สีกล่าวคำเตือนดังกล่าวเมื่อวานนี้ (17 พ.ย.) ก่อนการประชุม APEC ระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจในวันนี้ ที่กรุงเทพฯ นับเป็นการกล่าวกระทบอย่างชัดเจน ถึงความพยายามของสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาค ที่พร้อมเผชิญหน้ากับอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหารของจีน ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“จะต้องไม่มีความพยายามในการก่อนสงครามเย็นครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและยุคสมัยของเรา” สีระบุในร่างแถลงสำหรับการประชุมด้านธุรกิจ ที่เชื่อมโยงกันกับการประชุม APEC
“เราควรเดินตามเส้นทางของการเปิดกว้างและการไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง” สีกล่าวในการกล่าวสุนทรพจน์ ก่อนกล่าวเสริมว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่ควรกลายเป็น “เวทีสำหรับการแข่งขันของมหาอำนาจ” สีตอกย้ำอีกว่า “การกระทำฝ่ายเดียวและการป้องกันทางการค้า ควรถูกปฏิเสธโดยทุกคน ความพยายามใดๆ ที่จะสร้างการเมือง และติดอาวุธให้กับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าควรถูกปฏิเสธโดยทุกคน”
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มตึงเครียดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากประเด็นความขัดแย้งต่างๆ เช่น ภาษีศุลกากร ประเด็นไต้หวัน การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การปราบปรามอำนาจการปกครองตนเองของฮ่องกง และข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนเหนือทะเลจีนใต้ และอื่นๆ
จีนกำลังมองว่า การเตรียมการเดินทางเยือนหมู่เกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ บริเวณชายทะเลจีนใต้ที่มีข้อพิพาทกับจีน โดย กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันอังคารที่จะนี้ (22 พ.ย.) โดยการเดินทางในครั้งนี้ จะทำให้แฮร์ริสกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่เดินทางเยือนหมู่เกาะที่อยู่ติดกับหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งจีนได้ขุดลอกพื้นทะเลเพื่อสร้างท่าเรือและลานบิน ทั้งนี้ หมู่เกาะสแปรตลีย์ถูกอ้างสิทธิ์โดยบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนามด้วย
มีรายงานของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนว่า สีระบุกับ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในการประชุมที่กรุงเทพฯ ว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีของทั้งสองจะแน่นแฟ้น โดยขึ้นกับความสัมพันธ์ในด้านความมั่นคงทางทะเล ทั้งนี้ แฮร์ริสจะไปเยือนปาลาวันหลังจากเข้าร่วมการประชุม APEC ที่ไทย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาคหลายการประชุม ที่ยังคงมีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์บนประเด็นสงครามยูเครน
ก่อนหน้านี้ในการประชุม G20 ที่บาหลี ประเทศจำนวนมากลงมติเป็นเอกฉันท์รับรองการประณามสงครามยูเครน แม้บางประเทศจะมีความเห็นขัดแย้งมติดังกล่าว โดยเจ้าภาพการประชุม G20 อย่างอินโดนีเซียกล่าวว่า สงครามเป็นประเด็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุด ทั้งนี้ รัสเซียเป็นสมาชิกของทั้ง G20 และ APEC แต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กลับไม่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดทั้งสอง โดยรัสเซียได้ส่ง แอนเดรย์ เบโลซอฟ รองนายกรัฐมนตรีคนแรกมาตัวแทนของปูตินที่การประชุม APEC ในไทยแทน
ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC ออกตัวถึงการ "อยู่เหนือความแตกต่าง" ในการประชุมครั้งนี้ โดย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมของกลุ่มสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ “เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ” ซึ่งโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ “นั่นเป็นสาเหตุที่ APEC ในปีนี้ต้องอยู่เหนือความท้าทายเหล่านี้ และส่งมอบความหวังให้กับโลกในวงกว้าง” ดอนระบุ
สียังได้หารือกับ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกระหว่าง 2 ประเทศในรอบเกือบ 3 ปี หลังจากนั้น คิชิดะกล่าวว่าเขาถ่ายทอดความกังวลเกี่ยวกับสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันกับสีว่า พวกตนจะเปิดการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการทูตอีกครั้ง และทำการสื่อสารกันอย่างใกล้ชิด และกล่าวว่าผู้นำทั้งสองเห็นพ้องต้องกันว่า รัสเซียจะต้องไม่ใช้ตัวเลือกการใช้นิวเคลียร์ในยูเครน อย่างไรก็ดี คิชิดะปฏิเสธที่จะกล่าวถึงคำพูดของสีระหว่างการพูดคุยในประเด็นนี้
สำนักข่าว CCTV ของจีนรายงานอีกว่า สีระบุกับคิชิดะว่าปัญหาของไต้หวันเกี่ยวข้องกับรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และจีนกับญี่ปุ่นควรมีการจัดการข้อพิพาทเรื่องดินแดนอย่างเหมาะสม
การหารือกันในครั้งดังกล่าวมีขึ้น 1 วันหลังจากความตึงเครียดในเวที G20 ที่บาหลี ซึ่งสีวิพากษ์วิจารณ์ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาด้วยตนเอง ในเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลการประชุมแบบปิดระหว่างทั้งสอง หลังทรูโดกล่าวหาว่าจีน “แทรกแซงกิจการภายในประเทศ” ซึ่งเป็นการแสดงออกทางอารมณ์ในที่สาธารณะที่หาได้ยากของสี ทั้งนี้ ทรูโดได้เดินทางมาร่วมประชุม APEC ในกรุงเทพฯ ด้วย
ที่มา: