ไม่พบผลการค้นหา
ฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วนช่วยชีวิต 'ตะวัน-แบม' เพื่อสิทธิเสรีภาพทางการเมือง 'ภูมิใจไทย' ยอมถอย หลัง 'เพื่อไทย' รับปากไม่ทำสภาล่มวาระกัญชาฯ 'ชลน่าน' ชี้ปฏิรูปกระบวนการศาลทำได้ทันที ขอศาลมีเมตตาถอดกำไลอีเอ็มนักโทษ

วันที่ 1 ก.พ. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา สืบเนื่องจากกรณีตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงศ์ 2 เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง ได้อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวอย่างเป็นธรรมให้กับนักโทษทางการเมืองทุกคน เนื่องจากหากปล่อยเหตุการณ์นี้บานปลายไป อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของทั้งสอง รวมถึงความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม

ทั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปรายเปิดญัตตินี้ จึงได้ร้องขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรบรรจุญัตตินดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระตามที่เห็นสมควร

อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.จากพรรคภูมิใจไทย ได้ทักท้วงการเสนอญัตติดังกล่าว เนื่องจากวาระเดิมของที่ประชุมสภาฯ คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ และค้างอยู่ในวาระเป็นเวลานานแล้ว ทั้งยังถูกสกัดมาหลายครั้ง 

ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า ญัตติของฝ่ายค้านมีความสำคัญจริง แต่ตนเห็นว่าควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา ให้แล้วเสร็จไปก่อน เนื่องจากมีความสำคัญเช่นกัน แล้วให้นำญัตติของฝ่ายค้านมาพิจารณาต่อในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ซึ่งจะมีเวลาอภิปรายอย่างเต็มที่ไม่ถูกจำกัดเพียง 2 ชั่วโมง เช่นวันนี้

แต่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ย้ำว่า ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอ แม้จะเลื่อนไปอีกเพียง 1 วัน แต่เป็นเวลาชีวิตของ ตะวัน-แบม ซึ่งอดอาหารมาแล้วหลายสัปดาห์ หากเลื่อนไปอีกวันอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านต้องขอความกรุณาให้สภาฯ รับฟังข้อเสนอนี้เพียง 2 ชั่วโมง แล้วจะพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา ต่อไปแน่นอน

กระทั่ง ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในเมื่อฝ่ายค้านมีความเป็นห่วงเด็กทั้ง 2 คน พรรคภูมิใจไทยก็ใจกว้างพอที่จะยอมให้เสนอญัตติ แต่มีเงื่อนไขว่า เมื่อถึงเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ต้องอยู่เป็นองค์ประชุมให้ด้วยเหมือนกัน ถือเป็นสัจจะลูกผู้ชาย

ขณะที่ จุลพันธ์ กล่าวขอบคุณพรรคภูมิใจไทย พร้อมรับปากว่าจะอยู่เป็นองค์ประชุมให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ตลอดทั้งวัน จนถึงช่วงเย็น เมื่อไม่มีผู้คัดค้านแล้ว ประธานสภาฯ จึงใช้อำนาจตามข้อบังคับที่ 88 บรรจุญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณา


'สมศักดิ์' ห่วงสุขภาพ 'ตะวัน-แบม'

ในช่วงหนึ่ง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวตอบรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงศ์ 2 เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นอย่างยิ่ง

สิ่งสำคัญที่ตนได้พิจารณาหารือกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กรณีให้เยาวชนทั้ง 2 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่น ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ดี แต่จากสภาวะของร่างกายเข้าขั้นวิกฤต น้ำหนักลดลงไป 10 กว่ากิโลกรัม อาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงเชื่อว่าทำถูกที่ได้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ตอบรับมาอย่าวรวดเร็ว และเยาวชนทั้ง 2 ก็สมัครใจ

สมศักดิ์ ยังเผยว่า เมื่อวานได้มีการหารือกันระหว่างตน ปลัดกระทรวงยุติธรรม พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ แอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่งตนพยายามเก็บการหารือดังกล่าวเป็นความลับ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ จนได้ข้อตกลงกันว่าสมควรต้องหาหนทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญมีช่องว่างให้สามารถทำได้อยู่

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้หารือกันในช่วงเช้า ระหว่าง วสันต์ ภัยหลีกลี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ปริญญา เทวนฤมิตร ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจและตกลงทำงานร่วมกัน ส่วนที่กระทรวงยุติธรรมสามารถทำได้เลย จะลงมือทันทีโดยไม่รอช้า เพราะเวลาในตำแหน่งของตนเหลือไม่มาก

“ผมต้องขอขอบคุณ ส.ส. และหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ได้จี้อย่างตรงจุดที่ผู้เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจโดยตรงได้รับรู้ปัญหา หากปล่อยให้ผู้คนรำไรกันอยู่ อาจทำให้น้องเขาเสียชีวิตได้ ผมสะเทือนใจมาก เมื่อเห็นเด็กอายุ 21-22 ปี อดอาหารกันอย่างจริงจัง ไม่ได้อดหลอกๆ สิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือ เขาเริ่มดื่มน้ำได้บ้าง เพราะจะเป็นยืดชีวิตของเขาให้เรามีเวลาแก้ไขปัญหา”

ทั้งนี้ ข้อสรุปของการหารือมีอยู่ว่า กระทรวงยุติธรรมพร้อมพิจารณาปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ คุมขังแต่โดยจำเป็นไม่ให้หลบหนี และนักโทษทางความคิดที่ยังไม่ได้พิพากษา ให้คุมขังที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำ และกระทรวงยุติธรรมพร้อมสนับสนุนหลักทรัพย์ประกันตัวผ่านกองทุน

“ขอบคุณประธานสภาฯ และสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่ได้หยิบยกปัญหามาพูด ผมมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นแนวทางโลกสมัยใหม่ที่จะพลิกผันความรู้สึกที่เป็นปัญหาในอดีตทั้งหลาย จากการกระทำของน้อง 2 คน ที่อดอาหารอย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นการอดอาหารจริงๆ ไม่เหมือนอดีตที่อาจจะแอบกินตอนกลางคืนบ้าง แต่ผมได้ถามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และแพทย์ ได้ทราบถึงความเอาจริงเอาจังของทั้ง 2 คนนี้” สมศักดิ์ กล่าว


'ชลน่าน' ชี้ปฏิรูปกระบวนการศาลทำได้ทันที

จากนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาหาแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ล้นเกินและขัดต่อหลักนิติธรรม ต่อผู้ต้องขังและผู้เห็นต่างทางการเมือง และให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบมาตรการให้รัฐบาลไปพิจารณาดำเนินการ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายเปิดญัตติว่า ต้องการให้สภาผู้แทนราษฎร หามาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายจนละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองในขณะนี้ จนมีการประท้วงด้วยการอดอาหาร ซึ่งเหตุการณ์นั้นยังปรากฏอยู่ โดยมีข้อเท็จจริงว่า เยาวชน 2 คนคือ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์) ที่ถูกคุมขังอยู่ ใช้ชีวิตและร่างกายของตัวเองต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมด้วยการอดอาหาร มาเป็นเวลา 12 วันนับถึงวันนี้ 

“น้องทั้งสองจำเป็นต้องใช้ชีวิตของตัวเอง เป็นข้อเรียกร้อง ข้อแลกเปลี่ยน ผู้ที่เห็นด้วยในการต่อสู้เรียกร้อง แม้ไม่เห็นด้วยในวิธีการที่ใช้ชีวิตตัวเอง ก็ไปร่วมยืนหยุดขังเพื่อเสนอไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้รับพิจารณา”

สำหรับข้อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาและการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ แต่ไม่เกินอำนาจของคณะรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน เสนอว่า ข้อนี้สามารถเริ่มต้นโดยผู้มีอำนาจตอบรับ หามาตรการรองรับ เปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อส่งสัญญาณบอกน้องทั้งสองได้ว่าข้อที่หนึ่ง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

รวมถึงขอให้ยุติดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ การชุมนุม และการแสดงออกทางการเมือง ขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง คือสิทธิการประกันตัว จำกัดเสรีภาพเกินขอบเขตที่มนุษย์จะรับได้


ขอศาลมีเมตตาถอดกำไลอีเอ็มนักโทษ

“ติดกำไล EM จำกัดพื้นที่ 24 ชั่วโมง คนนะครับ ท่านประธานครับ ไม่ใช่สัตว์ แม้แต่สุนัขที่ท่านเลี้ยงไว้ ท่านมัดคอและล่ามโซ่ไว้ตลอดเวลา มันต้องแยกเขี้ยว มันต้องเห่า และสำคัญมันต้องกัดเจ้าของมัน เพราะฉะนั้น สิทธิตรงนี้มันทำเกินเหตุ การประกันตนภายใต้เงื่อนไขอย่างนี้ ฝากท่านประธานกราบเรียนไปท่านรัฐมนตรี แม้ไม่ใช่หน้าที่ท่านในกระบวนการยุติธรรม แต่ด้วยความเคารพ ขอให้ผู้มีอำนาจ ผู้พิพากษา ศาลใช้ดุลพินิจอันชอบธรรม ต้องนำไปพิจารณา”

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า องค์ประมุขของประเทศยังพระราชทานพระราชดำรัสต่อคณะผู้พิพากษาคราวถวายสัตย์ทุกครั้งว่า การใช้ดุลพินิจต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย เป็นไปตามมนุษยธรรม และมีความเมตตา 

“ต้องถอดกำไล EM ให้ได้ ทำได้ทันที และเชื่อมั่นว่าถ้าทำเรื่องนี้ น้องทั้งสองพอใจ” 

และอีกประการคือ ขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะคดีการเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116

นพ.ชลน่าน มองว่า ในเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ใช้ดุลพินิจดูรายละเอียดว่าตอบสนองข้อเรียกร้องในเรื่องนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าความเห็นแต่ละพรรคแต่ละฝ่ายย่อมแตกต่างกัน เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีข้อเห็นต่างอย่างแหลมคมและละเอียดอ่อนมากในสังคมไทย การที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งจะรับไปแก้ไข มันประกาศได้ แต่จะแก้ไขได้หรือไม่ จะยกเลิกได้หรือไม่ มันไม่ใช่อำนาจพรรคการเมือง แต่เป็นอำนาจของรัฐสภาแห่งนี้ โดยรวมแล้ว การใช้ดุลพินิจก็ดี การใช้กฎหมายที่มากเกินไปก็ดี ไปจำกัดเสรีภาพก็ดี ล้าสมัยไม่พัฒนาก็ดีนั้น สามารถใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ปรับแก้ไขได้ 

นพ.ชลน่าน อภิปรายต่อไปว่า มาตรา 112 เป็นประมวลกฎหมายอาญาก็จริง แต่เขาถือว่าอยู่ในหมวดความมั่นคงของประมุขแห่งรัฐและราชวงศ์ ซึ่งถือว่าหมิ่นเหม่มาก เพราะปัจจุบันนำมาใช้อย่างขาดหลักนิติธรรม ขาดดุลพินิจที่พึงมีพึงชอบ ผลกระทบจึงเกิดต่อประชาชน ต่อสถาบันที่เป็นที่เคารพรักของพวกเรา จึงเป็นการแอบอิงแอบอ้างที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง หากฝ่ายที่เห็นอย่างสุดขั้วว่าห้ามแตะต้อง อีกขั้วหนึ่งที่อยากพัฒนากฎหมายให้สมบูรณ์ขึ้น จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ล้มล้างสถาบันฯ ทันที ดังนั้น ต้องกำจัดความเห็นต่างก่อน เพื่อหาจุดร่วมในสังคมไทย อาศัยเวทีพูดคุยให้ได้

“ปากบอกว่าจงรักภักดี ต่อการกระทำมันไม่ใช่ เพราะฉะนั้นสภาฯ แห่งนี้มาช่วยกันหามาตรการว่าเราจะมีแนวทางอย่างไร ส่วนพรรคไหนพรรคใดจะรับข้อเสนอไปก็แล้วแต่ดุลพินิจ”

นพ.ชลน่าน ยังมีความเป็นห่วงว่า หากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 มี.ค. แล้วปล่อยให้เหตุการณ์นี้บานปลาย หรือชักใยอยู่อย่างนั้น ไม่ทำอะไรเลย ถือว่าอำมหิตมากกับการใช้ชีวิตคนทั้ง 2 แลกกับการสืบทอดอำนาจต่อไปโดยไม่มีการเลือกตั้ง 

“หากข้อกล่าวหาผมเป็นจริง ต้องสืบเสาะให้ได้ว่า มันเป็นใคร มันสมควรอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ เพียงต้องการแค่สืบทอดอำนาจ ก็เอาชีวิตของมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของเขา ไปแลกกับความต้องการของคุณ” 

นพ.ชลน่าน กล่าวสรุปว่า ฝ่ายค้านฯ เห็นความสำคัญ จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมนำเสนอมาตรการและแนวทางการแก้ไข เพราะอยากให้ทุกฝ่ายเห็นชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ จึงขอฝากไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้ดูแลกรมราชทัณฑ์ จากกรณีที่น้องขอไปรักษาตัวในโรงพยาบาลอื่นไม่ใช่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แปลว่าเขาไม่มั่นใจในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ใช่หรือไม่ ซึ่งข้อกังวลและสงสัยนี้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีในการไปหามาตรการที่จับต้องได้ให้

ในฐานะแพทย์ นพ.ชลน่าน ยังเสนออีกประเด็นว่า จริยธรรมและจรรยาบรรณของแพทย์ยังต้องฝืนเจตนารมณ์ของน้องทั้งสองคน หากตรวจสัญญาณชีพสุ่มเสี่ยงจะสูญสิ้นไป ก็ต้องตัดสินใจให้การรักษา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการประท้วงของน้องจะไม่เป็นผล เราเคารพเจตนารมณ์เขาบนพื้นฐานเจตนารมณ์ของข้อเรียกร้อง แต่เราต้องรักษาชีวิต

นพ.ชลน่าน กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นข้อเท็จจริง เป็นเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอญัตตินี้ พร้อมเสนอเป็นมาตรการให้สภาฯ ดำเนินการ และหวังว่าจะส่งถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งรวมถึงองค์กรตุลาการ เพื่อนำสู่การปฏิบัติได้


'สมคิด' กังขาพิจารณาคดีการเมืองหลายมาตรฐาน

สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นสิ่งดีที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลรับเรื่องนี้มาหารือ เมื่อ 9 พ.ย. 2564 พรรคเพื่อไทยเคยเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการใช้บังคับกฎหมายที่ล้นเกินและขัดต่อหลักนิติธรรมต่อนักโทษทางการเมือง เราพยายามเลื่อนมาหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่ให้เลื่อน วันนี้มีโอกาสจึงถือเป็นเรื่องดี

ทุกๆ นาทีมีความสำคัญ กระบวนการยุติธรรมถึงเวลาหรือยังต้องแก้ไขปรับปรุง ตามที่คนรุ่นใหม่เรียกร้อง วันนี้การใช้ดุลยพินิจทางกฎหมายต่างกันไปแต่ละแห่ง ในการพิจารณาคดีทาวการเมืองแบบเดียวกัน เจ้าพนักงานแต่ละแห่งกลับใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีต่างกันไป บางโรงพักให้ประกันตัว บางแห่งก็ไม่ให้

“โดยเฉพาะคดี 112 หลายท่านก็บอกว่าต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง แต่ใครพูดถึงมาตรา 112 ก็เหมือนจะกลายเป็นการล้มล้างสถาบันฯ ไปกันเสียนู่น แทนที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่หรือใครก็ฟ้องร้องได้ เราเอาคระกรรมการบางชุดขึ้นมาดูไหม ว่าแบบไหนสมควรไม่สมควร อาจจะเป็นการปกป้องสถาบันฯ ด้วยซ้ำไป”

คนรุ่นใหม่เหมือนลูกหลานของเรา เขามีแนวคิดของเขา เราควรต้องรับฟัง การใช้ดุลยพินิจต่อคดีทางการเมืองต้องแก้ไข คดีทางการเมือง คดีคนคิดต่าง ไม่ให้ประกัน คดีฆ่าคน ข่มขืน กลับมีการประกันตัวเยอะแยะ เหตุใดไม่กลัวเขาหนี เป็นเหตุจากเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจจนเกินไป เอากฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง

“ผมก็เคยโดน ยึดอำนาจใหม่ๆ ก็บอกความมั่นคง เรียกไปปรับทัศนคติ ผมว่าควรไปปรับทัศนคติคนที่ยึดอำนาจมากกว่า เหล่านี้ทางพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันศึกษา แต่ไม่มีโอกาส ทั้งที่เสนอมาปีกว่า วันนี้ชีวิตของลูกหลานทั้ง 2 คน เราจะต้องช่วยกันสะท้อนให้เห็นทุกคนว่าเราพยายามเต็มที่จะเอามาพูดในสภาฯ” สมคิด กล่าว