ไม่พบผลการค้นหา
นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย พกพาประสบการณ์กว่า 3 ทศวรรษในบทบาทผู้ให้บริการ เล่าอดีตและชวนมองปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างในภาพใหญ่ที่หมายถึงการบริหารจัดการของรัฐ

ฉากความขัดแย้ง เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างภายในซอยอุดมสุข กรุงเทพฯ กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยหลายคนตั้งคำถามถึงปัญหาผู้มีอิทธิพลและเบื้องหลังความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิต

“รัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายอ่อนแอครับ” เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทยบอกกับวอยซ์ออนไลน์แบบนั้นที่ซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสมาคมฯ

ประสบการณ์กว่า 30 ปีในฐานะวินมอเตอร์ไซค์ เฉลิมพร้อมแล้วที่จะพาย้อนประวัติศาสตร์มาเฟียในวงการสองล้อสาธารณะ รวมถึงอธิบายความขัดแย้งระหว่างวิน ประชาชน และแกร็บไบค์ให้เราฟัง


อิทธิพลคนบ้านใหญ่

ในอดีตผู้คุมวินมอเตอร์ไซค์ มักเป็นพวกมีอิทธิพล เป็นขาใหญ่ ‘เจ้าพ่อ’ ตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ข้องเกี่ยวกับธุรกิจมืดอย่างบ่อนพนัน ปล่อยเงินกู้ มีผลประโยชน์และความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้รักษากฎหมาย

“พวกนี้เขาเรียกคนบ้านใหญ่ซอยนั้นซอยนี้ ฉายาเฮียนั่นเฮียนี่ตามพื้นที่ต่างๆ เปิดบ่อน ทำธุรกิจมืด มีตำรวจทหาร คนใหญ่คนโตเข้าวิ่งเข้านอกออกในและคุมวินในพื้นที่”

คนขับส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ไม่มีปากมีเสียง เดินทางเข้ามาทำหากินในเมืองหลวง ยอมจ่ายค่าเช่าเสื้อโดยไม่มีคำถาม เมื่อก่อนเฉลิมจ่ายค่าเช่าเสื้อเดือนละ 2,700 บาท ค่าตำรวจอีกเดือนละ 300 บาท ค่าน้ำแข็งและค่าน้ำวันละ 10 บาท และมี ‘ค่าเปลี่ยนหน้า’ ซึ่งเขาอธิบายว่าคือค่าแรกเข้า 2,000 บาท

“เราจ่ายกันเป็นเรื่องปกติ ยอมรับแต่โดยดี” เขาบอก โดยสภาพความเป็นอยู่ในช่วงนั้นของวินมอเตอร์ไซค์ เต็มไปด้วยความกังวล ทำงานไม่กล้าหยุดเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายพวกมาเฟีย

ระบบโครงสร้างของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงทั้งในระดับกลุ่มย่อยและระดับโครงสร้างใหญ่ ในปี 2548 จากนโยบายจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างและปราบปรามผู้มีอิทธิพลสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

มีการกำหนดให้ผู้ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนต้องไปลงทะเบียนและรับเสื้อกั๊กสีส้มฟรีจากสำนักงานเขตทั่ว กทม. ซึ่งมีผลให้พวกเจ้าพ่อบ้านใหญ่และผู้มีอิทธิพลลดบทบาทของตัวเอง หลงเหลือเพียงบางกลุ่มที่ยังสามารถเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ขับขี่ได้ ท่ามกลางการแข็งข้อจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ในช่วงนั้น

“หลายคนลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะไม่อยากจ่ายอีกแล้ว แต่พวกเขายังส่งนักเลงมาเก็บเงินอยู่เรื่อยๆ หลายคนถูกทำร้ายร่างกาย ถูกแทง ถูกยิง ผมเองเคยโดนตั้งค่าหัวหมื่นห้า แต่สุดท้ายก็รอดมาได้”

เฉลิมเล่าว่าลูกน้องผู้มีอิทธิพลสมัยนั้นเคยบอกกับเขาว่า “มึงนี่มันดีเกินไป ความดีของมึงทำให้กูฉิบหาย” 

นานวันเข้า เฉลิมและพรรคพวกวินฯ พากันต่อสู้ ร้องเรียนผ่านสื่อและรัฐบาลถึงปัญหามาเฟีย ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐพากันปราบปรามเอาจริงเอาจังจนกระทั่งปัญหาเบาบางและหายไปในที่สุด อนาคตของวินมอเตอร์ไซค์เริ่มสว่างไสว..

ชัชชาตินั่งวินมอเตอร์ไซค์

สู่อิสรภาพ

“ผมจำได้ว่าพวกเรามีความสุขกันมาก จากที่ต้องเอาเงินไปแบ่งให้คนอื่น มันถูกนำไปให้ครอบครัวของเรา” เขาย้อนความรู้สึกที่ได้เป็นเจ้าของเสื้อวินครั้งเรกโดยปราศจากผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง

รายได้ต่อวันของวินมอเตอร์ไซค์ ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร การเจริญเติบโตของเมืองและระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในเวลานั้นเฉลิมบอกว่า มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500 - 600 บาท แม้ไม่สูงนักแต่การไม่มีมาเฟียก็ทำให้ชีวิตราบรื่นและวางแผนอนาคตได้กว้างยิ่งขึ้น

ขณะที่ในแง่ของการปกครองเฉลิมบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่หลายวินเลือกแต่งตั้งผู้นำกลุ่ม จัดระบบระเบียบการทำงานจัดเก็บเงินรายเดือนไม่กี่ร้อยบาท เพื่อนำมาเป็นค่าเช่าที่ กองทุนสุขภาพและเงินออม ตลอดจนให้กู้ยืม แตกต่างกันไปตามวิธีบริหารของแต่ละวิน

“สบายใจและทำให้ส่วนตัวผมเห็นว่าการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ใกล้ตัวและมีผลต่อพวกเรามาก”

ช่วงเวลานั้นมีข่าวโด่งดังเรื่องราคาค่าเสื้อวินพุ่งสูงขึ้นมหาศาล เฉลิมอธิบายว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องมาเฟีย” แต่เป็น “ประเพณี” ในการตกลงและเจรจากันระหว่างบุคคล เปรียบเทียบได้กับการเซ้งร้านค้าร้านอาหาร

“มาเฟียมันคือการควบคุมและได้รับเงินคนเดียวจากเสื้อจำนวนหลายตัว ซึ่งมันมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนดูแลกฎหมายด้วย แต่นี่ไม่ใช่ มันเป็นต่อรองกันระหว่างคนสองคน ราคามีตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน แล้วแต่ตกลงและขึ้นอยู่กับว่าเป็นพื้นที่ไหน” เขาอธิบาย

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง.jpg

1 ซอย 1 วิน – จนท.ต้องเข้ม

เฉลิมบอกว่าเขาชื่นชอบนโยบายบริหารจัดการวินมอเตอร์ไซค์ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ประกาศชัดเจนว่า ใน 1 ซอย ต้องมีเพียง 1 วินเท่านั้น โดยอาจมีจุดจอดได้หลายจุด เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างกัน อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลเชิงนโยบายทางการเมืองทำให้ยุคต่อๆ มา มีวินเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งถูกกฎหมายและเถื่อน ซึ่งเกิดจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ จนนำไปสู่การทับซ้อนเส้นทางของวินและกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน

“ซอยเดียวมี 3-4 วิน บางแห่งเป็นวินเถื่อน เจ้าหน้าที่ไม่จัดการเสียที แจ้งไปแล้วก็เงียบหรือจัดการได้แค่ 3-4 คัน วินเดิมที่ถูกกฎหมายเขาก็เกิดความไม่พอใจ เพราะโดนแย่งลูกค้า นานวันเข้า ทาทางออกไม่ได้ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทะเลาะวิวาทเหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นที่ซอยอุดมสุข”

เขาอ้างว่าปัจจุบันมีวินที่เลือกจ่ายเงินให้กับกลุ่มอิทธิพลเพื่อแลกสิทธิเข้ามาขับขี่รับจ้าง ทั้งที่ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก ต้องติดต่อและได้รับความยินยอมจากสมาชิกภายในวิน รวมถึงต้องได้รับการขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะอีกด้วย

ช่องว่างสำคัญก็คือ เมื่อผู้มีต้องการขับขี่จำนวนมาก ได้เสื้อมาแล้ว แต่ยังไม่ถึงรอบเปิดรับลงทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก พูดง่ายๆ ว่ายังเป็นพวกป้ายดำอยู่ ก็มีโอกาสสูงที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลจะเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์

“ถ้าเจ้าหน้าที่เข้มงวด ไม่ปล่อยให้วินเถื่อนขยายรวมตัวกันเป็นสิบๆ คันได้ ปัญหาก็ไม่เกิดขึ้นหรอก” เขาให้ความเห็น

เฉลิม ชั่งทองมะดัน

ค่าบริการอลวน

นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ยอมรับว่าค่าบริการที่ไร้มาตรฐานของวินเป็นปัญหาสำคัญ ที่สร้างภาพในแง่ลบให้กับวิน โดยวิเคราะห์ว่าการการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาเร่งด่วน และปัญหาจราจรติดขัด มีผลอย่างยิ่งต่อราคา

“ช่วงเช้าลูกค้าเยอะมาก เราเลือกรับผู้โดยสารในราคา 20 บาท 3-4 คนต่อเนื่อง ดีกว่าถูกเรียกออกไปไกลๆ ในราคา 80 บาท แล้วต้องไปเสียเวลารถติด เสียเวลากลับรถไกล มันเลยทำให้เกิดการต่อรองและมีผลให้ราคาแต่ละวินไม่เท่ากัน”

เขาเสนอว่าอนาคตจำเป็นที่ต้องเคาะเรื่อง ‘ราคา’ กันใหม่ โดยอาจนำ 'ช่วงเวลาเดินทาง' และสถานที่มาพิจารณาร่วมกับระยะทางเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสมมากที่สุด

เฉลิม ชั่งทองมะดัน

เดือน ก.พ. 62 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจ "สถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง" จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ข้อมูลของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ระบุจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศมี 185,303 ราย

กลุ่มตัวอย่าง 1,243 รายพบว่า 70.06 เปอร์เซ็นต์ ได้จดทะเบียนถูกต้องแล้ว และมีรถเป็นของตัวเอง อายุเฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ 39 ปี ทำอาชีพนี้มาแล้วเฉลี่ย 8 ปี ในแต่ละเดือนต้องขี่รถเพื่อหารายได้ถึง 25 วัน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน โดย 79.57 เปอร์เซ็นต์ ยึดการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพหลัก เพียงอาชีพเดียว

มีรายได้เฉลี่ย 974.81 บาทต่อวัน หรือ 24,370.25 บาทเดือน ขณะเดียวกัน รายได้ดังกล่าวต้องนำไปดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ย 4 คน และเกือบทั้งหมดไม่มีการขึ้นทะเบียนเข้ารับระบบสวัสดิการจากภาครัฐ


อนาคตแห่งความไม่แน่นอน

นอกเสียจากความขัดแย้งกันเองแล้ว วินมอเตอร์ไซค์ยังมีปัญหาสม่ำเสมอกับคู่ปรับอยาง ‘แกร็บไบค์’

เฉลิมซึ่งเป็นชาวบุรีรัมย์ บอกว่า ภาพลักษณ์ของวินในปัจจุบันได้กลายเป็นเหมือนผู้ร้ายหรือตัวฉุดรั้งความเจริญทั้งที่จริงๆ แล้ววินเพียงแค่เรียกร้องความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายที่เท่าเทียมกันเท่านั้น

“กฎหมายต้องพัฒนาให้วินสามารถแข่งขันกับแกร็บไบค์ได้อย่างเท่าเทียม แกร็บไบค์อยู่ในฐานะผิดกฎหมายแต่กลับหารายได้อย่างไร้ข้อจำกัด เมื่อเทียบกับวินที่ไม่สามารถวิ่งรับส่งผู้โดยสารข้ามเขตพื้นที่ได้ ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ต้องเป็นป้ายเหลือง ต้องสวมใส่เครื่องแบบตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงต้องใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 125 ซีซีเท่านั้น”

วินมอเตอร์ไซค์-แกร็ปไบค์-กรมการขนส่ง-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

วินวัย 54 ปีที่ประท้วงการวิ่งของ 'แกร็บไบค์' มาหลายครั้ง บอกว่า เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนที่ต้องเลือกสิ่งที่ดีกว่า ถูกกว่า แต่อยากให้คำนึงถึงกฎหมายและหวังว่าเร็วๆ นี้ภาครัฐจะมีแนวทางที่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่ละเลยความเป็นอยู่ของวิน

“ในการพิจารณาควรเอาพวกเราที่มีส่วนได้ส่วนเสียไปนั่งหารือ พูดคุยให้เห็นผลประโยชน์ของทั้งผู้บริโภค คนขับ ผู้ประกอบการ สังคมและประเทศชาติ ไม่ใช่คุยกันเองในระดับบนและให้น้ำหนักกับเพียงบางฝ่าย”

นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เห็นว่าการนิ่งเฉยของรัฐนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างวินแกร็บ และประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความไม่เป็นธรรมที่วินได้รับ

“เราไม่อยากเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชนและไม่อยากไปวิ่งตามคนที่ทำผิดกฎหมายด้วย” เฉลิมผู้เรียกร้องให้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าแค่เรื่องเฉพาะหน้ากล่าวทิ้งท้าย 

เฉลิม ชั่งทองมะดัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog