แม้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติ 365 ต่อ 101 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ให้แยกกมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ ที่ ส.ส.กลุ่มความหลากหลายทางเพศ พรรคอนาคตใหม่ อาทิ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ กับณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ผลักดัน แต่คำว่า 'หลากหลายทางเพศ' ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงยังถือว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 7 ล้านคนของประเทศ ยังมีที่ทางในสภาผู้แทนราษฎร
ทว่าในยุคสมัยของ 'รัฐบาลประยุทธ์2' ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ วาระการสร้างความเสมอภาคและเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมไทย จะมีการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือก้าวหน้าขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ คงต้องดูผลการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ 90 (35) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา กับ 'คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ประกอบกันไป
101 เสียง ที่ส.ส.ให้ความเห็นชอบมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลคือ พรรคอนาคตใหม่ 76 เสียง พรรคเพื่อไทย 12 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 8 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 4 เสียง และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง
ในภาพรวมของเสียงสนับสนุน 7 พรรคฝ่ายค้านเองก็ยังมีความเห็นแตกต่าง เช่น พรรคพลังปวงชนชาวไทย ไม่ได้ลงคะแนน 2 ส.ส.เพื่อชาติ ไม่เห็นด้วย ส่วน 4 ส.ส.ประชาชาติ งดออกเสียง ตามเหตุผลทางความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนามุสลิม ที่นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เคยอภิปรายไว้ เช่นเดียวกับ นายนิรามา สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ งดออกเสียง
'ส.ส.พลังประชารัฐ' ผิดสัญญา - ค้านแยกกมธ.หลากหลายทางเพศ
365 เสียงที่คัดค้านนั้น ก็มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท รักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย และบรรดาพรรคจิ๋ว รวมถึงพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งทิศทางการโหวตในข่ายของพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะยังไม่ถูกจับจ้องมากนัก เพราะไม่เคยป่าวประกาศหรือหาเสียงเช่นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างชัดแจ้ง แตกต่างจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาล ที่เคยขยับหาเสียงในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ อย่างน้อย 2 ครั้ง จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ
เมื่อ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. ในฐานะประธานกรรมการด้านนโยบายสตรี นำ กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เข้าพบและหารือกับ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งรับปากจะร่วมผลักดันข้อเสนอต่างๆ ให้สำเร็จ และส.ส.ธณิกานต์ ในฐานะโฆษกกมธ.ยกร่างข้อบังคับฯ ก็ร่วมรับมอบหนังสือจากสมาคมฟ้าสีรุ้ง ที่เรียกร้องให้มีการตั้งกมธ.ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างพ.ร.บ.เพศภาพ ซึ่งผลการลงมติคือ น.ส.ธณิกานต์ และส.ส.พรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียว
'รบ.ประยุทธ์2' ไร้นโยบายชัด ส่อหมดหวังดันร่างกฎหมาย 'คู่ชีวิต-เพศสภาพ'
ยิ่งเมื่อย้อนดู 'คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ที่แถลงต่อรัฐสภา ก็จะยิ่งเข้าใจว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับ 'ความหลากหลายทางเพศ' นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้ง 66 หน้านั้น มีคำว่า 'เพศภาวะ' เพียง 1 คำ อยู่ในส่วนท้ายที่เชื่อมโยงนโยบายกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเท่านั้น
ถ้าเพียงการแยก กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ ออกมาอีก 1 คณะ 116 ส.ส.พลังประชารัฐ ยังไม่มีใครร่วมสนับสนุน ทั้งยังไร้เนื้อหาสาระในนโยบายของครม. ความฝันและความหวังของผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้ง 7 ล้านคน ที่อยากจะผลักดันกฎหมาย อย่างร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือร่างพ.ร.บ.เพศภาพ ก็คงเป็นเรื่องยากจะเกิดขึ้นจริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: