ไม่พบผลการค้นหา
"อนุทิน" มอบนโยบายทิศทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพ เดินหน้าดูแลประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ดันเทคโนโลยีหนุนการรักษา เน้นอุดหนุนเวชภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ยืนยันไม่มีนโยบายร่วมจ่ายแน่นอน

วานนี้ (15 ส.ค.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุม

นายอนุทิน กล่าวในการมอบนโยบาย "ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพ" ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความสำเร็จและคืบหน้าพอสมควร ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและถูกยกให้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการให้บริการด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลขอยืนยันที่จะสานต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดยระบบนี้จะต้องอยู่ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกัน โดยการดำเนินงานจะพุ่งเป้าไปที่การลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ คุณภาพบริการ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนและไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ สิ่งที่ สปสช.จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตคือการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเท่าเทียมกัน และจะสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ระบบบริการระบบส่งต่อการแพทย์ที่แม่นยำ ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ประโยชน์ของ Big Data ในการจัดการระบบสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

“นโยบายที่ได้มอบให้หน่วยงานในสังกัด สธ. ในฐานะผู้ให้บริการคือ “บริการให้เยี่ยม” ส่วนนโยบายที่อยากมอบให้ประชาชนในฐานะผู้รับบริการคือ "อย่าป่วย" พวกท่านต้องแข็งแรง อย่าไปคิดว่าท่านป่วยแล้วมีคนรักษา มีสิทธิบัตรทองเสีย 30 บาท หรือคิดว่ามีรายได้ดี พอป่วยก็เข้าโรงพยาบาลชั้นหนึ่ง ซื้อยาดีได้ พวกนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เราก็จะเจ็บแล้วเจ็บอีก เจ็บทั้งตัวเจ็บทั้งกระเป๋า ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องไม่ป่วย ซึ่งทำได้ด้วยการดูแลตัวเอง สปสช.จะได้เอางบที่มีไปรักษาคนที่ต้องใช้จริงๆ รวมถึงอนุโมทนาคนที่ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายจากการไปรักษาที่โรงพยาบาล ที่ถือว่าได้ทำบุญทุกวัน เพราะงบเหมารายหัว สิ่งที่เราไม่ได้เอาไปใช้เขาสามารถเอาไปให้การรักษา หรือทำโครงการดีๆ ให้คนที่ต้องใช้จริงๆ ได้ใช้ นี่คือเป้าหมาย ไม่ได้มีนโยบายอะไรมากไปกว่านั้น” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่ออยู่ในใจว่า แม้ สธ.จะไม่ได้อยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ ถ้าประชาชนพร้อมใจกันป่วย เศรษฐกิจก็ล่ม แต่ถ้าประชาชนพร้อมใจกันแข็งแรงผลลัพธ์ของประเทศคงไม่ต้องพูดถึง

อนุทิน.jpg


“ผมไม่ใช่หมอ ผมเป็นวิศวกร รู้ว่าการที่มีฐานรากมั่นคงแข็งแกร่งนั้น ดีกว่าการมียอดสูงใหญ่แต่อยู่บนฐานรากที่อ่อนแอ ซึ่งสมัยผมอยู่ภาคธุรกิจ บริษัทที่อยู่ต้องประสบภาวะล้มละลาย เพราะมัวไปต่อยอดที่มันเยอะ แต่อยู่บนฐานที่มันง่อนแง่ ในตอนหลังผมมีโอกาสเข้าแก้ไข ฟื้นฟูกิจการต่างๆ โดยเชื่ออย่างเดียวว่าฐานแกร่งก่อนแล้วยอดจึงจะไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กว่า 20 ปีที่ผมทำเรื่องฐานราก ทำให้บริษัทที่ผมทำอยู่มียอดขายหลายหมื่นล้าน ไม่มีหนี้สิน เพราะเราโฟกัสชัดเจนว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เช่นเดียวกับ สธ. ที่จะโฟกัสอย่างเดียวคือการให้บริการ” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้วว่าเงิน สปสช. มีเท่าไรก็ไม่พอ แต่ตนจะทำให้ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เช่น เรื่องการจัดซื้อเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องเน้นการผลิตในไทย เช่นนี้เราจะยังสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจ งบประมาณที่ใช้ไปก็จะหมุนอยู่ในประเทศ สิ่งที่เสียไปก็ไม่เสียเปล่า แต่ยังไปช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยที่ตอนนี้ต้องซ่อมอย่างหนัก

“ขอให้ทุกคนให้ความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ สิ่งใดที่ผมทำได้ในสถานภาพ ตำแหน่ง ที่สามารถมีแรงขับเคลื่อนผลักดันระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้ประชาชนรับบริการที่ดีสุดเท่าที่จะทำได้ ทำทุกอย่างให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ผมปวารณาตัวจะทำอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจในทีมงานของผม ไม่ว่าข้าราชการใน สธ. หรือ สปสช. ทุกคนมีความตั้งใจทำภารกิจที่เราได้รับอย่างเต็มที่" นายอนุทิน กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการให้ประชาชนร่วมจ่าย ขอย้ำว่าไม่มีนโยบาย ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เลย ไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน ในทางกลับกันจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากด้วย