ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติประเมินสถานการณ์ไทยหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. อาจจะเป็นเหมือน 'เมียนมา' เพราะต้องเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลทหารซึ่งเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญและ ก.ม.เลือกตั้ง แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ แต่ผู้มีอำนาจตัวจริงคือ 'กองทัพ'

'ชีธ คีดีร์' ผู้สื่อข่าวอาวุโสของฟรีมาเลเซียทูเดย์ เผยแพร่บทความ Is Thailand becoming Myanmar? ลงในเว็บไซต์ดิอาเซียนโพสต์ ซึ่งมุ่งเน้นรายงานข่าวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศสมาชิกอาเซียน ระบุว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.ทั่วประเทศไทย อาจทำให้ไทยไม่ต่างจากเมียนมา

บทความของคีดีร์เปรียบเทียบการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเมียนมาเมื่อปี 2558 โดยระบุว่า แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา (เอ็นแอลดี) นำโดยนางอองซาน ซูจี สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในครั้งนั้น แต่การเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่ออดีตรัฐบาลเผด็จการทหารและกองทัพทัตมาดอว์ของเมียนมา ทำให้รัฐบาลพลเรือนของนางซูจีไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง

คีดีร์ระบุว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาเป็นผู้วางกรอบกติกาและกฎหมายต่างๆ ที่ช่วยให้กองทัพเมียนมายังสามารถสืบทอดอำนาจทางการเมืองการปกครองต่อไปได้หลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2558 แม้พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหารจะได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี แต่มีการกำหนดเงื่อนไขให้กองทัพเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.ร้อยละ 25 ของจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมด ส่วนกรณีของไทยก็มีการตั้งเงื่อนไขให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ซึ่งข้อสังเกตนี้ก็ถูกรายงานผ่านข่าว 'Numbers game: How Thailand's election system favors pro-army parties' ของรอยเตอร์เช่นกัน

ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของพลเรือน แต่อำนาจของ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยกองทัพ ผนวกรวมกับ ส.ส.ที่สังกัดพรรคสนับสนุนกองทัพ ก็มีเสียงมากพอที่จะทำให้รัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้อย่างราบรื่น เพราะไม่มีเสียงข้างมากชี้ขาด ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหารเมียนมาในอดีตก็มีเงื่อนไขจำกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มงวด เช่น กรณีที่นางซูจีไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ด้วยตัวเอง เพราะกฎหมายที่เขียนโดยอดีตเผด็จการทหารห้ามผู้มีสมาชิกครอบครัวเป็นชาวต่างชาติเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี

VTK_0129.jpgซูจี-ประยุทธ์
  • อองซาน ซูจี ผู้นำพรรครัฐบาลเอ็นแอลดี ถูกวิจารณ์ว่าปล่อยให้กองทัพแทรกแซงการเมืองมากเกินไป

นักวิเคราะห์ในหลายประเทศเห็นตรงกันว่าเงื่อนไขดังกล่าวถูกเผด็จการทหารกำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันนางซูจีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากซูจีมีสามีเป็นชาวอังกฤษ แม้จะล่วงลับไปแล้ว แต่ลูกชายทั้งสองคนของซูจียังคงถือสัญชาติอังกฤษและพำนักอาศัยอยู่ในอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม คีดีร์ระบุว่า ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างรัฐบาลทหารไทยและเมียนมาก็คือ กองทัพเมียนมาไม่ได้พยายามปกปิดเป้าหมายที่จะควบคุมอำนาจของรัฐบาลพลเรือน และแม้ว่าเมียนมาจะมีการเลือกตั้งจนสามารถกลับคืนสู่รัฐบาลพลเรือนได้แล้ว แต่ไม่อาจบอกได้ว่าประชาธิปไตยในแบบเมียนมานั้นคือระบอบที่มีความเป็นสากลและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งคำถามเดียวกันนี้อาจถูกนำมาใช้กับประเทศไทยเช่นกัน


เงา 'รัฐประหาร' และ 'ทักษิณ' ยังหลอกหลอน

บทความของคีดีร์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของประเทศไทย นอกเหนือจากกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลทหารแล้ว ยังต้องพิจารณารวมไปถึงท่าทีของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน 'พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์' ซึ่งกล่าวไว้หลายครั้งว่า ถ้าประเทศชาติไม่กลับไปสู่ความวุ่นวาย กองทัพก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

นักวิเคราะห์จำนวนมากตีความคำกล่าวของ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นการย้ำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กองทัพพร้อมที่จะก่อรัฐประหารหรือเข้าแทรกแซงการเมืองไทยเหมือนเดิมหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. เนื่องจากมีแนวโน้มสูงว่าพรรคที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะได้รับคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญยังมอบอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตามเดิม ทำให้ฝ่ายสนับสนุนกองทัพยังคงมีอำนาจอยู่ในมือหลังเลือกตั้ง

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการทหารไทยว่าจะได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลต่อได้อย่างถล่มทลายหรือไม่ แต่จากการลงพื้นที่สำรวจจังหวัดต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บลูมเบิร์กพบว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในภูมิภาคนี้ยังคงสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณและพรรคเพื่อไทย บ่งชี้ว่าทักษิณยังคงเป็นเงาที่หลอกหลอนรัฐบาลทหาร

สุดารัตน์ ธนาธร  อภิสิทธิ์ over Template.jpg
  • แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ และประชาธิปัตย์

นอกเหนือจากพรรคเพื่อไทย ยังมี 'พรรคอนาคตใหม่' นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งประกาศนโยบายยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลทหาร ทำให้พรรคที่ก่อตั้งใหม่พรรคนี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงในกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยที่กำลังมองหาตัวเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เป็นประวัติการณ์ โดยสูงถึงร้อยละ 87 ของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมด 


หลังเลือกตั้ง ไม่มีผู้ชนะขาด ไทยอาจเข้าสู่ 'ทางตัน'

เติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ นักวิจัยจากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่ง ISEAS ประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่บทความ Thailand faces political deadlock after historic polls ในเว็บไซต์สเตรทส์ไทม์ส สื่อของสิงคโปร์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของไทยอาจนำพาประเทศไปสู่ทางตันทางการเมือง ซึ่งบทความดังกล่าวประเมินว่าพรรคการเมือง 3 พรรคใหญ่ที่เป็นตัวเก็งในการเลือกตั้งไทยครั้งนี้ ได้แก่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากแบบชนะขาด 

บทความยังระบุด้วยว่าตามปกติแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ว.จะต้องเป็นตัวแทนประชาชนในระบอบรัฐสภา แต่ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ส.ว. 250 เสียงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารจะตัดสินใจอย่างไรหากจะต้องโหวตเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนี้ การที่พรรคใหญ่ทั้ง 3 พรรคประกาศจุดยืนไม่เข้าร่วมกับฝ่ายที่เห็นต่าง ทำให้เกิดขั้วการเมือง 3 ขั้วที่ไม่อาจร่วมมือกันได้ แต่อาจจะยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่าจะไม่ร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ร่วมมือกับพรรคพลังประชารัฐได้ โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน พล.อ.ประยุทธ์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวมองว่า สถานการณ์หลังเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.จะยังสงบอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง เพราะเป็นช่วงก่อนจะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-6 พ.ค.2562 แต่ไม่อาจประเมินได้ว่าสถานการณ์หลังจากพระราชพิธีจะเป็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: