ในทุกๆ ปีจะปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายต่อเนื่อง ย้อนไปช่วง 28 ก.พ.- 6 มี.ค. 2562 ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ มีเหตุการณ์นิสิต-นักศึกษาฆ่าตัวตาย ถึง 4 เหตุการณ์
ต่อมาในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายที่มีการระบุว่ามาจากความเครียดสะสมจากปัญหาหนี้สิน เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาถึง 6 เหตุการณ์ และในวันที่ 4 ต.ค. เพียงวันเดียว มีข่าวการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายถึง 4 เหตุการณ์
28 ก.พ.-6 มี.ค. 2562 มีเหตุการณ์ ดังนี้
11-19 ส.ค. 2562
4 ต.ค. 2562
เป็นเหตุการณ์อัตวินิบาตกรรม หรือ ฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ซึ่งรวบรวมจากรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ และมีการแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้
คนไทยพยายามฆ่าตัวตายปีละ 5.3 หมื่นคน
นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ฉายภาพสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทยว่า อัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทยปี 2561 อยู่ที่ 6.34 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งจะมีคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยปีละประมาณ 4,000 คน ตัวเลขนี้เป็นแบบนี้ต่อเนื่องมาหลายปี ที่ผ่านมาอัตราการฆ่าตัวตายไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงแบบมากๆ จะเกาะกลุ่มกันอยู่ที่ประมาณ 6.1-6.3 มาตลอด
จึงอนุมานได้ว่าตัวเลข 4,000 คนที่เสียชีวิตต่อปี เฉลี่ยวันละ 10 คน หรือคิดเฉลี่ยประมาณ 300 คนต่อเดือน อีกทั้งข่าวการฆ่าตัวตายจะถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนให้ประชานได้รับรู้เป็นรายเดือน ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาคนให้ความสนใจเรื่องการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจมีคนมีชื่อเสียงอยู่ในตัวเลขนี้ด้วย
ขณะที่ช่วงเวลาต้นปี 2562 มีการพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกันมาก เนื่องจากมีการพูดถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายในมหาวิทยาลัยต่างๆ
นายแพทย์ณัฐกร ขยายภาพให้ชัดเจนขึ้นอีกว่า มีคนไทยพยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละประมาณ 53,000 คน ในกลุ่มนี้จะทำสำเร็จประมาณ 4,000 คน ที่เหลืออีกประมาณ 49,000 คน เป็นผู้ที่เคยพยายามทำร้ายตัวเองและมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองซ้ำอีก นั่นหมายความว่าทุก 9.5 นาที มีคนพยายามฆ่าตัวตายประมาณ 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง มีคนทำร้ายตัวเองสำเร็จ 1 คน แต่ไม่ได้หมายความว่าหากครบ 2 ชั่วโมงจะมีคนทำร้ายตัวเอง เพียงแต่ตัวเลขนั้นเป็นการเฉลี่ยออกมาเท่านั้น
"สถิติการฆ่าตัวตายในปี 2562 มีแนวโน้มมากกว่าปีที่แล้ว แต่เชื่อว่าไม่เกิน 6.5 ต่อประชากร 1 แสนคน ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นไม่มากและไม่ได้เพิ่มจนมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ารายงานที่ได้อาจไม่เรียลไทม์ ดังนั้นการคาดการณ์นี้อาจมีความคลาดเคลื่อนเช่นกัน" นายแพทย์ณัฐกร กล่าว
ที่มา : กรมสุขภาพจิต
การฆ่าตัวตายมาจากปัจจัยอันสลับซับซ้อนเสมอ
นายแพทย์ณัฐกร กล่าวว่า หลายฝ่ายยังคงคลำหาต้นตอปัญหาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย และจากการเก็บข้อมูลของกรมสุขภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีปัจจัยหลายส่วนที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ร้อยละ 50 โรคเรื้อรังทางกาย เช่น ความดัน เบาหวาน อัมพาต หลอดเลือดสมอง ฯลฯ ร้อยละ 25 โรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้านร้อยละ 10 โรคทางจิตร้อยละ 12 การใช้สุราร้อยละ 30 กลุ่มทำร้ายตัวเองซ้ำร้อยละ 12
ปัจจัยข้างต้นทำให้พบว่าทั้งหมดไม่มีปัจจัยนำไปสู่การฆ่าตัวตายเพียงเรื่องเดียว แต่อาจมีเรื่องปัจจัยทางร่างกายบวกเรื่องความสัมพันธ์และสุรา จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า การฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นไปไม่ได้ว่าจะมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่มาจากปัจจัยอันสลับซับซ้อนเสมอ
ขณะเดียวกันกรณีคนกลุ่มหนึ่งที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจนั้น เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มฆ่าตัวตายดังกล่าวพบว่าไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มีพบว่าคนกลุ่มนี้มีโรคทางกายร้อยละ 30 โรคทางจิตใจร้อยละ 20 เรื่องการใช้สุราร้อยละ 30 จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนจะฆ่าตัวตายจากภาวะเรื่องเศรษฐกิจเพียงเรื่องเดียว เนื่องจากมีปัจจัยด้านอื่นมาทับซ้อนและร่วมด้วยเสมอนั่นเป็นข้อเท็จจริงจากการเก็บข้อมูล
"บางครั้งจะเห็นสื่อนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายโดยทิ้งสมมติฐานไว้ว่า รายนี้คาดว่ามีปัญหาเรื่องความรัก รายนี้มีปัญหาเรื่องการเรียน รายนี้คาดว่ามีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้า ทั้งที่ในความเป็นจริงมันไม่ถูกนักที่เราไปคาดว่ามีปัญหาเดียว และสื่อไม่ควรไปชี้นำ เพราะกว่าจะระบุถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายได้นั้น มันมีกระบวนการที่ซ้ำซ้อน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งการดูภาพเพียงส่วนเดียวแล้วสมมติเพียงอย่างเดียวคิดว่าควรหลีกเลี่ยง" นายแพทย์ณัฐกร ระบุ
ห่วงพฤติกรรมลอกเลียนแบบจากการนำเสนอข่าว
นายแพทย์ณัฐกร กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลน่าจะเป็นเรื่องการลอกเลียนแบบที่ถือว่ามีนัยยะสำคัญมากกว่า หลายปรากฎการณ์ในปี 2561-2562 มีข่าวฆ่าตัวตาย ถูกนำเสนอต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างข่าวกลุ่มนักศึกษาฆ่าตัวตายสำเร็จ หลังจากนั้นจะมีข่าวในลักษณะนี้ทยอยออกมา และพบว่ามีวิธีการที่ใกล้เคียงกัน
มีการอธิบายว่าถ้าเกิดมีปรากฎการณ์การฆ่าตัวตายของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง วัยใดวัยหนึ่ง แล้วมีการแพร่กระจายรายละเอียดวิธีการอย่างกว้างขวางผ่านสื่อ ก็อาจมีผลทำให้อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มเดียวกันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเล่าเนื้อหาขั้นตอนการฆ่าตัวให้เห็นรายละเอียด ถ้าหากมีคนคิดทำร้ายตัวเองก็อาจไปเพิ่มความสะดวก หรือคนดูข่าวแบบนี้บ่อยๆ ก็อาจเกิดการลอกเลียนแบบเช่นกัน
ทุกวันมีสื่อนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายเพียงแต่อาจอยู่ในกรอบเล็ก กรอบใหญ่ แต่จากที่ติดตามก็พบทุกวัน ถ้าหากข่าว หรือคลิปการฆ่าตัวตายถูกส่งสารไปยังเด็กที่ยังไม่มีวิจารณญาณ หรือผู้เปราะบาง กลุ่มเสี่ยง เมื่อรับสารนั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้นถือเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่เราต้องรู้เท่าทัน สอดคล้องกับเรื่องการพาดหัว headline เช่น ‘นักศึกษาฆ่าตัวตายสำเร็จแล้วอีก 1’ ‘กระโดดอีกแล้ว มหาวิทยาลัยตาย’ ซึ่งไม่ควรทำแบบนั้น
#หัวใจมีหู : แค่รับฟังอาจช่วยชะลอช่วงเวลาวิกฤต
นายแพทย์ณัฐกร ย้ำว่า การนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายทุกเคสอย่างละเอียดไม่ใช่ทำให้สังคมดีขึ้น แต่เป็นการทำให้การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่สังคมตระหนักดีกว่า อย่างแคมเปญของกรมสุขภาพจิต แฮชแท็กหัวใจมีหู ฯลฯ ในแคมเปญเหล่านี้กระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการฟังอย่างใส่ใจ ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาฆ่าตัวตายมันเป็นไม่ได้ที่จะเป็นวิธีการของระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุข มันเป็นปัญหาที่เกิดจากหลายอย่างทับซ้อนกัน เช่น สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และเรื่องการเจ็บป่วย
"สาธารณสุขทำคนเดียวไม่ไหว ดังนั้นภาคประชาชนต้องมาร่วมด้วย เราเชื่อว่าแค่คนใกล้ตัวฟังอย่างตั้งใจจะให้คนที่ตัดสินใจทำหรือไม่ทำ หรือตัดสินใจแล้วว่าทำ อาจทำให้เขาสามารถชะลอช่วงเวลาวิกฤตได้ และเขาอาจไม่ทำอีกเลย ดังนั้นกลุ่มคนเปราะบางคนต้องมีใครสักคนเพื่อค่อยพูดคุยหรืออยู่ด้วย หากไร้คนปรึกษาสามารถโทรหาที่เบอร์กรมสุขภาพจิต 1323 ได้ทันที" นายแพทย์ณัฐกร เผยช่องทางการช่วยเหลือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :