วันนี้ (25 ม.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีมีข้อวิจารณ์ถึงกรุงเทพมหานครว่าไม่ใช้ประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้นั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตต่าง ๆ ได้เคยมีการออกประกาศ เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และมีการใช้บังคับแล้วในปี 2566 ซึ่งเมื่อสถานการณ์ภายในเขตพื้นที่นั้น ๆ ได้มีการระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนแล้ว สำนักงานเขตได้ออกประกาศเพื่อยกเลิกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญดังกล่าว ส่วนในปี 2567 - 2568 หลายสำนักงานเขตได้ออกประกาศเพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขต โดยมีสำนักงานเขตหนองจอก สำนักงานเขตทวีวัฒนา และสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ออกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พร้อมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ
สำหรับการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้มีการจัดทำแนวทางการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับเป็นแนวทางให้กับสำนักงานเขตพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมและป้องกันปัญหาจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่เขต โดยให้ปรับใช้ตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มอบอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขในการออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญให้ผู้อำนวยการเขต ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1996/2562 เรื่อง มอบอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
ข้อ 2 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2562 โดยในการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28/1 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ให้สำนักงานเขตพิจารณาดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้แจ้งเวียนแนวทางดังกล่าวให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต พิจารณาดำเนินการ โดยสำนักงานเขตต้องพิจารณาออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญเมื่อในพื้นที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน และต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ ดังนี้
1. มีเหตุรำคาญจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น สำนักงานเขตต้องพิจารณาและคำนึงถึงกิจการหรือการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญอย่างชัดแจ้ง ประชาชนได้รับรู้และเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเหตุรำคาญ มีกฎหมายกำหนดห้ามกระทำการ และกำหนดเป็นความผิดอย่างชัดแจ้ง และมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง
2. มีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป
3. ผลกระทบต่อสุขภาพหรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยต้องปรากฏลักษณะบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) มีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนที่คาดว่าเป็นผลมาจากเหตุรำคาญที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
(2) มีผลการตรวจวัดค่าจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยพิจารณาจากค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ทั้งนี้ วิธีการตรวจวัดและค่ามาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในการพิจารณาเพื่อเตรียมการเฝ้าระวังและประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
(3) มีผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่บ่งชี้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือปรากฏโรค หรือความเจ็บป่วยของประชาชนที่คาดว่าเป็นผลมาจากเหตุรำคาญจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคตา โดยใช้วิธีทางการระบาดวิทยาหรือวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพตามความเหมาะสม
ด้านขั้นตอนในการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (ผู้อำนวยการเขต) ดำเนินการ ดังนี้
1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญ สภาพพื้นที่ที่เกิดเหตุ ขอบเขตบริเวณพื้นที่เกิดเหตุรำคาญและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน
2. วิเคราะห์ สรุปผล และประเมินสถานการณ์ปัญหาเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เห็นควรควบคุม
3. พิจารณาข้อมูลเบื้องต้นว่าสมควรประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาองค์ประกอบและลักษณะบ่งชี้ครบ 3 องค์ประกอบข้างต้น
4. กรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาเห็นว่าเป็นเหตุรำคาญ ให้ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญให้ดำเนินการระงับเหตุรำคาญตามมาตรา 27 หรือ 28 แล้วแต่กรณี
5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการป้องกันระงับเหตุรำคาญในพื้นที่ที่ประกาศควบคุมเหตุรำคาญ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยขอบเขตพื้นที่ที่เห็นควรควบคุม ประเภทสถานประกอบกิจการ หรือการกระทำใด ๆ ที่ต้องควบคุม และมาตรการป้องกันหรือระงับเหตุรำคาญ ทั้งนี้ อาจให้สถานประกอบกิจการหรือผู้ก่อเหตุรำคาญรายงานผลการดำเนินงานตามประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญได้
6. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการของราชการส่วนท้องถิ่นและบริเวณที่จะกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญและแจ้งให้สถานประกอบกิจการหรือผู้ก่อเหตุรำคาญหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญในพื้นที่ประกาศควบคุมเหตุรำคาญรับทราบและถือปฏิบัติ
7. ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการติดตาม กำกับ การดำเนินการของสถานประกอบกิจการหรือผู้ก่อเหตุรำคาญให้เป็นไปตามประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ
8. กรณีที่เหตุรำคาญในพื้นที่ตามประกาศได้ระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้นโดยไม่ชักช้า
ทั้งนี้ การออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539 โดยเป็นคำสั่งทางปกครองตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2565
ในส่วนของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการป้องกันและระงับเหตุรำคาญ ตามประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ มีดังนี้
1. ห้ามไม่ให้นำรถเครื่องยนต์ดีเซลที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานมาวิ่งใช้งานบนท้องถนน
2. ห้ามเผาในที่โล่งในพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ
3. ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด ได้แก่ มาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร และมาตรการฉีดพ่นหมอกน้ำในอากาศบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง
4. ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละอองและควบคุมการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดไม่ให้เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้ยาแรง โดยการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งจะต้องมีการประกาศเพื่อยกเลิกเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว กรุงเทพมหานครยังดำเนินการต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 โดยได้มีการฉีดล้างและดูดฝุ่นถนน ฉีดล้างใบไม้ในพื้นที่เขตและในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครทุกวัน เข้มงวด ตรวจตรา ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท ทั้งยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ “แผนลดฝุ่น 365 วัน” โดยในระยะปกติ ที่มีค่าฝุ่นเป็นสีฟ้า - เขียว มีการดำเนินการดังนี้ 1. ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ นักสืบฝุ่น Risk Map แจ้งเตือน 1 ครั้ง/วัน Sensor ตรวจวัด 1,000 จุด 2. กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ (รถยนต์ อู่รถเมล์ รถบรรทุก) ตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุก รถอัดฟาง Feeder พัฒนาทางเท้า จัดการจุดฝืด Bike Lane ส่งเสริม EV 3. ป้องกันประชาชน ได้แก่ ธงคุณภาพอากาศ ห้องปลอดฝุ่น DIY เครื่องฟอกอากาศ ปลูกต้นไม้ล้านต้น 4. สร้างการมีส่วนร่วม ได้แก่ แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และสภาลมหายใจ ส่วนในระยะวิกฤต ซึ่งมีค่าฝุ่นเป็นสีเหลือง - ส้มขึ้นไป ยังคงมีการดำเนินการตามแผนระยะค่าฝุ่นปกติอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่มมาตรการให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ติดตามเฝ้าระวัง ได้แก่ เพิ่มการจัดตั้ง War Room เพิ่มการแจ้งเตือนเป็น 3 ครั้ง/วัน เพิ่มการแจ้งเตือนผ่าน Line Alert รวมทั้งเพิ่มการติดตาม Hot Spot
2. กำจัดต้นตอ ได้แก่ ตรวจควันดำ 3 ครั้ง/สัปดาห์ (เพิ่มการตรวจบริเวณท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม) ประสานวัด/ศาลเจ้างดจุดธูปเทียน ห้ามจอดรถถนนสายหลัก/สายรอง หยุดก่อสร้าง ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ดำเนินมาตรการ Low Emission Zone (LEZ) มาตรการ WORK FROM HOME
3. ป้องกันประชาชน ได้แก่ เพิ่มการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพิ่มการแจกหน้ากากอนามัยเชิงรุก แก่ประชาชนทั่วไป เด็กนักเรียน และกลุ่มเปราะบาง ให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศ โรงเรียนสู้ฝุ่น และประสานความร่วมมือกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร