เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า ศ.เสน่ห์มีบทบาทสำคัญในโครงการรัฐศาสตร์ศึกษาซึ่งผลิตปัญญาชนสาธารณะหลายคน
"ขอแสดงความเสียใจและอาลัยต่อการจากไปของ อ.ดร. เสน่ห์ จามริก ปรมาจารย์ของรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา, และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติคนแรก
โครงการรัฐศาสตร์ศึกษาของอ.เสน่ห์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ช่วงก่อน ๑๔ ตุลาฯ ๑๖ ได้ผลิตบัณฑิตที่ต่อมากลายเป็นปัญญาชนชั้นนำของประเทศเช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นต้น คณาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์หลายท่านที่สอนสืบต่อมาในคณะก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนมิตรต่างวัยของท่านเช่น อ.สมบัติ จันทรวงศ์, อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นต้น"
สินสวัสดิ์ ยอดบางเตย อดีตผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
"หลังจากที่ได้ปรึกษาหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านแล้ว ครูองุ่น มาลิก เป็นผู้ขอให้ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก (อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์๋เป็นอธิการบดี, อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) รับเป็น ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ท่านแรก ครูองุ่น มาลิก ถึงแก่กรรมวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๓ ต่อมาเมื่อสถาบันปรีดี พนมยงค์สร้างเสร็จและเปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๓๖ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ได้แต่งตั้ง ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์...
ในนามของผู้ดูแลครูองุ่น มาลิก และในฐานะที่เคยได้ร่วมงานทำกับอาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งได้ให้ความเมตตาเป็นอย่างดีเสมอมา ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้"
ศ.เสน่ห์ เกิดในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 11 กรกฎาคม 2470 ในจังหวัดพิจิตร จบชั้นมัธยมที่โรงเรียนราชบพิธ จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ อาชีพที่ทำยาวนานที่สุดคือการเป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ และมีผลงานเป็นหนังสือหลายเล่ม อาทิ การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, ปัญหาและอนาคตการเมืองไทย, ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน, รัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและ 60 ปีประชาธิปไตยไทย , ป่าชุมชนในประเทศไทย, สังคมไทยกับการพัฒนาที่ก่อปัญหา, สิทธิมนุษยชน : เกณฑ์คุณค่าและฐานความคิด, สิทธิมนุษยชน เส้นทางสู่สันติประชาธรรม, วิกฤตรัฐธรรมนูญ 2540 คือวิบากกรรมแผ่นดิน, เศรษฐกิจพอเพียงในกระแสโลกภิวัตน์ เป็นต้น
ประวัติการทำงานบางส่วน
2492-2493 : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
2493-2496 : กรมการเมืองกระทรวงต่างประเทศ
2501-2503 : กรมการเมืองกระทรวงต่างประเทศ
2503-2530 : อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2512-2515 : หวัหน้าโครงการรัฐศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2516-2517 : สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2517 : ร่วมก่อตั้งสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2518-2519 : รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2518 : ศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2521-2523 : หัวหน้าโครงการวิจัย "พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย"มูลนิธิฟอร์ด และมูลนิธิเอเชีย
2521-2552 : ประธานมูลนิธิโครงการตำาราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
2524-2528 : ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2524-2528 : นายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
2534-2535 : กรรมการ Council of Trustees, Thailand Development Research Institute. (TDRI)
2530 : ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา
2532-2534 : ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)