ไม่พบผลการค้นหา
ประธานาธิบดีฝ่ายขวาสุดโต่งของบราซิลอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่าเอ็นจีโอว่าเป็นคนเผาป่าดิบชื้นแอมะซอนเพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล หลังถูกตัดงบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในขณะที่ไฟป่าแอมะซอนลุกไหม้มานานกว่า 2 สัปดาห์ และพื้นที่ป่าถูกทำลายมากเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่โบลโซนารูขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำเมื่อต้นปีนี้

ป่าดิบชื้นแอมะซอน ซึ่งมีพื้นที่ 5.5 ล้านตารางกิโลมตร เรียกได้ว่าเป็นปอดของโลกเนื่องจากผลิตก๊าซออกซิเจนราว 20 เปอร์เซ็นต์ในโลก อยู่ในอาณาเขตของประเทศบราซิลกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ กำลังถูกทำลายด้วยการบุกรุกป่าและไฟป่านับตั้งแต่ฌาอีร์ โบลโซนารู ชนะเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของบราซิลเมื่อเดือนมกราคมปีนี้

ล่าสุดไฟป่าแอมะซอนซึ่งลุกลามมากว่า 2 สัปดาห์ เริ่มได้รับความสนใจโดยนานาชาติ กระทั่งมีการติดแท็ก #PrayforAmazonas ในทวิตเตอร์กว่า 1.5 ล้านครั้ง ติดท็อปเทรนด์แม้กระทั่งในประเทศไทย หลังจากในช่วงเวลาบ่ายสาม วันที่ 19 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น ท้องฟ้าเมืองเซาเปาลู ประเทศบราซิลกลายเป็นสีเทาราวกับเวลาค่ำด้วยหมอกควันซึ่งบดบังแสงอาทิตย์ เป็นผลจากอากาศเย็นและลมซึ่งหอบควันไฟลอยมาจากไฟป่าในพื้นที่ป่าแอมะซอนในรัฐรอนโดเนียและรัฐอามาโซนัสประเทศบราซิล ซึ่งอยู่ห่างไปกว่า 2,700 กิโลมตร

  • ท้องฟ้าเมืองเซาเปาลูถูกปกคลุมด้วยหมอกควันจากไฟป่ากระทั่งแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึงพื้นในช่วงบ่ายวันที่ 19 สิงหาคม

ทางด้าน ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล อดีตทหารยศร้อยเอก ได้ออกมาแถลงในวันที่ 21 สิงหาคม ว่าเชื่อว่าเอ็นจีโอเป็นผู้จุดไฟป่าเพื่อบ่อนทำลายรัฐบาล เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกตัดงบ

"สำหรับเรื่องไฟป่าที่กำลังลุกลามแอมะซอนอยู่ ส่วนตัวแล้วผมว่าพวกเอ็นจีโอนั่นล่ะที่เผาป่า เพราะสูญเสียงบไป ส่วนแรงจูงใจน่ะเหรอ ก็เพื่อหาเรื่องให้บราซิลไงล่ะ" โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิลกล่าว

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล หรือไอเอ็นพีอี (National Institute for Space Research: INPE) ชี้ว่าภายในปีนี้บราซิลมีไฟป่าประทุกว่า 74,000 ครั้ง สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (วันที่ 1 มกราคม - 20 สิงหาคม) ซึ่งอยู่ที่ราว 40,000 ครั้ง ถึง 84 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังสูงกว่าในปี 2016 ซึ่งมีการปะทุกว่า 67,000 ครั้ง เพราะในปีนั้นอากาศแห้งเป็นพิเศษเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญเสียอีก

ทางด้าน อัลแบร์โต เซตเซอร์ นักวิจัยจากไอเอ็นพีอีก็ยืนยันว่าในปีนี้ไม่ได้มีความผิดปกติทางภูมิอากาศแต่อย่างใด อีกทั้งปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ป่าแอมะซอนก็น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

"อากาศแห้งทำให้เกิดเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดไฟป่า แต่การก่อต้นเพลิงนั้นเป็นฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม" เซตเซอร์กล่าว


afp - ไฟป่า แอมะซอน amazon
  • ภาพถ่ายจากดาวเทียมของนาซ่าเผยควันจากไฟป่าในรัฐอามาโซนัส (มุมบนซ้าย) เห็นได้จากอวกาศ / ภาพจาก AFP / NASA / LAUREN DAUPHIN / HO

ทั้งนี้ ไฟป่ามักปะทุขึ้นในช่วงหน้าแล้งของบราซิล ซึ่งจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน แต่การเผาป่าเพื่อเปิดหน้าดินสำหรับทำการเกษตรหรือปศุสัตว์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน

ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัดของบราซิลนั้น สัญญาตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าจะเปิดพื้นที่ป่าให้ใช้ทำเกษตรมากขึ้น และเมินเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเมินเฉยปัญหาสิ่งแวดล้อมมาตลอด ทั้งยังยืนกรานว่าปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอากาศแห้งตามฤดูกาล และก่อนหน้านี้ได้ปลด ริการ์โด กัลโว ผู้อำนวยการไอเอ็นพีอีออก หลังอ้างว่าตัวเลขข้อมูลพื้นที่ป่าแอมะซอนที่ถูกทำลายไปที่สถาบันนำเสนอนั้นเป็นเรื่องโกหก

ก่อนหน้านี้ทางสถาบันไอเอ็นพีอีได้เผยว่าในเดือนมิถุนายนปีนี้ ว่าป่าแอมะซอนถูกทำลายไป 920 ตารางกิโลมตร และในเดือนกรกฎาคมก็ถูกทำลายไปถึง 2,254.8 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 278 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าเพียงเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว โลกสูญเสียพื้นที่ป่าแอมะซอนไปเกือบเท่าพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาของไทยซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 2,557 ตารางกิโลเมตร

ทางสถาบันไอเอ็นพีอีระบุว่ามีหลักฐานจากการใช้เซนเซอร์ดาวเทียมระบุตำแหน่งไฟป่า โดยชี้ว่ามีการปะทุของไฟป่าหลายร้อยครั้งจากการที่เกษตรกรเคลียร์พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร ด้วยส่วนใหญ่ใช้สำหรับปลูกถั่วเหลืองและเลี้ยงปศุสัตว์ และการเผาป่าเคลียร์พื้นที่ส่วนใหญ่ทำไปโดยผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม โฟลา ดิ เซาเปาลู (Folha de S.Paulo) สำนักข่าวท้องถิ่นบราซิลได้รายงานว่าในบางพื้นที่เกษตรกรได้ถือโอกาสเผาเปิดป่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งเยอรมนีและนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสองประเทศรายใหญ่ที่บริจาคเงินสนับสนุนการแก้ปัญหาการทำลายป่าไม้ในบราซิลรวมถึงป่าดิบชื้นแอมะซอนมาตลอด ก็ระงับเงินบริจาคบางส่วนไปแล้วเนื่องจากมองว่ารัฐบาลของโบลโซนารูนั้นไม่มีความพยายามในการอนุรักษ์ผืนป่าอย่างจริงจัง


afp - brazil indigenous
  • ชนพื้นเมืองบราซิลหลายเผ่ารวมตัวประท้วงรัฐบาลโบลโซนารู

นโยบายซึ่งสนับสนุนการบุกรุกพื้นที่ป่าของโบลโซนารูนั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการสูญเสียพื้นที่ป่าแอมะซอนและความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองบราซิลในป่าด้วย โดยโบลโซนารูพยายามจะผนวกชนพื้นเมืองเหล่านี้เข้ากับประชากรในเมือง เนื่องจากมองว่าชนพื้นเมืองจำนวนกว่า 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยในป่าแอมะซอน ได้ครอบครองพื้นที่ 12 เปอร์เซ็นต์บราซิลนั้นมากเกินไป แม้ว่านี่จะเป็นสิทธิของพวกเขาตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

ที่มา: Guardian / BBC / Sky News / Reuters / Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: