พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า เมื่อปีที่ผ่านมา (61) สปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ที่สำคัญนั่นก็คือการป้องกันควบคุมโรคและการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ แต่การรับรู้ยังค่อนข้างน้อย
พญ.มณฑินี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) มีนโยบายที่จะกวาดล้างไวรัสตับอักเสบให้หมดไปภายในปี 2573 โดยประเทศไทยได้ดำเนินการและมีแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ. 2560-2554 ภายใต้ 5 กรอบการทำงาน ได้แก่ 1. การเฝ้าระวังโรคและระบบข้อมูล 2. การป้องกันควบคุมโรคและการสื่อสารความเสี่ยง 3. การค้นหาและดูแลผู้ป่วย 4. การวิจัยพัฒนาเพื่อการป้องกันควบคุมโรค 5. การบริหารและจัดการทรัพยากร
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติม ครอบคลุม 2 กลุ่มประชากร ประกอบด้วย ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่ใช้สารเสพติดแบบฉีด ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถเพิ่มกลุ่มประชากรอื่นๆ ได้ อาทิ กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มผู้ได้รับหัตถกรรมในอดีตที่ยังไม่มีการตรวจวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ
“วิธีการทำงานเพื่อยับยั้งไวรัสตับอักเสบเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการทำงานเพื่อยุติเชื้อเอชไอวี คือต้องทำให้เกิดการคัดกรองในกลุ่มประชากรทั่วไปให้มากที่สุด โดยเบื้องต้นจะเริ่มในกลุ่มเสี่ยงก่อนเพื่อผลักดันให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการบริการ และค่อยๆ ขยายกลุ่มเป้าหมายออกไป” พญ.มณฑิณี กล่าว
พญ.มณฑินี กล่าวอีกว่า การรักษาตับอักเสบในอดีตเป็นเรื่องยาก แต่ปัจจุบันสามารถรักษาตับอักเสบชนิดซีได้แล้วเพียงแค่รับประทานยา ซึ่งผลการรักษาที่ดีจะแปรผันตามระยะเวลาที่เข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องผลักดันให้ผู้ป่วยตับอักเสบซีเข้าถึงระบบสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบซี ภายในปี 2573 นั้น องค์การอนามัยโลก ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่ยังมีชีวิตจะได้รับการวินิจฉัย ร้อยละ 90 ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้รับการรักษามากกว่าร้อยละ 80 ลดการติดเชื้อรายใหม่ ร้อยละ 80 และอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคไวรัสตับอักเสบซี ลดลง ร้อยละ 65
นอกจากนี้ สปสช.ยังให้สิทธิประโยชน์เพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กด้วย โดยปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อจากมารดาเฉลี่ยปีละ 3,800 ราย ซึ่งตรงนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้มารดารับประทานยาให้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยลดการถ่ายทอดไวรัสสู่ลูกได้ ขณะเดียวกันเด็กก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนควบคู่กับยาด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเบิกจ่ายผ่าน สปสช.ได้