ไม่พบผลการค้นหา
ลอนดอนมาราธอน หนึ่งในงานวิ่งที่มีผู้ร่วมกันอย่างคับคั่ง หันมาใช้ 'แคปซูลน้ำ' เพื่อลดการใช้พลาสติกและการสร้างขยะพลาสติก

การแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลกประจำปี 2019 ได้แก่ ลอนดอนมาราธอน จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (28 เม.ย.) ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 41,000 คน ได้กลายเป็นงานวิ่งต้นแบบในการรณรงค์สิ่งแวดล้อม โดยในงานนี้ทางผู้จัดงานระบุว่า ต้องการที่จะลดการใช้ขวดพลาสติกน้ำถึง 200,000 ขวด โดยจะใช้ ‘Ooho capsules (อูโฮแคปซูล)’ แคปซูลบรรจุน้ำแจกจ่ายให้แก่นักวิ่งที่เข้าร่วมงานแทน

ฮิวจ์ แบรสเนอร์ ผู้อำนวยการจัดการแข่งขันกล่าวว่า "พวกเราพยายามจะเป็นผู้นำในการรณรงค์สิ่งแวดล้อม..นั่นคือจุดเริ่มต้นการหันมารณรงค์ในปีนี้ ซึ่งพวกเราคิดว่าจะช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้บ้างในอนาคต"

‘Ooho capsules (อูโฮแคปซูล)’ มีลักษณะเป็นแคปซูลทรงกลมขนาดใหญ่ ซึ่งบรรจุน้ำดื่มไว้ภายในเยื่อหุ้มที่มีลักษณะพื้นผิวใสคล้ายเจลลี่ที่สกัดมาจากสาหร่าย โดยผู้บริโภคสามารถบริโภคได้ทั้งน้ำและบรรจุภัณฑ์โดยไม่เป็นอันตราย ทางด้านผู้ผลิตอย่างบริษัท Skipping Rocks Lab ระบุว่า อูโฮแคปซูลนี้จะย่อยสลายตัวเองภายใน 6 สัปดาห์หากไม่มีการบริโภค 

แม้ว่านักวิ่งที่ร่วมงานหลายคนจะเห็นว่าการแจกจ่ายฮูโฮแคปซูลนั้นเป็นความคิดที่ดีในการลดการใช้พลาสติก แต่นักวิ่งจำนวนมากยังไม่กล้าที่จะรับประทาน เพราะพวกเขาเกรงว่า อาจจะทำให้เจ็บป่วยระหว่างการแข่งขันได้ เนื่องจากแคปซูลน้ำนี้ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการวิ่งมาราธอน 

นอกจากนี้ในลอนดอนมาราธอนยังมีการเปลี่ยนแปลงการแจกจ่ายน้ำแก่ให้ผู้ร่วมงาน เพื่อรณรงค์การใช้พลาสติกอีกและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัว เช่น

  • ลดจุดแจกจ่ายน้ำให้กับนักวิ่ง จาก 26 จุด เหลือเพียง 19 จุด ตลอดเส้นทาง 23 ไมล์ หรือประมาณ 37 กิโลเมตร
  • มีการใช้แก้วน้ำที่ย่อยสลายได้แทนการใช้ขวดพลาสติกในการแจกจ่ายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งลดปริมาณขวดพลาสติก 920,000 ขวด ในปี2018 เหลือเพียง 704,000 ขวดในปีนี้
  • แจกจ่ายแคปซูลลูกบอลน้ำที่สามารถดื่มได้ โดยไม่ต้องใช้แก้ว
  • แจกจ่ายขวดน้ำพลาสติกจากพลาสติกรีไซเคิลจำนวน 700 ขวดให้แก่นักวิ่งในระหว่างการแข่งขัน
  • ขวดพลาสติกในการแข่งขันทำจากพลาสติกรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์และ50 เปอร์เซ็นต์
  • มีการนำระบบดิจิตอลมาใช้แทนการพิมพ์ด้วยกระดาษ

งานวิ่งมาราธอนถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง ขณะที่ขยะพลาสติกได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างหนึ่งในปัจจบุัน รายงานในวารสารวิทยาศาสตร์ปี 2017 ระบุว่า มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกกว่า 8,300 ล้านตันแค่นั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ขณะที่พลาสติกกว่าอีก 79 ปอร์เซ็นต์ถูกส่งไปฝังดิน ขณะที่บางส่วนได้ถูกปล่อยลอยในทะเล

ที่มา CNN / BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: