เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางการอังกฤษถอดถอนสัญชาติของชามิมา เบกุม ผู้หญิงวัย 19 ปี ซึ่งไปเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่ซีเรียเมื่ออายุ 15 ปี แต่ตัสนีม อาคุนจี ทนายของครอบครัวเบกุมเปิดเผยว่า เขากำลังพิจารณาวิธีการทางกฎหมายทั้งหมด เพื่อคัดค้านการถอดถอนสัญชาติของเบกุม โดยย้ำว่าอังกฤษไม่สามารถปล่อยให้เบกุมเป็นคนไร้สัญชาติได้
เมื่อปี 2015 เบกุมเดินทางออกจากกรุงลอนดอน เพื่อไปเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่ซีเรีย แต่เธอตัดสินใจออกจากเมืองบากุซ ฐานที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มไอเอส จากนั้นผู้สื่อข่าวของไทม์สก็ได้ไปพบเธอในค่ายผู้ลี้ภัยซีเรีย ซึ่งเธอเพิ่งคลอดบุตรคนที่ 3 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
โฆษกกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจะไม่กล่าวถึงกรณีของใครแบบเฉพาะเจาะจง แต่ยืนยันว่าการตัดสินใจถอนสัญชาติอังกฤษจะพิจารณาจากหลักฐานทั้งหมด และกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงของสหราชอาณาจักรและประชาชนที่อาศัยอยู่เป็นอันดับแรก
ถอนสัญชาติอังกฤษ = ไร้สัญชาติ?
ตามกฎหมายว่าด้วยเร��่องสัญชาติของอังกฤษปี 1981 ระบุว่า ทางการอังกฤษสามารถถอนสัญชาติอังกฤษได้ หากกระทรวงมหาดไทยเห็นว่า การถอนสัญชาติของพลเมืองคนนั้นจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ และเมื่อถอนสัญชาติแล้ว คนนั้นจะต้องไม่กลายเป็นคนไรสัญชาติ ซึ่งจะขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
แหล่งข่าวในรัฐบาลอังกฤษระบุว่า อังกฤษสามารถอนสัญชาติของเบกุมได้ เนื่องจากเธอยื่นขอสัญชาติบังกลาเทศได้ แต่ทนายความของเบกุมยืนยันว่า อังกฤษไม่สามารถถอนสัญชาติและปล่อยให้เบกุมเป็นคนไร้สัญชาติได้
ลอร์ด คาร์ลิล ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายกล่าวว่า หากแม่ของเบกุมมีสัญชาติบังกลาเทศจริง เธอก็จะมีสัญชาติไปด้วยตามกฎหมายของบังกลาเทศ แต่เบกุมเปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เธอไม่มีหนังสือเดินทางและไม่มีสัญชาติบังกลาเทศ และไม่เคยเดินทางไปบังกลาเทศเลย ครอบครัวของเธอก็ระบุว่า รัฐบาลบังกลาเทศไม่เคยรู้กับเบกุมมาก่อน และการถอนสัญชาติอังกฤษของเบกุมจะทำให้เธอเป็นคนไร้สัญชาติ
ลูกเบกุมยังมีสัญชาติอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ลูกชายของเบกุมที่เพิ่งเกิดนั้นก็จะยังได้สัญชาติอังกฤษ ในฐานะที่เป็นเด็กที่เกิดจากพลเมืองอังกฤษ ก่อนที่จะถูกถอนสัญชาติ และแม้ในทางทฤษฎี ทางการอังกฤษจะสามารถถอนสัญชาติอังกฤษของลูกชายเบกุมได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิของเด็กและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
เบกุมให้สัมภาษณ์ว่า เธอไม่ได้ต้องการกลับอังกฤษมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนไปเข้าร่วมกับไอเอส และไม่ได้อยากทำตัวให้เป็นข่าวเอง แต่เพียงต้องการจะเลี้ยงลูกอย่างสงบในอังกฤษ และการถอนสัญชาติอังกฤษของเธอเป็นการตัดสินใจที่ไม่ยุติธรรมกับเธอและลูกเลย
ถอนสัญชาติขัดหลักการสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
ลิเบอร์ตี กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า อัยการจะต้องพิจารณาหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมายและหลักนิติธรรม ในขณะที่พยายามจะป้องกันความปลอดภัยของสาธารณะ
โฆษกของลิเบอร์ตีกล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษมีอำนาจหลายทางในการจัดการกับคนที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายอาญา แต่การริบสัญชาติของบุคคลเป็นหนึ่งในมาตรการที่ร้ายแรงมากที่สุด และไม่ควรนำมาใช้พร่ำเพรื่อ
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามด้วยว่า ขณะที่เบกุมมีอายุเพียง 15 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นผู้เยาว์ แต่กลับสามารถเดินทางออกนอกประเทศอังกฤษไปยังซีเรียเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอส โดยที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดๆ ติดตามดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองเธอเลยได้อย่างไร
ไม่เสียใจที่ไปร่วมกับไอเอส แต่ขอให้ชาวอังกฤษให้อภัย
เบกุมกล่าวว่าเธอไม่รู้สึกเสียใจเลยที่เดินทางไปซีเรีย แต่เธอก็ไม่ได้เห็นด้วยกันการกระทำของกลุ่มไอเอสทั้งหมด เธอกล่าวกับบีบีซีว่า เธอรู้สึกตกใจกับที่กลุ่มไอเอสอ้างว่าเป็นผู้โจมตีแมนเชสเตอร์อารีนาเมื่อปี 2017 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 ราย เธอรู้สึกเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ แต่เธอก็เปรียบเทียบความโหดร้ายนั้นกับการปฏิบัติการของกองทัพตะวันตกที่โจมตีฐานที่มั่นของไอเอส การโจมตีแมนเชสเตอร์อารีนาจึงเป็น 'การตอบโต้' ที่ไม่ผิดหลักศาสนา
ผู้สื่อข่าวของบีบีซีกล่าวว่า เขาได้ถามความเห็นของเบกุมเกี่ยวกับการกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นไว้เป็นทาส การสังหาร และการข่มขืนผู้หญิงชาวยาซิดีโดยนักรบไอเอส เธอตอบว่า ชาวชีอะห์ในอิรักก็ทำเช่นเดียวกัน แต่เหตุผลที่เธอออกจากที่มั่นสุดท้าย เป็นเพราะ 'คอลิฟะห์' หรือรัฐอิสลาม 'ล่มสลายลงแล้ว'
เบกุมกล่าวว่า เธอยังสนับสนุนค่านิยมบางอย่างของชาวอังกฤษอยู่ และเธอต้องการกลับไปอยู่ที่อังกฤษอีกครั้ง เธอเพียงต้องการได้รับการอภัยจากอังกฤษ เธอไม่ต้องการสูญเสียลูกไป และค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่สถานที่ที่จะเหมาะกับการเลี้ยงดูลูก
ที่มา : BBC, The Guardian