ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่กระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล คสช.พยายามผลักดันมาโดยตลอดไม่สามารถผ่านร่างออกมาใช้ได้ภายในรัฐบาลนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ในการผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงต้องเปลี่ยนไปด้วยภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ขณะที่กระแสสนับสนุนให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ก็แรงขึ้นเรื่อยๆ

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ประกาศแล้วว่า การผ่านร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตคงจะ 'ทำไม่สำเร็จ' ภายในรัฐบาลนี้ แม้จะเคยมีการประกาศว่าจะผลักดันพ.ร.บ.นี้ให้ได้ โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอยู่ในขั้นตอนการรอกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษพิจารณา และอาจจะต้องรอจนว่ารัฐบาลชุดใหม่จะหยิบขึ้นมาผลักดันต่อ

ในช่วงปีที่ผ่านมา การผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของกระทรวงยุติธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากว่ามีเครือข่ายภาคประชาสังคมไปร่วมร่าง พ.ร.บ.นี้ค่อนข้างน้อย ฟังเสียงประชาชนน้อยเกินไป และไม่ยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้การเคลื่อนไหวประเด็นความเท่าเทียมในการจัดตั้งครอบครัวถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ต้องการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับกลุ่มที่ต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและมรดก ซึ่งเพิ่งจัดตั้งคณะทำงานขึ้นได้ไม่นานนี้

เสวนากลุ่ม LGBTQ

(งานเสวนายุทธศาสตร์การต่อสู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตและแก้ไข ปพพ.)

ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ กำลังจะมีการเลือกตั้งที่เป็นความหวังของประชาชนหลายคน รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ผลักดันให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมถึงเรื่องสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวด้วย ดังนั้น แนวทางให้การผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตและการแก้ไข ปพพ.ก็จะต้องเปลี่ยนไป เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองและบริบทสังคม

แก้ไข ปพพ. ผ่านพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ตัวแทนคณะทำงาน 1448 For All กล่าวว่า กลุ่มของเขาต้องการผลักดันการแก้ไข ปพพ. เพราะมองว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิในการสมรสเท่ากับคู่ชายหญิงอย่างแท้จริง ซึ่งพวกเขาวางยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเด็นนี้ไว้ว่าในระยะเริ่มต้นจะต้องบริหารจัดการคณะทำงาน กองเลขาฯ และขยายเครือข่ายออกไปเรื่อยๆ ผ่านการทำกิจกรรม จัดเสวนา หรือเวิร์กช็อป เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ขณะเดียวกัน พวกเขาจะขับเคลื่อนประเด็นนี้โดยอาศัยการทำงานร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

ทัตเทพ เรืองประไพกิตเสรี 1448 For All

(ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ตัวแทนคณะทำงาน 1448 For All)

ทัตเทพยืนยันว่า การทำงานรณรงค์ทางสังคมไม่พอ จะต้องขับเคลื่อนในภาคการเมืองด้วย และปัจจุบัน บริบททางการเมืองเปลี่ยนไป พรรคการเมืองทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต่างหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการแก้ไข ปพพ. และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตกันมากขึ้น เขามองว่าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันการแก้ไข ปพพ. เพราะคนที่จะใช้อำนาจรัฐภายหลังการเลือกตั้งก็คือพรรคการเมือง

แม้จะยังไม่รู้ว่าพรรคไหนจะชนะ แต่เขาเชื่อว่า การล็อบบี้กับพรรคการเมืองเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น พวกเขาจะต้องสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่สนับสนุนประเด็นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเข้าไปในสภาให้ได้มากที่สุด และเมื่อนักการเมืองเหล่านั้นเข้าไปในรัฐสภาได้แล้ว นักเคลื่อนไหวและประชาชนก็จะต้องกดดันให้พวกเขาทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในเวทีสาธารณะว่าจะผลักดันการแก้ไข ปพพ.

ทัตเทพกล่าวว่า เขาและคณะทำงานผลักดันการแก้ไข ปพพ.ไม่เคยขัดขวางการมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพียงแต่ต้องการให้ให้ทั้ง ปพพ.และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตเปิดกว้างทางเพศ ให้สามารถจดทะเบียนกันได้ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศแบบใด เป็นทางเลือกให้คู่รักได้พิจารณาระดับเงื่อนไขและข้อผูกมัดเท่านั้น ไม่ใช่การแยกว่าทะเบียนสมรสมีไว้สำหรับคู่รักชายหญิงเท่านั้น และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีไว้สำหรับคู่รักเพศเดียวกันเท่านั้น

แก้ไข พ.ร.บ.ให้เทียบเท่า ปพพ. ทำความเข้าใจกับข้าราชการกระทรวง

นาดา ไชยจิตต์ ผู้ประสานคณะทำงานรณรงค์ พ.ร.บ.คู่ชีวิตกล่าวว่า ส่วนตัวเธอคาดการณ์ไว้แล้วว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตน่าจะผ่านออกมาใช้ได้ไม่ทันในรัฐบาลนี้ และก็หวังว่าจะไม่ผ่านในรัฐบาลนี้ เมื่อพบว่าร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เธอและภาคประชาสังคมที่เข้าไปช่วยกันทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรม ถูกลดทอนจากเดิมมาก

นาดากล่าวว่า เธอพยายามจะสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐว่า หากกฎหมายออกมาแล้วเป็นโทษ ไม่ควรออกมาเลย เพราะถ้ามันออกมาแล้วสร้างปัญหาซ้ำซ้อน นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่ทำให้ปัญหาที่เรื้อรังมีสถานภาพที่แย่ลงกว่าเดิม

นาดาระบุว่า แม้เข้าใจว่ามีกระแสที่อยากจะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากกว่า แต่เมื่อรัฐบาลตั้งธงว่าจะร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตออกมา เธอจึงมองว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญมาก การออกกฎหมายต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เธอไม่สามารถปล่อยให้รัฐบาล คสช.ออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ

นาดา ไชยจิตต์

(นาดา ไชยจิตต์ ผู้ประสานคณะทำงานรณรงค์ พ.ร.บ.คู่ชีวิต)

นอกจากนี้ นาดากล่าวว่า คณะทำงานพยายามจะทำงานในระดับกระทรวงมากขึ้น เพราะรัฐบาลไหนอยู่หรือไป ข้าราชการในกระทรวงก็ยังอยู่ การให้ความรู้ความเข้าใจกับข้าราชการเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นนี้

ส่วนช่วงหลังการเลือกตั้ง นาดามองว่าจะต้องมาดูกันอีกทีว่าพรรคการเมืองไหนจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล หากพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายเรื่องการสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเยอะ มีโอกาสมีเสียงข้างมากที่จะโหวตในการแก้ไข ปพพ.ในส่วนครอบครัวและมรดก ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอีก และโดยส่วนตัว เธอมองว่าทางเลือกที่ดีที่สุดคือการแก้ไข ปพพ. เพราะทำให้กลุ่ม LGBTIQ มีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคน ดังนั้น หากมีรัฐบาลที่มีบทบาทที่จะผลักดันกฎหมายนี้ได้ เครือข่ายทำงานผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากขั้วอำนาจที่เข้าไปจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้มีแนวคิดเรื่องนี้ หรือมีแนวคิดในการส่งเสริมการทบทวนหรือทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตมันมีความสมบูรณ์ เธอและคณะทำงานก็ยินดีที่จะผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตต่อ โดยจะแก้ไขให้มีสิทธิเทียบเท่า ปพพ. ไม่ใช่การลดสิทธิอย่างร่างที่กำลังรอกฤษฎีกาอยู่นี้

นาดายอมรับว่าสังคมไทยก็ยังมีทัศนะที่แตกต่างกัน หลายคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเท่าเทียมในการจัดตั้งครอบครัว บางคนไม่อยากให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียม หรืออยากให้มีสิทธิเท่าเทียม แต่มีกฎหมายแยกกันคนละฉบับ ดังนั้น พ.ร.บ.คู่ชีวิตจึงเหมือนก้าวหนึ่งที่จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันที่ใช้ชีวิตร่วมกัน มีทรัพย์สินร่วมกันสามารถดูแลกันได้ ให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่คู่รัก รวมถึงมีสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ได้มากขึ้น ก่อนที่จะสามารถแก้ไข ปพพ.ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะชีวิตคนหลายคนไม่สามารถอดทนรอจนมีการแก้ไข ปพพ.ได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม: