ไม่พบผลการค้นหา
สื่อนอกระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นศพต่อไปในสงครามการค้าที่กำลังดุเดือด เพราะเป็นภูมิภาคที่ผลิตชิ้นส่วนสำคัญให้กับสินค้าจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นรายต่อไปที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และต้องเผชิญกับนโยบายการเงินของหลายประเทศที่เคร่งครัดมากขึ้น ขณะที่ ราคาน้ำมันสูงขึ้น พร้อมกับการเมืองภายในประเทศที่ตึงเครียด ล้วนเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้

ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างต้องปรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการควบคุมไม่ให้ค่าเงินผันผวนจนเกินไป หรืออาจถึงขั้นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

นายทามารา เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg Economics ในสิงคโปร์กล่าว เมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้น ก็หมายความว่าการส่งออกของภูมิภาคนี้อาจต้องเจอแรงปะทะที่รุนแรงขึ้น การลงทุนที่ลดลงจากนโยบายการเงินที่เคร่งครัดอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะยิ่งลดลงไปอีก

นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังมองว่า ความไม่แน่ใจเรื่องการเลือกตั้งในอินโดนีเซียและไทย รวมถึงข้อกังขาเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียอาจยิ่งทำให้นักลงทุนรู้สึกกังวลใจที่จะมาลงทุนในภูมิภาคนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561

นายแกเรธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเศรษฐกิจเอเชียของ Capital Economics กล่าวว่าสงครามการค้าจะส่งผลกระทบประเทศผู้ส่งออก 'สินค้าขั้นกลาง' ให้จีน เช่น เซมิคอนดัคเตอร์ชิป และหน้าจอโทรศัพท์ เพื่อไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูปอย่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์และส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐฯ ซึ่งประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางส่วนใหญ่ต่างอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ว่า หลายประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องแก้ไขกันมาอยู่แล้ว เมื่อสงครามการค้าเริ่มต้นขึ้นก็อาจทำให้หลายประเทศอยู่ในขั้นวิกฤต

ไทย

บลูมเบิร์กอธิบายว่าตัวเลขเศร���ฐกิจของไทยค่อนข้างแตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค เนื่องจากไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 4.8 ถือว่ารวดเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี ขณะที่เงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยูในระดับที่ต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศกำหนดไว้ที่ร้อยละ 1-4 ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไปได้อีก ซึ่งอยู่ในระดับนี้มาตั้งแต่ปี 2558 (ดอกเบี้ยร้อยละ 1.50)

นักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics มองว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะยังแข็งแกร่งอยู่ในระยะสั้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ประกอบกับเสถียรภาพทางการเมืองที่ลดลงอาจทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นขึ้นกลับซบเซาลงได้ในปีหน้า ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลทหารสัญญาว่าจัดการเลือกตั้ง

อินโดนีเซีย

ผู้กำหนดนโยบายการเงินของอินโดนีเซียพยายามลดความคาดหวังต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และหันไปให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงทางการเงิน ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ที่ร่วงลงเรื่อยๆ การขาดดุลเดินสะพัดและเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ทางการประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลอินโดนีเซียก็ประกาศว่าจะตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐและการควบคุมการนำเข้า ซึ่งอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำลงไปอีก

มาเลเซีย

มาเลเซียเพิ่งจะเปลี่ยนผ่านอำนาจจากพรรคบาริซาน เนชันนัลมาเป็นฝ่ายปากาตัน ฮารัปปันครั้งแรกในรอบ 5 ทศวรรษ การเมืองมาเลเซียจึงยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร รัฐบาลใหม่เพิ่งจะมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยแผนเก็บภาษีการค้าและบริการฉบับใหม่ที่จะเข้าสภาในเดือน ส.ค. นี้ ก็อาจทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ยังต้องทบทวนใหม่

สิงคโปร์

แม้ปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะค่อนข้างมั่นคง แต่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์อาจชะงักลงในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะมาตรการควบคุมตลาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งออกมาอาจกระทบต่ออารมณ์ของตลาด และทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังต้องรับภาระหนักในการหล่อเลี้ยงความมั่นใจของผู้ประกอบการที่เริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2560

เวียดนาม

เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมากที่สุด แม้เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การค้าของเวียดนามพึ่งพาจีนอย่างมาก และจีนก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในความเสี่ยงมากอยู่แล้ว เมื่อเศรษฐกิจจีนเริ่มเติบโตช้าลง

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า เวียดนามต้องพึ่งพาจีนทั้งด้านวัตถุดิบและเครื่องจักรสำหรับภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามด้วย

ดังนั้น เวียดนามจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก หากสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการกำแพงภาษีไปครอบคลุมถึงประเทศที่ส่งสินค้าขั้นกลางให้จีน ขณะที่ เวียดนามก็เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ค่อยพอใจนักอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดหุ้นเวียดนามร่วงลงมาถึงร้อยละ 25 จากจุดสูงสุดเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่่านมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติรู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการตั้งกำแพงภาษี เพราะเวียดนามอาจกลายเป็นตลาดที่จีนนำสินค้าส่งออกของจีน เช่น สิ่งทอและเฟอร์นิเจอร์มาทุ่มราคา

ที่มา : Bloomberg, CNBC, Reuters