วันนี้ (26 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ติดตามและสรุปสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมรวบยอดมาตรการฝุ่นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการมาโดยตลอดต่อเนื่อง รวมถึงข้อเสนอต่อรัฐบาลในการเพิ่มอำนาจหน้าที่การจัดการด้านฝุ่น ณ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ดีขึ้นเพราะอากาศเริ่มถ่ายเท สภาพที่เห็นเช้าวันนี้ไม่ใช่ฝุ่น 100% ส่วนหนึ่งเกิดจากความชื้นสัมพัทธ์ทำให้เกิดเป็นละอองน้ำเหมือนหมอก โดยต้นสัปดาห์นี้ค่าฝุ่นก็จะดีขึ้น โดยคาดการณ์อัตราการระบายอากาศวันที่ 27-29 ม.ค. จะดีขึ้นมาก แม้วันที่ 30 ม.ค. จะต่ำลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตามช่วงสัปดาห์นี้อากาศจะดีขึ้นเพราะได้ระบายฝุ่นที่สะสมออกไป
ทั้งนี้ ในภาพรวมของประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง ภาคกลางมีจุดแดงเพิ่มขึ้นรวมถึงภาคอีสาน เชื่อว่ามาจากการเผา เพราะภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปริมาณรถยนต์สำหรับจุดเผา ในช่วงวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา รอบกรุงเทพมหานครยังมีการเผาเยอะ แต่โชคดีคือทิศทางลมที่พัดจากด้านล่างเข้ามาช่วยเบี่ยงฝุ่นออกไป
•Wrap Up Eleven - จากสกัดธาตุ สู่ 11 มาตรการฝุ่น กทม.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงประเด็นสำคัญว่า ครั้งนี้จะเป็นการพูดภาพรวมว่ากรุงเทพมหานครได้ทำอะไรไปบ้างในเรื่องฝุ่นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ไม่ใช่แค่ทำในช่วงนี้ แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าฝุ่นในกรุงเทพมาจากไหน โดยหลัก ๆ มาจาก 3 ส่วน คือ รถยนต์ สภาพอากาศปิด และการเผา แบ่งเป็น 30 – 30 – 30 โดยปกติจะมีแค่ รถยนต์ 30 แต่เมื่อมีอากาศปิดก็จะเพิ่มเป็น 60 สีเหลือง - ส้มที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และเมื่อมีการเผาร่วมด้วยก็จะเป็น 90 ซึ่งเป็นสีส้ม - แดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ถามว่าเราทราบได้อย่างไรว่าฝุ่นในกรุงเทพฯ มาจากรถยนต์หรือการเผา เรามีโครงการนักสืบฝุ่น ที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 65 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) นำโดย รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อม มก. โดยนำฝุ่นไปวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีอย่างละเอียด พบว่าในช่วงที่ฝุ่นไม่เยอะ อากาศถ่ายเท พบว่าฝุ่นส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ ส่วนในช่วงฝุ่นเยอะ พบว่าฝุ่นส่วนใหญ่มาจากการเผาชีวมวล ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
และนี่คือ 11 มาตรการฝุ่นจาก กทม.
1. Low Emission Zone (LEZ) เขตมลพิษต่ำ ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่เมืองชั้นใน
จำกัดโซนการวิ่งรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปที่ไม่ลงทะเบียนสีเขียว ห้ามเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก รวมพื้นที่ 9 เขต และแนวถนนผ่าน 13 เขต ใครไม่ลงทะเบียนเข้ามาจะโดนปรับ เราวางแผนกว่าครึ่งปี ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมรถเข้าพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน มีรถลงทะเบียนบัญชีสีเขียวกว่า 38,000 คัน ซึ่ง 2 วันที่ผ่านมารถที่เข้ามาในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก เกือบ 7,000 คัน ขึ้นบัญชีสีเขียวราว 10 เปอร์เซ็นต์
“มาตรการ Low Emission Zone ถือเป็นการใช้กฎหมายเท่าที่อำนาจเรามี เสาะหาวิถีทางควบคุมฝุ่น PM2.5 นอกจากบังคับใช้ ยังสร้างแรงจูงใจให้ปฏิบัติไปพร้อมกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
2. โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น
สำหรับช่วงรอบ 2 ของโครงการรถคันนี้ลดฝุ่น กทม. เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 67 เพราะจากการวิจัยพบว่าการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง สามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 55% เราได้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ร่วมลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ครั้งนี้มีรถเข้าร่วมแล้ว 260,752 คัน จากเป้า 500,000 คัน โครงการนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมลดฝุ่นได้
3. ห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียน กทม.
โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เปิดห้องเรียนปลอดฝุ่น และ ห้อง safe zone ให้เด็กนักเรียนเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยปี 67 เราดำเนินการปรับปรุงทุกโรงเรียนให้มีห้อง safe zone เป็นห้องใหญ่ที่ติดแอร์และเครื่องกรองอากาศ ส่วนห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียน กทม. จากทั้งหมด 437 โรงเรียน มีชั้นอนุบาล 429 โรงเรียน มีห้องเรียนอนุบาล 1,966 ห้อง ปรับปรุงเสร็จแล้ว 744 ห้อง และทำให้เสร็จทั้งหมดภายในปีนี้
4. เครือข่าย Work From Home (WFH)
ในช่วงที่ผ่านมา กทม. ออกมาเตือนก่อนใครให้ขอความร่วมมือ WFH ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกับ กทม. เป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จากประมาณ 155 บริษัท ซึ่งเอกชนที่ร่วมโครงการให้ความเชื่อมั่น กทม. เพราะเรามีมาตรฐานชัดเจน พยากรณ์ได้แม่นยำ จึงฟังประกาศจากเรา เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาคเอกชนประชาชนมีส่วนร่วมได้เพื่อลดปัญหาฝุ่น การจราจรและดูแลสุขภาพตัวเอง
5. รถอัดฟางให้ยืมฟรี
กรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทำการเกษตรนับหมื่นไร่ เราจึงมีโครงการสนับสนุนเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรยืมใช้ฟรี เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตรและช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรจองแล้ว 2,000 – 3,000 ไร่ จากเขตหนองจอกและคลองสามวา
6. สนับสนุนทีมฝนหลวงช่วยฝุ่น กทม.
กทม. ไปปรึกษาหารือกับทีมฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินการเกษตร ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ช่วยปฏิบัติการลดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิ และการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่งกทม. พร้อมได้สนับสนุนทีมฝนหลวง ทั้งเรื่องรับบริจาคน้ำแข็งแห้ง และประสานเรื่องพื้นที่การบินในกรุงเทพฯ
7. เปิดช่องทางร้องเรียน แจ้งการเตือนฝุ่น
ในส่วนการเปิดช่องทางร้องเรียนและแจ้งเตือนฝุ่น กทม. ถือว่าทำได้ดีมาก ทั้งทาง Traffy Fondue ที่มีเมนูสำหรับให้แจ้งเรื่องฝุ่น เรื่องรถควันดำโดยเฉพาะ มี Line Alert ที่แจ้งเตือนเมื่อมีวิกฤต ให้ประชนรับรู้ทันท่วงที
8. การพยากรณ์ฝุ่น
เราสามารถพยากรณ์ฝุ่นที่แม่นยำขึ้นมาก มี Air BKK ที่พัฒนามาหลายเวอร์ชัน คาดการณ์ได้ล่วงหน้าหลายวัน เพราะเซ็นเซอร์ที่ใช้ในแอปมีคุณภาพมาตรฐานสูงกว่าทั่วไป
9. การตรวจฝุ่นที่ต้นตอที่ผ่านมา
กทม. ตรวจฝุ่นจากต้นตอมาโดยตลอดนับตั้งแต่ ตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ตรวจช่วงที่ฝุ่นเยอะ เช่น โรงงาน 236 แห่ง เราตรวจแล้วกว่า 14,600 ครั้ง แพนท์ปูน 105 แห่ง ตรวจแล้วกว่า 2,400 ครั้ง สั่งปิด 17 แห่ง เป็นต้น เรามีแผนในการตรวจตลอดแต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้ประกาศให้ประชาชนรู้ และสำหรับมาตรการในการตรวจ ก่อนหน้านี้กฏควบคุมก่อนไซต์ก่อสร้างไม่ได้พูดเรื่อง PM2.5 หลังจากเราเข้ามาทำงาน ได้เพิ่มเรื่อง PM2.5 ในการก่อสร้างอาคาร รวมถึงกฏเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะสั่งปิดไซต์งานได้
10. การปรับปรุงการจราจร
กทม. พยายามสนับสนุนให้ใช้การเดินทางที่ไม่สร้างมลพิษ ทั้งใช้จักรยาน Bike Sharing ทำทางเท้าให้ดี เป้าระยะทาง 1,000 กม. ดำเนินการไปแล้ว 800 กม. รวมถึงการจราจรบนถนนที่ใช้ระบบ AI มาช่วยควบคุมมากขึ้น หากการจราจรดีขึ้นก็มีส่วนช่วยให้การสะสมของฝุ่นน้อยลง
11.เพิ่มพื้นที่สีเขียว
โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ที่เริ่มทำตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ตอนนี้ปลูกไปแล้วกว่า 1 ล้าน 2 แสนต้น และขยายเป้าเป็น 2 ล้านต้น เป็นโครงการที่ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่อนาคตจะเป็นร่มเงาและคอยดักฝุ่นให้เมืองกรุง จัดทำสวน 15 นาที ที่ดำเนินการมาโดยตลอดเช่นกัน
• ส่งข้อเสนอแก่รัฐบาล ขยายขอบเขตการทำงาน สู่อำนาจการจัดการฝุ่นที่ กทม. ควรจะมี
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เนื่องจากการดำเนินการในหลายด้านสำหรับควบคุมฝุ่น PM2.5 กทม. ไม่มีอำนาจ 100% จึงได้ทำแนวทางเสนอรัฐบาลเพื่อให้มีอำนาจในการทำงาน คือ
1.การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ตามหลัก PPP
สิ่งที่ กทม. เคยเสนอรัฐบาลไปคือหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle) ซึ่ง กทม. ไม่มีอำนาจตรงนี้ ซึ่งอยู่ใน พ.ร.บ.อากาศสะอาด
2. การลดค่าความทึบแสงของการตรวจรถยนต์ควันดำ ภายใต้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จาก 30 เป็น 10 หรือขอให้ท้องถิ่นกำหนดเอง ซึ่ง กทม. อยากตรวจให้เข้มข้นกว่า 30 เพราะต่ำกว่านั้นก็ก่อให้เกิดมลพิษ และ กทม. มีรถยนต์เป็นจำนวนมาก
3.เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการการจัดการกับรถควันดำ ภายใต้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เช่น ปรับจากการต้องแก้ไขภายใน 30 วัน เป็นแก้ไขทันที
4.ขอให้ กทม. เป็นเจ้าพนักงานภายใต้ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก เพื่อมีอำนาจในการตรวจรถ 6 ล้อขึ้นไป
ทั้งหมดที่ว่ามา กทม. ยังไม่ได้รับตามข้อเสนอนี้ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว สภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบร่างข้อบัญญัติรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า โดยให้รถเมล์ทั้งหมดใน กทม. ต้องเป็นรถ EV ภายใน 7 ปี แต่ กฤษฎีกาแจ้งว่า กทม. ไม่มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติเพื่อกำหนดให้รถเมล์ใน กทม. เป็นรถไฟฟ้า และอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น การขอย้ายท่าเรือคลองเตย การเก็บภาษีรถเก่าควรเพิ่มไม่ใช่ลด ซึ่งเราอยากทำแต่ไม่มีอำนาจ
“ที่ผ่านมาเราทำงานเรื่องฝุ่น PM2.5 มาโดยตลอด บางอย่างที่อาจยังไม่เห็นผล บางอย่างอาจยังไม่ดีพอ คงต้องทำงานให้หนักขึ้น ประชาชนสามารถตำหนิได้เรายินดีนำไปแก้ไขและปรับปรุง ผู้ว่าฯ มีหน้าที่รับผิดชอบ หากใครมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาก็แจ้งมาได้เพราะทุกคนมีความรู้หลากหลายด้าน เรามีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ความคิดเห็นตลอด เพราะทุกเสียงของประชาชนมีส่วนช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ดีขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย