึงไปอยู่ที่ใครผลิตได้มากกว่าในราคาถูกกว่า ก็จะได้ตลาดลูกค้าไปครอง ขณะที่ราคาของใครสูงกว่าก็อาจจะเสียเปรียบทางการแข่งขัน 

น้ำมัน -  AFP


ราคาน้ำมันจะไปอยู่ที่ตรงไหน 

นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา (BofA) ชี้ว่า หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปเช่นนี้ อุปทานน้ำมันจะล้นตลาด ไม่สอดคล้องกับความต้องการ และให้สมมติฐานเฉลี่ย อุปทานน้ำมันส่วนเกินอาจอยู่ที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรืออาจขึ้นไปสูงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น "ในกรณีที่เลวร้าย หากตลาดหาที่เก็บให้กับน้ำมันส่วนเกินพวกนี้ไม่ได้ ราคาน้ำมันอาจหล่นไปซื้อขายกันที่ช่วง 13 - 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 424 - 619 บาท)"

ในทำนองเดียวกัน 'แอ็บฮิ เรเจนแดรน' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน ชี้ว่า "ราคาน้ำมันสามารถลงไปอยู่ในช่วง 13 - 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ประมาณ 424 - 619 บาท) ในจุดตกต่ำ และยังสามารถต่ำกว่าจุดตกต่ำนี้ไปได้อีก" เนื่องจากอุปทานส่วนเกินของน้ำมันอาจขึ้นไปสูงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

'จิม เบิร์คฮาร์ด' รองประธานและหัวหน้าฝ่ายตลาดน้ำมันของ ไอเฮชเอส มาร์คิต กล่าวว่า "ครั้งสุดท้ายที่ตลาดมีน้ำมันส่วนเกินเยอะขนาดนี้ คือ ไม่มี ไม่เคยเกิดขึ้น" พร้อมเสริมข้อมูลว่า น้ำมันส่วนเกินสำหรับระยะเวลา 6 เดือนในช่วงก่อนหน้านี้ คือราว 360 ล้านบาร์เรล แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือมากกว่านั้น และสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มขึ้นหลังวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเคยเป็นข้อตกลงที่ประเทศในกลุ่มโอเปก ที่มีซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย จะร่วมกันลดกำลังการผลิตเพื่อกระตุ้นให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ถูกเซ็นจากทั้งสองฝ่าย อีกทั้งซาอุดีอาระเบียยังออกมาประกาศเพิ่มกำลังการผลิตจาก 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ก.พ. เป็น 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

'เรเจนแดรน' ย้ำว่า หากไปถึงขึ้นนั้น "ทุกคนจะพังหมด ต้องปิดแท่นขุดเจาะ โดยเฉพาะสหรัฐฯ" ที่ต้องมาร่วมแข่งราคาน้ำมันกับทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ แต่เดิมมีหนี้มากอยู่แล้ว

สถานการณ์ในฝั่งอุปสงค์ยิ่งไม่สู้ดีเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้สายการบินหลายรายต้องประกาศลดเที่ยวบินกว่าร้อยละ 70 อีกทั้งอุตสาหกรรมในหลายประเทศยังต้องปิดตัวลงชั่วคราว ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ความต้องการน้ำมันน้อยลงไปกว่าปกติ


รัฐบาลก็อาจช่วยประเทศตัวเองไม่ได้

‘เมาริซิโฮ คาร์เดอร์นาส’ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันและอดีตรัฐมนตรีพลังงานของโคลัมเบีย กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่เป็นรายเล็กลงมา อาทิ อาร์เจนตินา หรือ บราซิล ต้องเผชิญหน้ากับพิษทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

เขาชี้ว่า แม้แต่แม็กซิโกที่รัฐบาลกลางมีนโยบายป้องกันรายได้ด้วยนโยบายประกันความเสี่ยง ก็ยังหนีความเสี่ยงไม่พ้นเช่นเดียวกัน

ขณะที่ 'เซดริค ชีแฮป' หัวหน้านักกลยุทธ์จากฟิทช์โซลูชัน ชี้ว่า ธนาคารกลางจากหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ ต้องเผชิญหน้ากับการออกนโยบายในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เนื่องจาก "ในทางหนึ่ง ธนาคารกลางต้องสู้กับการเทขายสกุลเงินของประเทศ และอีกมือหนึ่งก็ต้องสู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว"

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ค่าเงินและผลพวงจากสงครามราคาน้ำมันและโรคโควิด-19 แต่สถานการณ์ก็อาจจะยังไม่ดีขึ้นหลังมาตรการเหล่านี้

จากเหตุการณ์ทั้งหมด เมื่อหันกลับมามองในประเทศไทย ราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราลดลงเช่นเดียวกัน โดยราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 29 ก.พ. อยู่ที่ 25.49 บาทต่อลิตร ก่อนจะหล่นลงมาอยู่ที่ 21.79 บาท/ลิตร ในวันที่ 20 มี.ค. เช่นเดียวกันน้ำมันเบนซิน ที่อยู่ที่ 32.76 บาท/ลิตร ในวันที่ 29 ก.พ. ก่อนจะลดลงมาเหลือ 27.36 บาท/ลิตร ในวันนี้ แต่ในแง่โครงสร้างที่กว้างใหญ่กว่าราคาขายปลีกน้ำมันที่เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคแล้ว คือ 'สงครามราคา' ในต่างประเทศที่จะสะเทือนค่าเงินบาท สะเทือนเศรษฐกิจโลก

แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก พึ่งพาการส่งออก จะอยู่รอดอย่างไร เมื่อ 'ขาใหญ่' เลือกเล่นเกมเดินหน้าชน

อ้างอิง; Bloomberg, CNBC, PTT, NGI, FP, Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :