วันที่ 13 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่วัดระฆังโฆสิตาราม หลังได้ดำเนินการมอบอาหารช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนรอบวัดระฆังโฆสิตาราม รวมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ วัดระฆังโฆสิตาราม มีระบบการบริหารจัดการการมอบอาหารอย่างมีระบบ และมุ่งเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก โดยคณะสงฆ์และผู้นำชุมชนจะลงพื้นที่ไปแจกคูปองให้กับชาวบ้านถึงที่พักล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้ไปรับของในวันรุ่งขึ้นและแจ้งเวลาที่ชัดเจนในการไปทางวัด เพื่อลดความแออัดของประชาชน
โดยในวันมอบสิ่งของและอาหารทางวัดระฆังได้กำหนดให้โรงเรียนโฆสิตาราม เป็นจุดคัดกรองเบื้องต้นและเป็นสถานที่พักรอ ซึ่งได้จัดเก้าอี้ให้นั่งพักรอเว้นระยะห่าง 2 เมตร ก่อนให้ประชาชนเข้าแถวไปรับสิ่งของในบริเวณจุดที่วัดจัดไว้ รวมถึงจัดให้ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อนเข้ารับสิ่งของ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีการเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของประชาชนผู้มีจิตอาสาภายในโรงครัวของวัด ซึ่งมีการประกอบอาหารปลุกสุกแจกจ่ายให้ชุมชนใกล้เคียงและผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนเป็นประจำทุกวัน
ส่วนผู้ที่มีจิตศรัทธาจะร่วมในการช่วยเหลือเครื่องอุปโภคบริโภค ก็สามารถติดต่อโดยตรงที่ได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือฯ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค หรือติดต่อโดยตรงที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัดได้
นายกรัฐมนตรีชื่นชมมหาวิทยาลัยไทย เตรียมเปิดหลักสูตรยกระดับแพทย์วิชาชีพ
ขณะเดียวกันนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เตรียมเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) แห่งแรกในประเทศไทย สานฝันผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาให้สามารถศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์วิชาชีพได้ ถือได้ว่ายกระดับการแพทย์ไทยเพื่อรองรับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และอื่นๆในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีโอกาสที่จะพัฒนาให้เป็น Medical Higher Education เพราะประเทศไทยได้รับการยอมรับสูงมากในเรื่องของการจัดการโรคระบาด ถ้าใช้โอกาสนี้ยกระดับการเรียนการสอนทางด้านแพทยศาสตร์ให้ไปสู่ระดับชั้นนำของโลก โดยเฉพาะระบาดวิทยาและโรคอุบัติใหม่ ทำการปรับหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้เป็นอินเตอร์ รองรับนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน นับเป็นมิติใหม่ของการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นกำลังหลักของสังคมในระดับสากลต่อไป