ไม่พบผลการค้นหา
เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะของญี่ปุ่นผ่านไปแล้ว 7 ปี แม้ผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของคนในพื้นที่ยังคงอยู่เช่นเดียวกับสารกัมมันตรังสีที่ยังไม่สลายไป แต่ทุกฝ่ายก็ยังพยายามฟื้นฟูให้ฟุกุชิมะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ประชาชนประมาณ 160,000 คนต้องอพยพจากบ้านเรือนของตัวเอง หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้รับความเสียหาย จนสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลรั่วไหลออกมา จากนั้น รัฐบาลก็ทยอยยกเลิกคำสั่งอพยพตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ชาวฟุกุชิมะค่อยๆ กลับไปใช้ชีวิตอย่าง "ปกติ" ที่บ้านของตัวเอง ทำให้เหลือคนที่ยังพลัดถิ่นอยู่ประมาณ 80,000 คน แต่การกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่เดิมไม่ได้ทำให้ความรู้สึกกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

ความปลอดภัย

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่งเปิดเผยผลการสำรวจว่าสารกัมมันตรังสีจะยังคงปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ห้ามเข้าต่อไปอย่างน้อยถึงปี 2050 หรืออาจอยู่ต่อไปถึงศตวรรษที่ 22 และโครงการขจัดการเปื้อนสารกัมมันตรังสีของรัฐบาลก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาประมาณร้อยละ 70 - 80 ก็ไม่สามารถขจัดสารกัมมันตรังสีออกไปได้ และสารกัมมันรังสีที่สะสมอยู่ในป่าก็แผ่เข้าไปในหมู่บ้าน


ฟุกุชิมะ

นายยัน ฟันเดอ พุตเทอ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีเจ้าของโครงการสำรวจของกรีนพีซกล่าวว่าพื้นที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตประชาชนกลับเข้าไปได้ ยังมีระดับรังสีสูงมาก เทียบเท่ากับพื้นที่ที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไป ประชาชนที่กลับไปในพื้นที่มีทั้งเด็กและหญิงตั้งครรภ์ต่างเสี่ยงจะได้รับรังสีในระดับเดียวกับการทำเอ็กซเรย์ทุกสัปดาห์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

ระดับรังสีภายในบ้านและในพื้นที่รอบหมู่บ้านในฟุกุชิมะยังสูงประมาณ 0.2 - 0.8 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง สูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ถึง 3 เท่าที่ 0.23 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง และระหว่างการตรวจสอบช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมปี 2017 ที่ผ่านมา บางพื้นที่ของเมืองนะมิเอะและหมู่บ้านอีตาเตะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าประมาณ 40 กิโลเมตรกลับมีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าปีก่อนอีกด้วย


รัฐบีบให้กลับบ้าน

ผู้อพยพที่ออกจากฟุกุชิมะโดยสมัครใจกว่า 27,000 คนไม่ได้รับเงินชดเชยค่าที่พักจำนวน 26,000 บาทต่อเดือนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 แล้ว เนื่องจากรัฐบาลระบุว่าบ้านเรือนของพวกเขาอยู่ในเขต "ปลอดภัย" แล้ว ทำให้หลายฝ่ายออกมาประณามว่ารัฐบาลญี่ปุ่นบีบบังคับผู้ประสบภัยทางอ้อม เพื่อไม่มีทางเลือกมากนักจนต้องยอมกลับบ้านในฟุกุชิมะ

โนริโก มัตสึโมโตะ หนึ่งในผู้อพยพออกจากฟุกุชิมะโดยสมัครใจกล่าวว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นโยนความผิดให้คนที่อพยพโดยสมัครใจว่าพวกเขาอพยพออกมา "อย่างเห็นแก่ตัว" พวกเขาจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เอง ทั้งที่พวกเขามองว่าบ้านของพวกเขายังไม่ปลอดภัยจากสารกัมมันรังสี และเชื่อว่ารัฐบาลพยายามบิดเบือนผลกระทบของสารกัมมันรังสีที่มีของร่างกาย ของผู้อาศัยในพื้นที่ ให้น้อยกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะผลของการรับสารกัมมันรังสีในระยะยาว


สร้างบ้านแปงเมือง

ปฏิบัติการฟื้นฟูฟุกุชิมะของรัฐบาลญี่ปุ่นจะเน้นไปที่การขจัดสารกัมมันรังสีปริมาณ มหาศาลที่ยังปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ แต่สารกัมมันตรังสีไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้หลายคนไม่ยอมกลับบ้าน ยังมีเรื่องบริการที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตประจำวันยังขาดแคลน แม้จะมีร้านสะดวกซื้อเล็กๆ อยู่ในพื้นที่ แต่ก็ต้องขับรถออกไปซื้อที่เมืองอื่น หากต้องการซื้อข้าวของจำเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้จะจะมีคลินิกที่สามารถจ่ายยาและผ่าตัดเล็กในเมืองนะมิเอะ แต่ประชากรส่วนใหญ่ที่กลับไปเป็นคนสูงอายุที่ต้องการทันตแพทย์และจักษุแพทย์


ฟุกุชิมะ

สำนักข่าวอะซะฮี ชิมบุนระบุว่าปัญหานี้เกิดจากประชากรในพื้นที่ยังน้อยมาก ทำให้ร้านค้าและบริการต่างๆ ไม่เข้าไปในพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้การกลับไปอยู่บ้านเป็นเรื่องยุ่งยากและอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ปัญหาวนอยู่ที่เดิม รัฐบาลจึงมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องการกลับไปอยู่ในชุมชนเดิมของตัวเองอย่างสมัครใจ เช่นจัดบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ หรือออกนโยบายส่งเสริมการตั้งธุรกิจในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม นโยบายปัจจุบันคือการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่อย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานและหุ่นยนต์ หรือสนามกีฬา ซึ่งล้วนเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและใช้เวลาสร้างยาวนาน ทั้งที่ควรช่วยสร้างชุมชนสำหรับประชาชนในพื้นที่เสียก่อน


คืนชีวิตของเมืองด้วยเด็ก

ปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ที่กลับไปในพื้นที่เป็นคนสูงวัยที่ต้องการใช้ชีวิตช่วงบั้น ปลายในบ้านที่คุ้นเคย แต่การไม่มีคนรุ่นใหม่ในพื้นที่แสดงถึงความผิดปกติในฟุกุชิมะ จึงมีการเปิดโรงเรียนในฟุกุชิมะเพื่อจูงในให้พ่อแม่นำลูกกลับไปอยู่ในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีเด็กเรียนอยู่ในพื้นที่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของนักเรียนที่เคยเรียนในพื้นที่ช่วงก่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด


เด็กฟุกุชิมะ

จำนวนเด็กที่น้อยลงทำให้ต้องรวมโรงเรียนหลายแห่งเข้าด้วยกัน ซึ่งบางโรงเรียนที่รวมกันแล้ว ก็ยังมีนักเรียนอยู่ประมาณสิบกว่าคนเท่านั้น แต่การรวมโรงเรียนทำให้นักเรียนต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงในการเดินทางหลายสิบกิโลเมตรบนถนนแคบๆ เพื่อไปโรงเรียน ทำให้พ่อแม่หลายคนรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม คนในฟุกุชิมะก็มองว่า การได้เห็นเด็กๆ เติบโตในพื้นที่ ทำให้เมืองดูสดใสและมีอนาคตมากขึ้น ซึ่งเป็นกำลังใจที่สำคัญสำหรับการต่อสู้กับความยากลำบากในการฟื้นฟูฟุกุชิมะ ให้กลับมาเป็น "ปกติ" อีกครั้ง


ที่มา: Greenpeace, The Guardian, Asahi Shimbun, The Japan News


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: