ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม คกก. วัตถุอันตรายยืนตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะห้ามใช้ 'พาราควอต' ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 อ้างข้อมูลกรมวิชาการเกษตรชี้ ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราควอต ขอเวลาศึกษาวัตถุทดแทนอีกสักระยะหนึ่ง ฟากเครือข่าย Thai-PAN ยืนยันเดินหน้ากดดันหยุดใช้ภายในปีนี้

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันนี้ (14 ก.พ.) เป็นการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอแนะให้ห้ามการใช้พาราควอตในวันที่ 1 ม.ค. 2563

โดยในระหว่างที่จะห้ามการใช้พาราควอต ได้เสนอแนะให้กรมวิชาการเกษตรมีมาตรการควบคุมกำกับดูแลให้มีการใช้สารอย่างถูกต้องปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายทั้งกับเกษตรกร ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอ คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา 

โดยกรมวิชาการเกษตรต้องรายงานให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทราบผลการดำเนินการ เพื่อพิจารณาทบทวนมาตรการเป็นระยะ ๆ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะโดยเฉพาะการกำหนดให้ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2563 คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการพิจารณาข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรนำเสนอ และข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน การพัฒนามาตรการทดแทน ที่กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการ ร่วมกับข้อมูลและความคิดเห็นของกลุ่มต่าง ๆ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตระหนักและให้ความสำคัญถึงอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ในการยกเลิกการใช้ จึงได้พิจารณาผลกระทบในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้มาตรการทดแทน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารทดแทนที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าพาราควอต แต่อาจใช้มาตรการหลาย ๆ ด้านร่วมด้วย ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรอยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงเห็นว่า มาตรการเกี่ยวกับการจำกัดการใช้ที่กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการ เมื่อประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 5 ฉบับ มีผลใช้บังคับ จะต้องมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ ขณะที่กำลังดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม จึงมีมติให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินมาตรการที่เข้มงวดและมีผลในการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเร่งพัฒนามาตรการทดแทนเพื่อเป็นทางออกให้เกษตรกร

เครือข่ายหนุนแบนสารพิษร้ายแรงเร่งหยุดใช้ภายในปีนี้

ขณะที่วันนี้ (14 ก.พ.) ในเพจของ 'เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช' หรือ Thai-PAN ออกแถลงการณ์กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต ว่าเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

เครือข่ายฯ ผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯทั้ง 5 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามมาดูโลก

รัฐบาลคสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

เครือข่ายฯขอขอบคุณ กรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

เครือข่ายขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆ ต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรง สะท้อนให้เป็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตรายที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลากรบางกลุ่มในคณะกรรมการกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก

เราเห็นการเติบโตและตื่นขึ้นของพลังประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการลุกขึ้นขององค์กรและสภาวิชาชีพต่างๆที่ลุกขึ้นเปล่งเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเกษตรกรรม อาหาร และชีวิตของพวกเราทั้งหมด พลังเหล่านี้จะเติบโตขยายตัวมากขึ้น

เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้น ในระยะเวลาอันใกล้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :