ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากที่พูดกันไปแล้วสองตอนแล้วหายไป วันนี้ ก็จะมาพูดอีกครั้งกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ฉบับ พรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ที่มีความสำคัญ และถูกจดจำในนาม “พรรคปลาไหล” พรรคที่มีต้นกำเนิด จากซอยราชครู อดีตกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจในยุคปลายพุทธศตวรรษที่ 2490 สู่วันนี้ที่เป็น “พรรคของคนสุพรรณฯ” ใช่ครับ ผมจะพาท่านผู้อ่านไป “นิทัศน์” พรรคชาติไทย

แอบบอกไว้ก่อนว่า มีความเกี่ยวข้องกับสองพรรคที่กล่าวมา โดยเฉพาะ พรรคชาติพัฒนา ตามไม่ทัน ให้ ตามลิงก์นี้ ไปอ่านกันก่อน และ พรรคความหวังใหม่ ไปกันเลย โก!

  • พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ พล.ต. ศิริ สิริโยธิน ตัดสินใจร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น เพื่อรื้อฟื้นอำนาจทางการเมืองของ “สายราชครู” ที่เคยเสียไป หลังจากการขึ้นสู่อำนาจของ “สายสี่เสาฯ” อย่าง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยจัดตั้งพรรค หลังจากเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516
  • ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคชาติไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน หนึ่งคือตัว พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ บรรหาร ศิลปอาชา กระนั้นก็ดี ฉายา พรรคชาติไทย ที่รู้จักกันมาตลอดตั้งแต่ยุคแรกๆ คือ “พรรคปลาไหล” จากความที่ “เข้ากับใครก็ได้” กับทุกรัฐบาล ไม่ว่าใครออกใครเข้า

การเมือง “ราชครู”

ก่อนที่จะพูดถึงพรรคชาติไทย เราคงต้องมาปูพื้นการเมือง ในยุคสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 2490 กันก่อน เพราะที่มาทั้งหมดที่กำลังจะกล่าวบทไป มีจุดกำเนิดอย่างไร…

ช่วงหลังจากปี 2494 ที่จอมพล ป. “ยึดอำนาจตัวเอง” สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเค้าลางเกิดเกิดการเมืองสามเส้าขึ้น

  1. กลุ่มหนึ่งคือ จอมพล ป. พิบูลสงครามเอง ที่เป็นเหมือน “ศูนย์กลาง” ของอำนาจ เพราะเป็นสมาชิกผู้ก่อการ 2475 เพียงคนเดียว ซึ่งทำให้นายทหารคนอื่นๆ ยังมีความเกรงใจ และ ความเคารพอยู่บ้าง
  2. กลุ่มสี่เสาฯ ที่นำโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์. สมาชิกคนสำคัญแห่ง คณะปฏิวัติ 2490 ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ. สืบต่อจาก จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ฐานกำลังนี้ ได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีฐานการเงิน จากการที่เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งในบริษัทต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 22 บริษัท โดยมีสมาชิกกลุ่มอย่าง พล.ท. ถนอม กิตติขจร พ.ต. ประภาส จารุเสถียร พ.ต. กฤษณ์ สีวะรา เป็นต้น
  3. กลุ่มราชครู ที่นำโดย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อดีตนายทหารบกที่เบนเข็มไปรับราชการตำรวจ ในระยะแรก จอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่เพราะความสนใจในธุรกิจของจอมพลผินมากกว่า เลยทำให้ พล.ต.อ. เผ่า มีอำนาจมากขึ้น โดยฐานอำนาจนี้คือตำรวจ ถ้านึกกันได้ จะมีประโยคที่ว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง" ซึ่งเป้นประโยคหนึ่งที่ทำให้คนรู้จัก และในช่วงเวลาที่ พล.ต.อ. เผ่า ดำรงตำแหน่ง ก็ได้ปรับปรุงราชการตำรวจเสียใหม่ เช่น การกำเนิดตำรวจเหล่าต่างๆ เช่น ตำรวจน้ำ, ตำรวจพลร่ม, ตำรวจม้า, ตำรวจรถถัง โดยมีเหล่า “ตำรวจแหวนอัศวิน” จึงทำให้นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า พล.ต.อ. เผ่า มีความพยายามที่จะสร้าง “รัฐตำรวจ” ขึ้น เพื่อคานอำนาจกับกองทัพ

ในช่วงเวลานั้น “กลุ่มราชครู” ถือว่ามีบทบาทอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทบาททางการเมือง เพราะเมื่อมีการจัดตั้งพรรคการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ขึ้น ในปี 2498 พล.ต.อ. เผ่า ในฐานะหัวหน้ากลุ่มราชครู ก็มีบทบาทในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งถ้าว่าการแบบการเมืองแบบไทยๆ แล้ว เลขาธิการพรรค คือคนที่ต้องดูแลเรื่องต่างๆ การใช้สายสัมพันธ์ทั้งทางธุรกิจและราชการ ซึ่ง พล.ต.อ. เผ่า มีครบ ซึ่งเขาเอง เลยกลายเป็น “หมายเลขสอง” รองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม

การเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ ปี 2500 พรรคเสรีมนังคศิลา ต้องลงฟาดฟันกับ พรรคประชาธิปัตย์ ยุทธวิธี ต่างๆนาๆ ทำให้ การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกตีตราจากประชาชนว่า “ไม่โปรงใส” จนเป็นชนวนสู่การยึดอำนาจรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก

เป็นการ ”ปิดฉาก” “การเมืองราชครู” ไปพักใหญ่ๆ

ราชครู-สู่-ชาติไทย และ ตกสะเก็ด?

การกระจัดกระจายของกลุ่มราชครูหลัง สถานการณ์การเมืองในยุค จอมพล สฤษดิ์ สมาชิกกลุ่มราชครู ก็ไม่ได้มีบทบาทมากนัก ถึงแม้ พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี ในการเลือกตั้ง เมื่อ ธันวาคม 2500 แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ในปลายปี 2501…..

“#ทีมราชครู” ก็กลับมา “หมดบทบาท” อีกครา

แต่ สมาชิกของกลุ่ม ซึ่งมีความเกี่ยวดองกันทั้ง “ชุณหะวัณ-ทัพพะรังสี-ศรียานนท์-อดิเรกสาร” และอาจจะรวมถึง “ศิริโยธิน” และ “ปุณณกันต์” ที่ความเกี่ยวดองในฐานะเพื่อนพ้อง และ ญาติ ที่ทำงานการเมืองร่วมกัน

ทีมราชครู-01.jpg

แน่นอนว่าต่างคนใน “#ทีมราชครู” หมดบทบาททางการเมือง ก็ต้อนเร่ร่อนไม่ก็หมดบทบาท พล.ต.อ. เผ่า ต้องลี้ภัยไปอยูที่สวิสเซอร์แลนด์ จนสิ้นอายุไข ด้าน พลตรี ประมาณ เอง พอสภาฯ โดนรัฐประหาร ก็เลือกเดินทางสายธุรกิจ และเพราะเคยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้มีความสนิทสนมกับบรรดานักธุรกิจ ซึ่งกลายเป็น “บรรดาถุงเงินของพรรค” ในอนาคต

พลเอก ชาติชาย ก็ถูกสั่งย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตไทย ในหลายประเทศเช่น อาร์เจนตินา, ออสเตรีย. ตุรกี, สำนักวาติกัน และได้เป็นถึง ทูตไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และ กลับมารับตำแหน่งอธิบดีกรมการเมือง ในช่วงใกล้ปี 2516

ประกอบ_1-01.jpg

ภาพจาก เว็บไซต์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

(ซ้ายไปขวา) พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.ต. ศิริ ศิริโยธิน

กาลเวลาล่วงเลยไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 และภายหลังได้มีการบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2517 ทำให้ กลุ่มนายพล ในเวลานั้นประกอบไปด้วย พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ, และ พล.ต. ศิริ ศิริโยธิน ประชุม วางแผนที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้น!

และได้มีการนัดประชุมกัน ในวันที่ 5 ตุลาคม 2517

จึงก่อกำเนิดเป็น “พรรคชาติไทย” นับแต่บัดนั้น

ประกอบ_2-01.jpg

ภาพจาก หนังสือบันทึกความจำเมื่อข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าพรรค ของ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร

#ทีมราชครู กำลังจะกลับมา?


นายทุน-ขุนศึก-สมุนทรราชย์ กับ การเลือกตั้ง 2518

ประกอบ_3-01.jpg

ในหนังสือ บันทึกความจำเมื่อข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าพรรค ของ พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2521 ให้ความหมายของชื่อพรรคไว้ว่า

ชาติไทย เป็นคำที่มีควมหมายและความสำคัญในตัวเองอย่างล้ำเลิศ เป็นมงคลนาม สมาชิกของพรรคมีความพร้อมและความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อชาติไทยอันเป็นที่รักยิ่งด้วยชีวิตจิตใจ เป็นอุดมการณ์ที่สูงส่งที่เรายึดมั่นไม่เสื่อมคลาย จึงได้ให้ชื่อพรรคว่า

พรรคชาติไทย

โดยในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปี 2518 พรรคก็โดนค่อนแคะ จาก “ฝ่ายซ้าย” ว่าเป็นพรรค “นายทุน-ขุนศึก-สมุนทรราชย์-ศักดินา” เหตุเพราะการที่แกนนำพรรค “เป็นทหาร” และการหาเสียงที่ออกจะโจมตี “คอมมิวนิสต์และซ้ายนิยม” ในเวลานั้น ซึ่งเป็นจุดอ่อนข้อแรก

อีกอย่างที่เป็นข้อด้อย คือการที่แกนนำพรรค ต้องลงสมัคร ส.ส. โดยที่ไม่ได้มีเวลาลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรค ซึ่งในเวลานั้น ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ยังไม่เกิด ระบบการเลือกตั้งพึ่งจะเปลื่ยนจาก “การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจังหวัด” เป็น “การเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด” โดยใช้สัดส่วนประชากรกำหนดจำนวนผู้แทนที่ได้รับเลือก

โดยแกนนำพรรคในเวลานั้น ก็ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตจังหวัดของตนเองด้วย อย่าง พลตรี ประมาณ ก็ลงในเขต 1 จังหวัดสระบุรี พลตรี ชาติชาย ลงสมัครในเขต 1 จังหวัดนครราชสีมา พลตรี ศิริ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 1 จังหวัดชลบุรี

โดยผลการเลือกตั้งครั้งนั้น (2518) พรรคชาติไทย ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 28 คน มากสุดเป็นอันดับที่ 3 โดยเป็นรองแค่ พรรคประชาธิปัตย์ (72 ที่นั่ง) และ พรรคธรรมสังคม (45 ที่นั่ง) โดยในกรุงเทพมหานคร พรรคได้ 2 ที่นั่งคือ พันเอกประกอบ ประยูรโภคราช และ ประทวน รมยานนท์

ประกอบ_4-01.jpg

ประกอบ_5-01.jpg

ฝั่งที่นั่งในการเลือกตั้ง 2518 (ล่าง) พรรครัฐบาล (ประชาธิปัตย์-เกษตรสังคม 91 ที่นั่ง) , (บน) พรรคฝ่ายค้าน (กลุ่มรวมชาติ 178 ที่นั่ง)

โดยในครั้งนั้น พรรคเข้าร่วมกับ “กลุ่มรวมชาติ” ในนามฝ่ายค้านรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แต่….

จากอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างการแถลงนโยบายรัฐบาล เสนีย์ 1 (รัฐบาลชุดที่ 35) ที่กลายเป็นว่า รัฐสภายกมือ “ไม่ไว้วางใจ” นโยบายรัฐบาล

สถานการณ์เลยแปรเปลื่ยนจากฝ่ายค้าน เป็น รัฐบาลเพียงไม่กี่วัน!

เข้าร่วมรัฐบาล “สหพรรค” และ “จตุรพรรค”

สุดท้ายเมื่อมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แล้วเป็น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช จาก พรรคกิจสังคม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคชาติไทย ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาล “สหพรรค” (คือมีถึง 22 พรรค!-คุ้นๆ เหมือนยุคนี้แหะ) โดย พรรคได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี 6 คน

ประกอบ_6-01.jpg

แต่ที่คนโดนเพ็งเล็งจาก “ฝ่ายซ้าย” ก็คงหนีไม่พ้น พลตรี ประมาณ ที่โดนแซะว่า เป็น ”ขวาสุดโต่ง” จนถึงขั้น กดดันให้รัฐบาลต้องปรับออกจากคณะรัฐมนตรี!

อีกคนที่มีผลงานคือ พลตรีชาติชาย ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะเป็นหนึ่งในคณะที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เดินทางไปเปิดความสัมพันธ์ที่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทำให้กระแสสินธุ์แห่งการต่อต้าน พอจะลดทอนได้บ้าง

ประกอบ_7-01.jpg

พลตรี ชาติชาย (ตรงกลางฝั่งซ้าย) เป็นหนึ่งในทีมผู้แทนไทย ที่ไปเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทย และ จีน เมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

แต่ความไม่แน่นอนของ “รัฐบาลสหพรรค” นี่เอง ทำให้มีกระแสข่าวในช่วงเวลานั้นว่า พลตรี ประมาณ จะล้ม รัฐบาลหม่อมฯคึกฤทธิ์ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นความจริง

แต่รัฐบาลสหพรรคกลับต้องแพ้ภัยการเมืองนอกสภา จนทำให้เกิดการยุบสภา (อีกหน) ในเดือนเมษายน 2519….

และเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่อีกหน ในปี 2519 รอบนี้ พรรคได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น ถึง 56 ที่นั่ง เป็นพรรคอันดับที่ 2

และได้เข้าร่วมรัฐบาล “จตุพรรค” อันได้แก่ ประชาธิปัตย์-ชาติไทย-สังคมชาตินิยม-ธรรมสังคม”

ประกอบ_8-01.jpg

ฝั่งที่นั่งในการเลือกตั้ง 2519 (ล่าง) พรรครัฐบาล (จตุรพรรค 206 ที่นั่ง) (บน) พรรคฝ่ายค้าน (กิจสังคมและอื่นๆ 178 ที่นั่ง)

ซึ่งในครั้งนั้น เป็นการแจ้งเกิดของนักการเมืองอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ที่ลงเลือกตั้งครั้งแรกในบ้านเกิด พร้อมๆกับการดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการพรรค

แต่….

รัฐบาล เสนีย์ 2 (รัฐบาลชุดที่ 37) ก็มีปัญหาในระหว่างเทอม โดเฉพาะสถานการณ์การเมือง ที่ต่อมากลายเป็น “เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519” ซึ่งตัวละครที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้อีคนก็คือ พลตรี ประมาณ และ พลตรี ชาติชาย

บทบาทที่ว่า เป็น “ผู้ต้องสงสัย” ในการ “กวักมือ” เรียกทหารออกมารัฐประหารและปราบปรามนักศึกษา?

(ในที่นี้ผู้เขียนขอไม่กล่าวถึง แต่ขอให้แนะนำให้ไปดูเพิ่มเติม ในจดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์ ในเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา)

พรรคชาติไทย ในอุ้งมือ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

การเลือกตั้งปี 2522 โดยในเวลานั้นกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่มี ทำให้ต้องเรียกขานกันเป็นชื่อเล่นว่า กลุ่มการเมือง

กลุ่มพรรคชาติไทย ในการเลือกตั้งครั้งนั้นได้ 42 ที่นั่งในสภาและเข้าร่วมเป็นฝ่ายค้าน

ประกอบ_9-01.jpg

และเมื่อเกมในสภาสุกงอมเต็มที่...จนฐานอำนาจของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถึงคราวสั่นคลอน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 กลางสภาผู้แทนราษฎร!

พร้อมกับการขึ้นสู่อำนาจของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์…ในอีก 3 วันถัดมา

รัฐบาลเปรม 1 ได้มีการรวบรวมเสียงในสภาผู้แทนฯ ซึ่งคราวนี้ พรรคชาติไทยได้เข้าร่วมรัฐบาล และได้รับการ “จัดสรรปันส่วน” รัฐมนตรีดังนี้

ประกอบ_10-01.jpg

ภายหลัง เมื่อ พันตำรวจเอก กฤช เสียชีวิตจากการการปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดแม่ฮ่อนสอน จึงได้มีการแต่งตั้ง บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ แทนที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรฯ

…..กาลเวลาล่วงเลยจนมีการเลือกตั้ง ปี 2526 ปีนั้นพรรคได้ เพียง 73 ที่นั่ง แต่เพราะการเข้าร่วมของ พ.อ. (พิเศษ) พล เริงประเสริฐวิทย์ ส.ส. อุทัยธานี ที่ยก พรรคสยามประชาธิปไตย มาเข้าสังกัด รวมไปถึง ส.ส. อิสระ ซึ่งรวมกันได้ถึง 110 ที่นั่ง! ซึ่งกลายเป็นพรรคที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนฯ เยอะที่สุด

พลตรี ประมาณ พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะพรรคได้ที่นั่งมากที่สุด!

...แต่ไม่ได้เป็น!

เกิดอะไรขึ้น!

เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน ก็ได้มีการนัดประชุมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมี พลเอก เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป….

พรรคชาติไทย ในเวลานั้น ก็เอากะเขาด้วย คือ ร่วมรัฐบาลเพื่อ “เปรม” เวลานั้นพลตรี ประมาณ ติดธุระ ไม่สามารถไปคุยได้ พลตรี ชาติชาย เลยอาสาไปคุยเพื่อร่วมรัฐบาล แต่!

ขณะที่มีการจัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์, กิจสังคม พยายามโทรตาม พลตรี ชาติชายถึง 6 ครั้ง!

จนการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นไปแล้ว เจ้าตัวก็ยังไม่มา

พรรคชาติไทย ต้องรู้ตัวเองว่ากลายเป็นทีมฝ่ายค้านไปโดยปริยาย…

ซึ่งนั่น กลายเป็นความขัดแย้งเล็กๆ ระหว่าง พลตรี ประมาณ และ พลตรี ชาติชาย ซึ่งค่อยๆก่อตัว..

แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะเป็นหัวหอกฝ่ายค้าน แต่เพราะฐานเสียงของพรรค คือชาวนา ชาวบ้าน ภาคกลาง การทำงานรอบนี้เลยได้ทีไม่น้อย เพราะพยายามอย่างยิ่งในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายหน

แต่ก็แทบจะเป็นหมัน เพราะเสียงสนับสนุนไม่ถึง

ประกอบกับเกมการเมืองข้างนอกสภาที่กำลังก่อตัว เมื่อ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก พยายามที่จะ “ต่ออายุราชการ” และ การลดค่าเงินบาทอีกครั้งในปี 2527

พรรคชาติไทยเอง ในฐานะหัวหอกฝ่ายค้าน ก็พยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในปี 2528 ทว่า….

ก็เกิดระเบิดที่พรรคชาติไทย ในวันที่ 19 มีนาคม 2528 ซึ่งแน่นอนว่าจับมือใครดมไม่ได้ มิหนำซ้ำ อนุสรณ์ ทรัพย์มนู สมาชิกวุฒิสภาที่ใกล้ชิดกับพรรคชาติไทย ซึ่งมีบทบาทในการวิจารณ์ปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ก็โดน ‘ทหารม้า’ ดักตีหัวจนโชกเลือด ทำให้การอภิปรายรัฐบาลต้องเป็นหมันไป…

แต่ในปี 2529 พรรคก็ได้เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และ ประกาศว่าจะ “ไม่เห็นชอบ” พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ด้วย!

ผลในสภาฯ พ.ร.บ. ขนส่งทางบก โดนล้มไม่เป็นท่า และนำไปสู่การยุบสภา ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2529….

พร้อมๆ กับการ “เชือด” พลเอก อาทิตย์ ในอีกไม่กี่วันต่อมา

เลือกตั้ง 2529 และ เลือกตั้ง 2531!

การเลือกตั้ง 2529 มารอบนี้ พรรคชาติไทย ได้ 64 ที่นั่งในสภาฯ (โดยเฉพาะภาคกลางที่เป็น “ฐานเสียง” อยู่แล้ว ได้ถึง 24 ที่นั่ง) และร่วมมือกับอีก 3 พรรค อย่าง ประชาธิปัตย์ ที่โดนข่มขู่ จากบรรดา “ลูกป๋า” และ “ข้อมูลใหม่” และ กิจสังคม และราษฎร

แต่ รัฐบาล เปรม 5 รอบนี้ อยู่ได้เพียง 1 ปีกว่าๆ ก็ถูกล้ม เหตุจาก การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ที่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะชนะด้วยคะแนนเสียง 183 ต่อ 134 แต่กลุ่ม 10 มกรา ซึ่งสังกัดประชาธิปัตย์ กลับไปยกมือสวนรัฐบาล ทำให้เป็นแรงกระเพื่อมสู่การยุบสภา

ในการเลือกตั้งปี 2531 รอบนี้พรรคชาติไทย ซึ่งตอนแรก พลตรี ประมาณจะนำพรรคสู้ศึกการเลือกตั้ง แต่ทว่า….

เงิน 30 ล้านบาท ปริศนา และคำขาด จาก พลเอก เปรมที่ทำให้ พลตรี ประมาณ อดเป็นนายกฯ และ“ถูกแขวน” ไปเป็นที่ปรึกษาพรรค เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ พลตรี ประมาณ ถึงขั้นเลิกเล่นการเมืองไปพักใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนี้ เลขาธิการพรรคในเวลานั้น อย่าง พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ เลยต้องรับหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมๆ กับการที่ บรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นสู่เลขาธิการพรรค อย่างเต็มตัว

แต่ข้อครหา ของ บรรหาร ที่ทำให้สมาชิกพรรคหลายๆ คน ไม่เอาด้วยเท่าใดนัก คือเงิน 30 ล้านบาทที่เมื่อเอาไปขึ้นเงิน กลับ ”เช๊คเด้ง!”

แต่กระนั้น การเลือกตั้งก็ต้องสู้ต่อ…

ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคชาติไทยชนะการเลือกตั้ง ด้วยการนำ ส.ส. เข้าสภาฯ 87 คน จาก 357 ที่นั่ง และ ดีลกับพรรคการเมืองอื่นๆ อย่าง กิจสังคม , ประชาธิปัตย์ , รวมไทย และ ประชากรไทย จนมีความเห็นว่า พลเอก เปรม เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ อีกสมัย?

แต่เพราะ “ฎีกา 99 นักวิชาการ” ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ในการที่พลเอก เปรม ปฏิเสธ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ!

หวยเลยไปลงที่ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ….

จบเพียงแค่นี้ก่อน EP. 3.2 จะเล่าต่อว่าหลังจากนั้น เกิดอะไรขึ้น และจะมาวิเคราะห์ว่า ทำไม พรรคชาติไทย หรือ ชาติไทยพัฒนา ที่สืบทอดมา ถึงไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิม?

อ้างอิง


ชาติ ดุริยะ
เด็กสายวิทย์ที่ดูเรียนผิดสายพบเห็นได้ตามกลุ่มปรัชญาการเมืองทั่วๆไป
1Article
0Video
5Blog