วันที่ 3 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม นัดหมายสื่อมวลชนแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการพิจารณาและการยกเลิกการปล่อยชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศาลยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา
โดยระบุว่า การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคดี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้มีการกำหนดไว้แล้วว่า กรณีใดบ้างที่สามารถประกันตัว หรือคุมขังไว้ได้ ทั้งนี้ ป้องกันการหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรืออันตรายอื่นๆ
“ศาลยุติธรรมจึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลในหลายปัจจัย โดยคำนึงว่าแต่ละคดีแตกต่างกันอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของผู้เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ศาลก็เป็นหน่วยงานที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อยไม่ไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย แต่ละคดีจึงต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างปัจจัยต่างๆ เหล่านี้” สรวิศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม โฆษกศาลยุติธรรม ยืนยันว่า ในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะพิจารณาหรือมีคำสั่งเป็นไปโดยอิสระปราศจากการแทรกแซง ขณะที่เงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งสังคมมีการตั้งคำถามว่าอยู่ในอำนาจของศาลหรือไม่ เรื่องทุกอย่างไปตามหลักพื้นฐานของกฎหมาย ล้วนขึ้นอยู่กับบริบทของคดีความแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป ว่ามีความจำเป็นของเงื่อนไขอย่างไร
สรวิศ ได้กล่าวถึงกรณี ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ 2 นักกิจกรรมเยาวชนได้เพิกถอนสิทธิประกันตัวของตนเอง และประท้วงอดอาหารพร้อม โดย สรวิศ ชี้แจงว่า เดิมทีเมื่อมีการฝากขังที่ศาล ศาลก็ให้ประกันตัวไปโดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขที่เป็นประเด็นในภายหลัง โดยเป็นเงื่อนไขกว้างๆ เช่น ห้ามเข้าร่วมการชุมนุม หรือก่อความวุ่นวาย ผ่านไป 10 กว่าวัน จึงได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิประกันตัว เนื่องจาก ทานตะวัน มีการกระทำฝ่าฝืนเงื่อนไข เช่น การไลฟ์สดระหว่างขบวนเสด็จ ต่อมาจึงได้มีเงื่อนไขเพิ่มเติม เนื่องจากการทำผิดเงื่อนไขในครั้งแรก การกำหนดเงื่อนไขจึงขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของคดีความแต่ละเรื่อง จึงล้วนมีที่มาที่ไป
ทั้งนี้ ในเรื่องเงื่อนไข สรวิศ เผยว่า สำหรับกรณีดังกล่าวมีการขออนุญาตออกจากบ้านมา 19 ครั้ง และศาลไม่อนุญาตเพียง 6 ครั้ง โดยศาลอนุญาต 14 ครั้ง มีทั้งออกไปสอบ ไปรับประทานอาหาร ไปพักผ่อนกับครอบครัวที่ จ.ระยอง หรือไปพบเพื่อน ส่วนครั้งที่ไม่ให้อนุญาตเนื่องจากอาจเกี่ยวโยงไปสู่การกระทำผิดเงื่อนไข
ขณะที่การไต่สวนถอนประกันเองของผู้พิพากษา ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากสัญญาประกัน เป็นคู่สัญญาระหว่างศาลและจำเลย พนักงานสอบสวนไม่ได้มาเป็นคู่สัญญาด้วย การถอนประกันในลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งมี เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าว ซึ่งหากสถานการณ์หรือพฤติการณ์แตกต่างไป ศาลก็อาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้เช่นกัน
"กระบวนการใช้ดุลยพินิจพิจารณาต่างๆ ไม่ว่าจะเพิกถอนประกันหรืออะไรก็ตาม ก็เป็นไปตามกฎ แม้จะมีการตั้งคำถามว่ากฎหมายบางข้อควรมีหรือไม่มี แต่ข้อเท็จจริงคือกฎหมายนั้นยังมีอยู่ แต่จะพิจารณาว่าแค่ไหนเพียงไรที่ควรเป็นความผิด ก็อีกเรื่องหนึ่ง"
เมื่อถามว่าการที่ ตะวัน และ แบม ขอถอนประกันตัวเองเพื่อประท้วงเรียกร้อง ศาลที่ไต่สวนคำร้องนั้นได้คาดถึงเหตุการณ์นี้มาก่อนหรือไม่ โฆษกศาลยุติธรรม อ้างกฎหมายกำหนดไว้ว่า เมื่อมีการมาส่งตัวที่ศาล ศาลต้องรับตัวไว้ เพราะสัญญาประกันสิ้นสุด จึงไม่สามารถใช้ดุลยพินิจได้ หากศาลไม่รับไว้จะขัดต่อกฎหมาย และศาลไม่มีอำนาจจะไปตรวจสอบที่มาที่ไปของการส่งตัว ว่าจะเข้ามาทำสิ่งใดในเรือนจำ
สำหรับข้อเรียกร้องของตะวัน และ แบม ที่ขอให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พิจารณาแก้ไขมูลความผิด และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 นั้น สรวิศ กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำว่าปฏิรูป หากมีการพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ศาลเองพร้อมยอมรับ แต่ข้อเรียกร้องอื่นๆ นั้น อาจอยู่นอกขอบเขตอำนาจศาล เพราะศาลเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ไม่สามารถเลือกเองได้ว่าจะบังคับใช้กฎหมายใด เพราะจะก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม หากในทางการเมืองมีความเปลี่ยนแปลง ศาลย่อมต้องปฏิบัติตาม
เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ศาลมักเป็นตำบลกระสุนตก สืบเนื่องจากข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อการพิจารณาคดีทางการเมือง โฆษกศาลฯ ระบุว่า ศาลเป็นองค์กรตุลาการ ไม่ใช่องค์กรทางการเมือง แม้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง แต่ศาลคงไม่หนักใจกระแสกดดัน แต่หนักใจเรื่องความเป็นธรรมสอดคล้องกับกฎหมาย
ส่วนกรณีการอดอาหาร ศาลได้มีดำริจะพูดคุยเป็นการภายในเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกบ้างหรือไม่ เพื่อให้ข้อสงสัยของสังคมน้อยลง สรวิศ ย้ำว่า ศาลพยายามดูแลภารกิจของเรา ดำเนินการเฉพาะส่วนที่อยู่ในขอบเขตการรับผิดชอบ ส่วนอื่นนอกคดีความต้องอาศัยภาคส่วนอื่นๆ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรม และใช้วิธีอดอาหาร หากทั้ง 2 ถึงแก่ชีวิต จะส่งกระทบอย่างไรต่อศาล และจะรับมืออย่างไร สรวิศ ชี้ว่า ตั้งแต่การอดอาหาร ศาลได้รับข้อมูลเป็นเพียงรายงานทางการแพทย์เพียง 1 ฉบับ ซึ่งพิจารณาแล้ว เป็นอาการทั่วไป แต่มีความเป็นไปได้อยู่แล้วว่าต่อเหตุการณ์นี้ สังคมย่อมเกิดความรู้สึกร่วมเกิดขึ้นโดยสภาพ ซึ่งใช่ว่าศาลปิดหูปิดตา แต่ยังรับฟังอยู่ เพียงแต่ตอนนี้ ศาลมีเพียงรายงานทางการแพทย์ 1 ฉบับเท่านั้น
เมื่อถามต่อไปว่า แล้วการชุมนุมเรียกร้อง หรือรวบรวมรายชื่อต่างๆ ของภาคประชาชนที่สืบเนื่องจากการอดอาหารนี้ ศาลจะนำมาพิจารณาร่วมด้วยหรือไม่ สรวิศ ระบุว่า ข้อเท็จจริงคือต้องพิจารณาจากสำนวนคดี ข่าวที่ปรากฏภายนอกยากที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่สำนวนคดีมีกระบวนการทางกฏหมายตรวจสอบให้ข้อมูลใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด แต่สภาพภายนอกไม่มีการกลั่นกรอง คงยากที่จะหยิบข้อมูลใดมาพิจารณาเพิ่มเติม
เมื่อถามถึงกรณีศาลอนุมัติคำสั่งให้ถอดกำไลอีเอ็มขณะปล่อยตัวชั่วคราว ของ พิงกี้-สาวิกา ไชยเดช นักแสดง และจำเลยที่ 7 คดีฉ้อโกงแชร์ FOREX-3D นั้น มีความเกี่ยวเนื่องมาสู่การอนุญาตถอดกำไลอีเอ็มของจำเลยคดีการเมืองอีกหลายรายตามมาหรือไม่ สรวิศ ชี้แจงว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขของการประกันตัวชั่วคราว สามารถกำหนดให้สอดคล้องกับคดีแต่ละขณะ ก่อนปลดกำไลอีเอ็มใน พิงกี้ ได้มีการทำแบบทดสอบการเคลื่อนไหวของกำไลมาประกอบก่อน ว่าพฤติการณ์น่าเป็นห่วงหรือไม่ พร้อมย้ำว่าเป็นเพียงการปลดอีเอ็มชั่วคราว
ส่วนกรณีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่น หลายคดีทางการเมือง สรวิศ ชี้ว่า ไม่ได้แตกต่างจากคดีอื่น เพราะหากพฤติการณ์เปลี่ยนไป เงื่อนไขก็เปลี่ยนตามได้ สำหรับคดีความผิดมาตตรา 112 นั้น มี 55 คดี แทบทุกคดีมีประวัติการปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่เพียงบางคดีทีฝ่าฝืนเงื่อนไข หรือมีพฤติกรรมีรุนแรง ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าต่อไปจะสามารถอนุญาตได้เลย เพียงแต่ช่วงนี้อาจมีคำขออนุญาตปลดกำไลมาพร้อมกันเยอะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดแถลงข่าวของโฆษกศาลยุติธรรม เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมรับฟังการแถลงด้วย รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ได้รับสิทธิการประกันตัวชั่วคราวจากคดีทางการเมือง เช่น บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม แอนนา ทะลุวัง ไหม-ธนพร วิจันทร์ สายน้ำ-นภสินธุ์ ไปจนถึง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในช่วงหนึ่ง ทนายกฤษฎางค์ ได้ร่วมสอบถามโฆษกศาลยุติธรรม ว่าข้อเรียกร้องของตะวัน-แบม ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนั้น ศาลจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ โดยโฆษกศาลฯ ชี้ว่า การปรับปรุงหรือปฏิรูปก็เป็นคำที่เป็นนามธรรม สามารถทำได้หลากหลายวิธีตามแต่ละคนจะคิด
ด้าน เนติพร ก็ได้ตั้งคำถามต่อโฆษกศาลฯ ว่าศาลได้มีการส่งข้อมูลการเคลื่อนที่ของกำไลอีเอ็มที่ติดตัวนักกิจกรรมให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมานักกิจกรรมได้รับโทรศัพท์จากตำรวจเพื่อแจ้งว่า ขณะนี้รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วตำรวจได้ข้อมูลได้อย่างไร
ทำให้ โฆษกศาลฯ ปฏิเสธทันทีว่า คงไม่ใช่ เพราะข้อมูลของกำไลอีเอ็มใช้เฉพาะในกิจการของศาล และไม่สามารถตอบได้ว่าตำรวจรู้ตำแหน่งของกำไลได้อย่างไร เพราะตนก็ไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการทำงานภายในของตำรวจ