ไม่พบผลการค้นหา
อดีตแกนนำนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยเมียนมาประกาศตั้งพรรคใหม่ แยกออกมาจากพรรคเอ็นแอลดี เนื่องจากหมดศรัทธาในตัวอองซาน ซูจี ผู้เคยเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองใหม่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของฝ่ายหัวก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่

การเลือกตั้งเมียนมาปี 2015 ถือเป็นการเลือกตั้งแห่งความหวัง ชาวเมียนมาและนานาชาติต่างคาดหวังว่า ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดีจะทำให้ประเทศกลับมาเป็นประชาธิปไตย กลับสู่เส้นทางการปรองดองยุติสงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษระหว่างรัฐบาลเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ และปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่เวลาผ่านไปกว่า 2 ปี ความหวังเหล่านั้นกลับเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว

แม้รัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี จะผลักดันการงนามหยุดยิงทั่วประเทศ และจัดการประชุมปางโหลง เพื่อเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก็ยังมีข่าวการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่เรื่อยๆ อีกทั้งยังมีรายงานการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ด้วย และแม้แต่เสรีภาพของพลเมืองเมียนมาเองก็ถูกจำกัด มีการบังคับใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการประท้วง

ธิฮาถ่วย ผู้สื่อข่าวรุ่นเก่าของสำนักข่าว NHK ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดีว่า นางซูจีสามารถผ่านความท้าทายมากมายมาได้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และพยายามปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ทางการเมืองมาตลอด แต่ความล้มเหลวใหญ่ 2 ข้อของเธอก็คือ 1. เธอไม่สามารถโน้มน้าวกองทัพให้ยอมเข้าสู่การปฏิรูปได้ 2. คณะรัฐมนตรีมีจุดอ่อนมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพราะนางซูจีต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับกองทัพ ซึ่งก็เป็นอุปสรรคของกระบวนการประชาธิปไตยเมียนมา

ด้านวินลินอ่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาแสดงความเห็นว่า แม้พรรค NLD จะไม่ได้ประกาศออกมา แต่ก็ชัดเจนว่าหนึ่งในเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญก็คือการปรองดองกับกองทัพ ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะประเมินความสามารถในการล็อบบี้ของกองทัพสูงเกินไปจนทำให้กระบวนการสันติภาพไม่ค่อยมีความคืบหน้านัก

ตั้งพรรคใหม่ เพราะเบื่อซูจี

โกโกจี Ko Ko Gyi

(โกโกจี อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์ 8888 และผู้ก่อตั้งพรรค Four Eights)

นายโกโกจี อดีตแกนนำนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 8888 ก็เป็นอีกคนสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาที่รู้สึกเบื่อหน่ายกับรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา แม้ที่ผ่านมา อดีตแกนนำนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมียนมาจะมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกับนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดี เคยเป็นแกนนำการชุมนุมฉลองที่นางซูจีได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 1991 อีกทั้งยังเคยถูกรัฐบาลทหารคุมขังอยู่นานถึง 17 ปีด้วย แต่พรรคเอ็นแอลดี ก็ไม่ยอมให้เขาลงสมัครส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2015

โกโกจีวิจารณ์ว่านางซูจีล้มเหลวที่จะผลักดันให้เกิดสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม เพราะมัวแต่ให้ความสำคัญกับผู้นำกองกำลัง แต่ไม่สร้างความเข้มแข็งให้กับพลเรือนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์

นายโกโกจีประกาศเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ที่ชื่อว่า Four Eights โดยหวังว่าจะได้เสียงสนับสนุนจากคนที่รู้สึกผิดหวังกับการบริหารประเทศของนางและพรรคเอ็นแอลดี และการจัดการกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทางเลือกใหม่ในการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการเมืองเมียนมาที่ยังถูกครอบงำโดยกองทัพเมียนมา

อย่างไรก็ตาม บางคนก็ทักท้วงว่าชื่อพรรค Four Eights ที่อ้างอิงเหตุการณ์ 8888 เป็นชื่อที่ไม่เหมาะสม เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวของประชาชน ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และอดีตแกนนำนักศึกษาคนสำคัญในเหตุการณ์ 8888 อีกหลายคนก็ไม่ได้เข้าร่วมพรรคนี้ด้วย

โรฮิงญาเป็นบททดสอบผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนตัวจริง

โรฮิงญา.jpg

(ชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ)

แม้พรรค Four Eights จะเปิดตัวมาโดยหวังว่าจะได้เสียงจากคนรุ่นใหม่และหัวก้าวหน้า แต่แกนนำเยาวชนคนสำคัญๆ หลายคน เช่น นายโมทวย ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเยาวชนส่งเสริมประชาธิปไตย “เจนเนอเรชั่น เวฟ” และนายเธตส่วยวิน นักกิจกรรมส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนต่างศาสนา ก็ลาออกจากพรรคใหม่นี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญารัฐยะไข่ ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยออกไปยังบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน เนื่องจากพวกเขาเห็นใจชาวโรฮิงญา จึงไม่สามารถประนีประนอมกับจุดยืนของนายโกโกจีการเป็นปฏิปักษ์กับชาวโรฮิงญา

นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่คนสำคัญอย่าง ธินซาร์ ชุนเล ยีก็เปิดเผยว่า เธอเลือกที่จะไม่เข้าร่วมพรรค Four Eights ด้วยเหตุผลคล้ายๆ กับอีกหลายคน โดยมองว่านี่เป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตมาในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ได้เห็นโลกภายนอกมากกว่าคนรุ่นเก่าที่มีความชาตินิยมสูง และมองชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมาย

ฝ่ายหัวก้าวหน้าที่เห็นใจชาวโรฮิงญาก็ยังถือเป็นคนส่วนน้อย เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็ยังมีความชาตินิยมสูงมาก แต่เรื่องโรฮิงญาถือเป็นบททดสอบได้ดีว่าใครที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง ซึ่งคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าจึงมองว่าพรรค Four Eights ยังไม่ใช่พรรคที่พวกเขาต้องการ ขณะที่พรรคเอ็นแอลดี ก็ปิดประตูรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายฝ่ายประชาธิปไตย จึงต้องหันมาพิจารณาว่าควรต้องตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาเองหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาจะถูกโจมตีอย่างหนัก ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลของนางซูจี ที่ก็ยังได้รับความนิยมสูงมาก แม้จะยังไม่เห็นความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศอย่างที่ทุกคนคาดหวังก็ตาม

ที่มา: VOA News, Frontier Myanmar, Irawaddy