แม้โลกาภิวัตน์จะนำมาซึ่งกำไรมหาศาล แต่ผลลัพธ์อีกด้านของมันแลกมาด้วยราคาที่สูงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในเวลาที่กระแสความปั่นป่วนกำลังสร้างปัญหาให้กับระบบการค้าโลก ทั้งการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษที่ยังหาทางออกไม่ได้ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ยังไม่ยุติ สร้างความกังวลให้กับบรรดานักลงทุน
บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ระบุว่า มูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาเหล่านี้สูงถึงร้อยละ 2.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีโลก ซึ่งคิดเป็นผลผลิตมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 63.61 ล้านล้านบาท
โดยเมย์วา คัซเซิน และ ทอม ออร์ลิค นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักข่าวบลูมเบิร์กกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้การค้ามีความยากลำบากขึ้นแต่ไม่ถึงขนาดเป็นการทำลายการค้าไปทั้งหมด
ในโลกที่การกระจายสินค้าเชื่อมกันระหว่างชายแดน มีประเทศจำนวนไม่มากที่รอดพ้นจากผลกระทบของสงครามการค้า ในกรณีของสมาร์ตโฟนซึ่งมีการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ชิ้นส่วนในการประกอบสมาร์ตโฟนเหล่านั้นถูกผลิตจากประเทศทั่วเอเชียตะวันออก หรือแม้แต่ในประเทศสหรัฐฯเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนถึงจับตามองการเจรจาระหว่างสองประเทศอย่างใกล้ชิด
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าผู้นำทั้งสองประเทศ มีความพยายามในการหาข้อตกลงให้กับสงครามการค้าครั้งนี้ อย่างไรก็ตามแม้จีนและสหรัฐฯสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ภาษีนำเข้าในปัจจุบันก็อาจไม่ตกไปไหน ซึ่งหมายถึงจีดีพีรวมของโลกราวร้อยละ 1 ตกอยู่ในความเสี่ยงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
จีนซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2533 ยังต้องรับมือกับสถานการณ์การส่งออกของประเทศไปยังสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลง และมีมูลค่าถึงร้อยละ 3.9 ของจีดีพีรวมประเทศ และแม้ว่าสหรัฐฯ จะพึ่งการส่งออกน้อยกว่าจีน แต่นั่นก็หมายถึงร้อยละ 1.3 ของจีดีพีประเทศเช่นกัน
แม้จะมีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข่าวลือว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ วางแผนจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ในสหรัฐฯ ตามคำแนะนำจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่าจีดีพีของโลกราวร้อยละ 0.4 ที่ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์อาจได้รับผลกระทบตรงนี้
ผู้ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ ได้แก่ ประเทศเม็กซิโกพึ่งพาการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 4 จากการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมด ตามมาด้วยเกาหลีใต้ (ร้อยละ 1.9) ฮังการี (ร้อยละ 1.7) และแคนาดา (ร้อยละ 1.6) และจากประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกอย่างสหราชอาณาจักร จีน และ เยอรมนี จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ขณะที่ฟากสหรัฐฯ และจีนยังลุ่มๆดอนๆ สหราชอาณาจักรก็ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่ากันมากนัก การหาทางออกให้กับข้กตกลงแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือเบร็กซิต ทำให้ประเทศตกอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเป็นตลาดเดี่ยว ซึ่งความไม่แน่นอนนี้ผูกกับจีดีพีโลกถึงร้อยละ 0.9
หากนับภาวะการณ์ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอังกฤษเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อ่อนแอที่สุดในโลก โดยจีดีพีของประเทศถึงร้อยละ 10 กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ขณะที่ไอร์แลนด์ก็ตามมาติดๆ ที่ความเสี่ยงจีดีพีร้อยละ 9.7 ด้านสหภาพยุโรป ราวร้อยละ 2.7 ของจีดีพีรวมตกอยู่ในความเสี่ยง
ถ้าจะกล่าวถึงประเทศที่ได้รับผลเชิงบวกจากสงครามการค้า 'เวียดนาม' น่าจะติดอันดับต้นๆ หรืออาจจะเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพราะผลจากสงครามการค้าทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งในจีนย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแทน ส่งผลให้จีดีพีรวมของประเทศพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 6.79 ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
แม้จะแพ้ช่วงไตรมาส 1/2561 ที่จีดีพีรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7.45 และแพ้จีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 4/2561 ที่อยู่ราวร้อยละ 7.31 แต่จีดีพีรวมของประเทศเวียดนามปี 2561 ก็สูงถึงร้อยละ 7.08 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551
แม้ว่าบทวิเคราะห์ครั้งนี้จะไม่ได้พูดถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับโดยตรง แต่ก็เป็นการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มการแก้ไขปัญหาของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งสิ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืม