ไม่พบผลการค้นหา
พบปลาพญานาค หรือ 'ปลาออร์' เกยตื้นชายหาดญี่ปุ่น รวมถึงติดอวนของชาวประมงอย่างน้อย 3 ตัวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ใช้เน็ตในญี่ปุ่นเกรงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

บัญชีทวิตเตอร์และอินสตาแกรมของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอุโอซุ ในจังหวัดโทยะมะของญี่ปุ่น เผยแพร่ภาพออร์ฟิช (oar fish) หรือปลาออร์ ซึ่งชาวไทยรู้จักกันในนาม 'ปลาพญานาค' ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปลาออร์ที่ถูกพบในทะเลชายฝั่งจังหวัดโทยะมะ รวม 3 ตัว มีความยาวมากกว่า 3 เมตรขึ้นไป แต่ถ้านับรวมจำนวนปลาออร์ที่มีผู้พบเห็นและจับได้ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งหมด 7 ตัวแล้ว

ปลาออร์มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ปลาริบบิ้น และอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกประมาณ 1 กิโลเมตรเป็นต้นไป แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบปลาออร์ความยาวมากกว่า 3.2 เมตรเกยตื้นบริเวณชายหาดในโทยะมะ 1 ตัว และอีก 2 ตัวติดมากับอวนลากของเรือประมงในญี่ปุ่นซึ่งออกหาปลาในทะเลเมืองอิมิซุ และมีความยาวกว่า 3 เมตรขึ้นไปทั้งคู่

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมองว่าการพบปลาออร์ในน้ำตื้นอาจเป็น 'สัญญาณเตือนภัย' แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยอ้างอิงจากปรากฏการณ์ก่อนจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อเดือน มี.ค.2554 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้านั้นมีผู้พบปลาออร์เกยตื้นนับสิบตัว และชาวญี่ปุ่นบางส่วนเชื่อว่าปลาออร์เป็นลางบอกจากวังเทพเจ้าแห่งท้องทะเล เชื่อมโยงกับนิทานปรัมปราของญี่ปุ่นที่ระบุว่า ถ้าหากปลาดุกขนาดยักษ์ 'นามะสุ' พลิกตัว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว

  • ปลาออร์ตัวล่าสุดที่พบในญี่ปุ่น ถูกชาวประมงจับได้เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สกายนิวส์และซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของฮิโระยุกิ โมโทมุระ ผู้เชี่ยวชาญด้านมีนวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคาโกชิมะ ย้ำว่าการที่ปลาออร์ว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว แต่คาดว่าจะเกิดจากช่วงอายุและความเจ็บป่วยทางกายภาพของปลาดังกล่าว

ขณะที่คาซูสะ ไซบะ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอุโอซุ มองว่ามีความเป็นไปได้ที่การว่ายสู่ผิวน้ำจนถูกจับได้หรือถูกคลื่นซัดเกยหาดของเหล่าปลาออร์จะเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ไม่อาจมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสาเหตุอาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อนก็เป็นได้ แต่เขาก็ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะพิสูจน์ได้ว่าการพบปลาออร์ในน้ำตื้นจะเกี่ยวโยงกันกับการเปลี่ยนแปลงใต้เปลือกโลกที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว

ส่วนเว็บไซต์ฟอร์บส์ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวจากศูนย์ชีววิทยาในแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา ระบุว่ายังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ความเกี่ยวโยงทางวิทยาศาสตร์ระหว่างการเกิดแผ่นดินไหวกับการพบปลาออร์ได้ เนื่องจากเมื่อปี 2556-2558 มีปลาออร์ถูกจับได้ รวมถึงปลาออร์ที่เกยตื้นบริเวณชายหาดแถบซานตาแคตาลินา และซานตามอนิกา ซึ่งเชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเปลือกโลกซานแอนเดรียในสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เกรงว่าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ก็ไม่มีภัยธรรมชาติใดๆ เกิดขึ้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ปลาออร์ที่เกยหาดหรือว่ายขึ้นสู่น้ำตื้นจนถูกชาวประมงจับได้นั้นอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น เกิดแรงดันหรือพบก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล รบกวนที่อยู่อาศัยของปลาออร์

  • ปลาออร์ถูกพบในทะเลฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น 7 ตัวแล้วนับตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2562

ภาพ: Ramon Kagie on Unsplash และ @Uozuaquarium

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: