นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทยและ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, นายวรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายมุข สุไลมาน เหรัญญิกพรรคประชาชาติ, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. ปัตตานี พรรคประชาชาติ, นายนิรามาน สุไลมาน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และตัวแทนจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน มารับฟังปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน ที่บ้านบานา จังหวัดยะลา
นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการยกเลิกเครื่องมืออวนดุน แต่ยังมีอวนลาก และเรือปั่นไฟจับปลากระตะ ซึ่งเป็นเครื่องทำลายล้างพันธุ์ปลา จับลูกปลาทูและลูกปลาอื่นๆ ตนเห็นว่าควรทำเขตอนุรักษ์ ทำบ้านให้ปลา และปลูกป่าชายเลน ปลูกหญ้าทะเล ทั้งนี้หลายกลุ่มชาวประมงยังไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ขณะเดียวกัน พระราชกำหนดการประมง ที่พยายามแก้ปัญหาให้เป็นไปตามกฎ IUU แต่กฎหมายฉบับนี้ มีปัญหาในหลายมาตรา 5 คือ คำนิยาม ไม่ชัดเจน ว่าคนที่เป็นประมงพื้นบ้าน หมายถึงคนที่ทำประมงในเขตทะเลชายฝั่ง ตนมองว่าอาชีพประมงพื้นบ้านต้องสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น
มาตรา 34 ห้ามออกทำประมงท้องถิ่นออกนอกเขตทะเลชายฝั่งที่กำหนดไว้แค่ 3 ไมล์ ทั้งๆที่อีกน่านน้ำที่หาปลาได้ของไทยมีถึง 200 ไมล์ อีก 197 ไมล์เป็นพื้นที่ของประมงพาณิชย์
มาตรา 57 ห้ามผู้ใดนำสัตว์น้ำขนาดเล็กที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นมาบนเรือ แต่ยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนว่าติดมาได้กี่เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้นายกสมาคมฯ มองว่ากฎหมายที่บังคับใช้ให้ประโยชน์กับนายทุนรายใหญ่มากกว่าชาวประมงท้องถิ่น ควรแก้ไขกฎหมายให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
นายมุข กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่สร้างปัญหา เข้าข้างประมงขนาดใหญ่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือจะทำยังไงให้ความเป็นกลางกับประมงเล็กและประมงใหญ่ นักการเมืองที่เข้าไปในสภาต้องพูดถึงเจ้าหน้าที่ว่าทำยังไงให้เกิดความเป็นธรรมก่อนแล้วกฎหมายก็ค่อยแก้กันไป
ด้านนายสงคราม รับเรื่องนี้เพื่อที่จะนำเข้าสู่กรรมาธิการในสภาเพื่อหาทางออกต่อไป เพราะตนเห็นว่าที่ผ่านมาปัญหานี้ทำให้ประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก เรือหลายลำจอดทิ้งไว้ไม่ได้ไปหาปลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง