โดยที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ เลือกที่จะ ‘นิ่ง’ และ ‘เลี่ยง’การตอบคำถามการเมือง แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า อย่าให้ ‘บิ๊กแดง’ ได้ตอบ แรงแน่นอน
ล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์ถึง 2 ครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เรียกร้องไม่ให้มีการ ‘เลื่อนเลือกตั้ง’ ออกไปอีก หลังฝั่ง คสช. ระบุว่าเลือกตั้งอาจเลื่อนไปในเดือน มี.ค.นี้ จากวันที่ปักธงแต่แรก คือ 24 ก.พ.นี้ ด้วยเหตุผลไม่ให้ปฏิทินการเมืองหลังเลือกตั้งกระทบช่วงเวลางานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเวลา 150 วัน หลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้เมื่อ 11 ธ.ค. 2561 ซึ่งการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 9 พ.ค. นี้
“ต่างคนต่างความคิด คนบางคนคิดอย่างนี้และโดนสั่งให้มาทำอย่างนี้ ก็คิดอยู่ในโหมดนี้อย่างเดียว ไม่ได้มององค์ประกอบต่างๆว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ได้มองถึงรัฐธรรมนูญและกรอบเวลาที่ทาง กกต.ได้กำหนดไว้แล้ว มันก็มีคนประเภทนี้ในสังคมไทย ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากจะให้เกิดความวุ่นวาย ก็เป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่อย่างนี้”
“ผมคิดว่าคนที่เขาเข้าใจคงจะรำคาญ ประชาชนที่อยากทำมาหากินตามปกติและที่มีเหตุผล ว่าทำไมจะต้องเลื่อนเลือกตั้ง ซึ่งผมก็ยังไม่ได้รับทราบเพราะ กกต. ไม่ได้ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก็ตีความกันไป” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
หากดูให้ดีถือเป็นการแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่มที่ชัดเจน ทั้งคนที่รำคาญการออกมาของกลุ่มผู้ชุมนุมฯ และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่ง ‘บิ๊กแดง’ มองว่าเป็นกลุ่มที่ ‘โดนสั่งมา’ และ ‘มีหน้าที่’ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ในส่วนนี้ถือเป็นการกล่าวพาดพิงใน ‘ตัวบุคคล-กลุ่ม’ เป็นหลัก อีกทั้งทำให้ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีทันทีว่ามีทัศนคติไม่ดีกับผู้ชุมนุม ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องออกมาชี้แจง และระบุว่า ‘อ่านเกม’ การเมืองทัน รวมทั้ง ‘ส่งสัญญาณ’ สำคัญออกมา ที่มากกว่าการพาดพิง ‘กลุ่ม-ตัวบุคคล’
“ผมไม่เคยบอกว่ามีทัศนคติที่ไม่ดี แต่ผมมีทัศนคติดี ต้องกลับไปถามว่า ผมมีประสบการณ์อยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมมาหลายปี เพราะฉะนั้นผมพอที่จะอ่านเกมออก เขาอยากจะพูดอะไรถือเป็นสิทธิ ผมคงไม่ไปโต้ตอบ และจะทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงอย่างตรงไปตรงมาพร้อมปฏิบัติธรรมตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากทุกคนไม่ล้ำเส้นอยู่ในกรอบในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ว่ากัน” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
หากจับประโยคให้ดีจะเห็นคำสำคัญคือคำว่า ‘ไม่ล้ำเส้น’ ที่ถูกตีความอย่างหลากหลาย
แต่ในบริบทเวลานี้ มองกันว่าเป็นเรื่อง งานพระราชพิธีฯ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวเชิงปรามกลุ่มผู้ชุมนุมฯ ที่ดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง-เลือกตั้ง
ถือเป็นการ ‘ส่งสัญญาณสำคัญ’ ที่แต่ละฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหว ต้องนำไปฉุกคิด อีกทั้งเพราะเป็นคำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย ยิ่งทำให้ ‘น้ำหนัก’ ไม่ธรรมดา อีกทั้ง ‘บิ๊กแดง’ ยังมองด้วยว่า ‘สัญลักษณ์’ ของผู้ชุมนุม คล้ายคลึงกับสัญลักษณ์การชุมนุมในอดีตด้วย
"เมื่อท่านมาขีดเส้นไว้ว่าคนนั้นต้องทำอย่างนั้น ท่านก็ต้องขีดเส้นตัวเองด้วย ไม่ใช่มาขีดเส้นให้คนโน้น คนนี้เดินอย่างเดียว เอาเส้นขาวหรือเส้นอะไรมาวางให้เขาเดิน ท่านก็ต้องขีดเส้นที่ตัวท่าน อย่ามาล้ำเส้นกัน ฝ่ายการเมืองก็เดินไป ฝ่ายความมั่นคงทำงานไป ก็จะเป็นระบบสอดคล้องกัน” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
“สัญลักษณ์ของคนที่ไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็มีสัญลักษณ์คล้ายคลึงกันกับสิ่งที่เกิดที่ผ่านมาในอดีต” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
หากย้อนไทม์ไลน์ พล.อ.อภิรัชต์ ถือว่ามีบทบาททางการเมืองไม่น้อย ที่ชัดเจนสุดคือปี 2552 สมัยเป็น ‘ผู้การ’ ร.11 รอ. ผ่านปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี จากคนเสื้อแดง
เมื่อถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ ‘บิ๊กแดง’ ถูกโยกไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 เพชรบุรี แต่การกลับมาผงาดของ ‘บิ๊กแดง’ เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.57 เพียง 1 เดือน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดันขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. ที่คุมพื้นที่ กทม. ทั้งหมด แสดงถึงความ ‘ไว้วางใจ’ และเชื่อใน ‘ฝีมือ’ ที่มีให้กัน
ทว่าล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้ทิ้งปมให้ต้องไปไขปริศนาต่อ ที่ก็จับทางกันได้ว่า คือการ ‘รัฐประหาร’ นั่นเอง เพราะหากพูดไป อาจมี ‘แรงตีกลับ’ มาได้ เพราะสถานะของ ‘บิ๊กแดง’ ที่มีตำแหน่งสำคัญอยู่
“จากประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ผมเชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่อยากให้เกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านอย่า ไม่พูดดีกว่า” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว ก่อนเดินออกจากโพเดี้ยม
แต่ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ สร้างความฮือฮา มาตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ หลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. ใหม่ๆ ที่ไม่รับประกันจะไม่ ‘ปฏิวัติ-รัฐประหาร’ พร้อมชี้ว่าสาเหตุมาจากการเมืองและการจราจล รวมทั้ง ‘บิ๊กต่าย’พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ที่รับลูก แต่ ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ได้ออกมาสยบข่าวว่าเป็น ‘แผนเผชิญเหตุขั้นสุดท้าย’ เท่านั้น
“สิ่งที่สื่อถามว่าจะมีปฏิวัติหรือไม่ ผมหวังอย่างยิ่งว่าการเมืองอย่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติอีก ผมมั่นใจว่าถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
“ท่านพูดมีเหตุผล เชื่อว่าทหารหรือทุกๆ คนเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาล ประชาชนทั่วไป หรือทหาร ไม่อยากปฏิวัติอยู่แล้ว เรามีหน้าที่รักษาความสงบและเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ถ้าทุกคนร่วมใจกันอยู่ในกติกาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต และเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำ” พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ กล่าว
"ท่านพูดด้วยประสบการณ์ นั่นคือแผนเผชิญเหตุสุดท้าย แต่ในขณะที่กลไกกฎระเบียบของบ้านเมืองยังใช้บังคับได้ และผู้คนเคารพกฎหมาย ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งก็ยังไม่เห็นปรากฏว่ามีนัยสำคัญ จนถึงขนาดที่ต้องน่ากังวล การที่เราไปพูดถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะเกิด” พล.อ.พรพิพัฒน์ กล่าว
อนาคตของ ‘บิ๊กแดง’ จึงถูกจับตามองไม่น้อยถึง ‘บทบาท’ ในอนาคต จะซ้ำรอย พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ ที่ทำรัฐประหารและนั่งนายกฯเองมาแล้ว 4 ปีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองนับจากนี้หากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. ออกมาแล้ว และทาง กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งขึ้น รวมทั้งแต่ละพรรคต้องเสนอชื่อ ‘แคนดิเดตนายกฯ’
อีกทั้งหากชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ กระแสจะเป็นอย่างไร เพราะเท่ากับว่าสภาวะการเป็น ‘กรรมการกลาง’ จะสิ้นสุดทันที ไปร่วมเป็นอีก ‘ผู้เล่นทางการเมือง’ จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ระมัดระวังตัวเป็นอย่างมาก ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้
“ผมยังไม่ได้ยินว่าหัวหน้า คสช.จะเล่นการเมือง คนเรามีท่าทีได้แต่ยังไม่ได้ประกาศว่าจะลงเล่นการเมือง ผมมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะตอบคำถามนี้ และ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้พูดอะไรเพราะยังเป็น หัวหน้าคสช.” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อไปแล้ว ท่าทีของ ‘กองทัพ’ จากนี้จึงน่าสนใจไม่น้อย
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ เคยยืนยันหลังประกาศ “ผมสนใจงานการเมือง” ว่าจะไม่ ‘ลาออก’ จากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบถึงดาบ 2 คมนี้ จึงยืนยันว่าจะไม่ออกคำสั่ง มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือมีผลทำให้มีส่วนได้เสียทางการเมือง
ดังนั้นสถานการณ์เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีชื่อเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ อย่างเป็นทางการของพรรคเมื่อใด ? รวมทั้งเรตติ้ง-คะแนนเสียงของพรรคขั้วหนุน คสช.ในเวลานั้นเป็นอย่างไร ?
ถือเป็น ‘ปัจจัย’ ต่อกองทัพไม่น้อย ที่จะเลือกตั้งสินใจบางอย่าง
แน่นอนว่าการ ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ คงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆระหว่าง ‘กองทัพ’ กับ พล.อ.ประยุทธ์
แต่สถานการณ์จะต้องมีปัจจัยเอื้อจาก ‘ขั้วต้าน คสช.’ ปลุกเร้าออกมา โดยเฉพาะสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ เคยชี้ถึงเหตุจลาจลและเรื่องการเมืองที่นำมาสู่การ ‘ปฏิวัติ - รัฐประหาร’ จึงได้ออกมาปรามม็อบเลือกตั้งว่า ‘อย่าล้ำเส้น’
ท่ามกลางกระแสข่าว ‘ปฏิวัติซ้ำ – รัฐประหารซ้อน’ ที่ยังคงมีอยู่
และยิ่งช่วง ‘คสช. ลงหลังเสือ’ กลับยิ่งดังขึ้นมาอีกครั้ง แต่ด้วยบริบทต่างๆที่เปลี่ยนไป ‘สมการอำนาจ’ หรือ ‘สูตรปฏิวัติ-รัฐประหาร’ ก็เปลี่ยนไปด้วย
ไม่มีใครรับประกันได้ว่า รัฐประหาร 22 พ.ค.57 จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่ ? แต่อาจมีวิธีที่ ‘แนบเนียน’ กว่าเดิมก็เป็นได้ หรือที่เรียกกันว่า ‘ปฏิวัติเงียบ’ นั่นเอง
สุดท้ายหนีไม่พ้น จุดติดเมื่อ ‘ล้ำเส้น’ ลงมือเมื่อ ‘สุกงอม’ สูตร ‘ปฏิวัติ - รัฐประหาร’ !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง