ไม่พบผลการค้นหา
แนวทางการรับฟังผู้โดดเดี่ยวและเป็นทุกข์กับมรสุมชีวิตจนเผลอคิดสั้น ‘อยากฆ่าตัวตาย’ จากคำแนะนำของ ตระการ เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์ “เพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์”

‘ฆ่าตัวตาย’ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร สังคมก็ควรเรียนรู้บทเรียนและตระหนักถึงปัญหา โดยเฉพาะสำหรับผู้ใกล้ชิดกับบุคคลกลุ่มเสี่ยง 

วอยซ์ออนไลน์ คุยกับ ‘ตระการ เชนศรี’ นายกสมาคมสะมาริตันส์ สมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เกี่ยวกับวิธีการรับมือผู้มีความเสี่ยง เพื่อให้เขาหลุดพ้นจากความโดดเดี่ยว อันนำไปสู่การตัดสินใจคิดสั้นในที่สุด

“หลายคนคิดว่าคนฆ่าตัวตายเพราะเจอปัญหาในชีวิตแล้วหาทางออกไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและสมาคมเราค้นพบคือ ปัญหาไม่ใช่ตัวชี้ขาด ใครๆ ก็มีปัญหาในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น แต่ทำไมบางคนเดินไปสู่จุดจบ ทำไมบางคนเลือกที่จะอยู่ต่อ ปัจจัยหลักสำคัญคือความรู้สึกโดดเดี่ยวนั่นเอง”  

ตระการบอกว่า เมื่อคนๆ หนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาด้วยตัวเองเพียงลำพังเป็นระยะเวลาหนึ่ง โอกาสที่จะคิดถึงการฆ่าตัวตายก็เพิ่มมากยิ่งขึ้น 

“ไม่มีใครเคียงข้าง รับฟัง เห็นอกเห็นใจ อยู่ตัวคนเดียวจนเกิดความรู้สึกว่า ชีวิตนี้มันลำบากมาก ไม่มีความหมายที่จะอยู่ต่อ เมื่ออยู่ในภาวะแบบนั้นโอกาสที่จะคิดคำนึงถึงการฆ่าตัวตายก็มีสูง” 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์เมื่อปี 2560 พบว่า ประเทศไทย มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จกว่า 4,000 คน หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 350 คน หรือ ทุกๆ 2 ชั่วโมง คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ โดยเฉพาะความรัก ความหึงหวง จนนำไปสู่การทำร้ายตัวเองมากที่สุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า และน้อยใจคนใกล้ชิดดุด่า 

“ภาวะซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายค่อนข้างมาก และเชื่อว่าการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มีภาวะของโรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยร่วมอยู่ด้วย” ตระการให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสและเก็บข้อมูลระหว่างทำหน้าที่นายกสมาคมสะมาริตันส์

ตระการ เชนศรี

ในแต่ละปีสมาคมสะมาริตันส์ มีผู้ติดต่อเข้ามาระบายความทุกข์ประมาณ 1 หมื่นสายทั้งทางโทรศัพท์ อีเมลและกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก จำนวนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและครอบครัว ส่วนที่เหลือพบว่ามีปัญหาอื่นๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา รวมถึงผู้มีปัญหาทางจิต ขณะที่อายุส่วนใหญ่ของผู้รับบริการคือ 30-45 ปี 

“อายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี มากที่สุด 90 ปี แต่ส่วนใหญ่เป็นพวกวัยทำงาน และระยะหลังมีกลุ่มคนที่คิดสั้นอยากฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น” ตระการกล่าว 


รับมือกับ ‘คนอยากฆ่าตัวตาย’ อย่างไร 

ตระการเห็นว่า สังคมปัจจุบันเดินไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น เลือกพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองอารมณ์และความต้องการ มากกว่าการแลกเปลี่ยนสื่อสารกับผู้คนในลักษณะเผชิญหน้าหรือมีกิจกรรมร่วมกันอย่างจริงใจ ซึ่งมีผลให้ผู้ที่กำลังโดดเดี่ยวจมปลักกับมรสุมของชีวิตได้ง่ายขึ้น 

สำหรับผู้ใกล้ชิดและคนในสังคม ‘กฎข้อสำคัญ’ ของพวกเราที่จะช่วยเหลือผู้อื่นคือ การสร้างความสัมพันธ์อย่างจริงใจ รับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังด้วยหัวใจ รวมถึงไม่ตัดสินหรือเปรียบเทียบให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่มากกว่าเดิม 

“ให้เวลาเขาพรั่งพรูความทุกข์ออกมา โดยที่เราไม่ต้องตัดสิน ไม่สั่งสอน ไม่ไปปลอบด้วยว่าทำแบบนี้ได้–ไม่ได้ เพราะเงื่อนไขที่เขาและเราเจอนั้นแตกต่างกัน การรับฟังอย่างเป็นมิตร จริงใจ รวมถึงแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจผ่านสีหน้าและภาษากาย เป็นการลดพลังของความคิดอยากตาย” 

เขาย้ำว่าไม่ควรสั่งสอนหรือเอาตัวอย่างของตัวเองหรือผู้อื่นมาเปรียบเทียบ เช่น “ผมเคยเจอแบบนี้มาแล้ว ผมยังผ่านไปได้เลย ฉะนั้นคุณก็ต้องผ่านไปให้ได้” แม้ประโยคดังกล่าวจะเป็นความปรารถนาดี แต่สำหรับอีกฝ่าย เขากลับรู้สึกว่ากำลังถูกตัดสินว่าตัวเองไม่เข้มแข็ง 

“เมื่อถูกตัดสิน เขาจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว และไม่อยากคุยกับคุณ”

เศร้า.jpg

ในบางกรณีที่อีกฝ่ายต้องการความคิดเห็น ตระการแนะนำให้เราทำหน้าที่เสมือนเป็นกระจกสะท้อนทางเลือกต่างๆ ในชีวิตให้เขา 

“แต่ละคนมีบริบทชีวิตที่แตกต่างกัน สิ่งที่ดีสำหรับเรา อาจจะไม่ใช่สำหรับคุณ ถ้าต้องแนะนำตามคำร้องขอ เราควรทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนทางเลือกต่างๆ ในชีวิตเขา เช่น ถ้าเขากำลังจะเลิกกับสามี เราควรสะท้อนกลับไปว่า ถ้าเลิกแล้ว คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าไม่เลิกล่ะ รู้สึกอย่างไร ข้อดี ข้อเสีย คืออะไร คุ้มค่าไหมที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ ในที่สุดเขาจะเป็นคนชั่งน้ำหนักเอง และตัดสินใจเมื่ออารมณ์กลับมาสู่ภาวะปกติ”  

“มนุษย์มีศักยภาพเพียงพอในการเผชิญหน้ากับปัญหาเเละสามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปชี้นำ ตราบใดที่เขาอารมณ์อยู่ในภาวะปกติ” นายกสมาคมสะมาริตันส์บอกและว่า “หน้าที่ของผู้ฟังคือทำให้ภาวะวิกฤตกลับสู่ภาวะปกติ เมื่อนั้นอีกฝ่ายจะเริ่มเรียบเรียงและเผชิญปัญหาด้วยวิธีการของเขาเอง”

ทั้งนี้ การได้ระบายความทุกข์ นอกจากทำให้ผู้พูดได้ปลดปล่อยแล้ว ยังทำให้เขาได้ตระหนักด้วยว่า เขายังมีตัวตน และยังมีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนและอยู่เคียงข้างเขา

ตระการ เชนศรี

สะมาริตันส์ เพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์

สะมาริตันส์ คือ สมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย อาสาสมัครมาจากหลากหลายอาชีพ ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ การทำงานของสมาคมตั้งอยู่บนหลักการว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับ ศาสนา ปรัชญา หรือลัทธิการเมืองใดๆ

ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ.1953) ปัจจุบันมีศูนย์อยู่ทั่วโลกมากกว่า 400 แห่งใน 39 ประเทศ บนความร่วมแรงร่วมใจของอาสาสมัครกว่า 31,000 คน สำนักงานใหญ่ของสะมาริตันส์อยู่ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Befrienders Worldwide (B.W.) 

ขณะที่สะมาริตันส์ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2521 โดยท่าน ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้ริเริ่มจาก การรวมตัวของอาสาสมัครไทย และต่างประเทศจำนวน 40 คน และดำเนินงานต่อเนื่องมาปัจจุบัน

เหตุผลที่ไม่เปิดเผยใบหน้าอาสาสมัครเนื่องจากต้องการปกป้องอันตรายที่ไม่คาดคิด รวมถึงคาดหวังให้อาสาสมัครทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง 

“ผู้โทรเข้ามาสบายใจได้ ไม่ต้องพะวงว่าจะเจอคนรู้จัก และปกป้องอาสาสมัครไปด้วยในกรณีที่เจอผู้มีอาการทางจิตคุกคามหรือพยายามตามหาตัวตนของอาสาสมัคร อีกเหตุผลคือนี่เป็นงานปิดทองหลังพระ เป้าหมายอย่างเดียวของเราคือการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ต้องการค่าตอบแทนหรือคำสรรเสิญใดๆ”

ทั้งนี้ อาสาสมัครจะต้องผ่านบททดสอบและฝึกฝนทักษะจากผู้เชี่ยวชาญเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน โดยดูปัจจัยความพร้อมหลากหลายแง่มุม เพื่อให้มีโอกาสเกิดผลลบต่อตัวอาสาสมัครและผู้รับบริการน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังมีกลไกดูแลความรู้สึกของอาสาสมัครด้วย เพื่อให้เขาไม่ยึดติดกับความทุกข์ของผู้เผชิญปัญหา โดยปัจจุบันมีอาสาสมัครจำนวน 80-100 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาให้บริการ

“ทุกๆ คนสามารถเป็นผู้รับฟังที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ คุณสามารถทำได้ ถ้าหากเรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับฟังที่ดีๆ” คือประโยคปิดท้ายจากตระการ 

สำหรับผู้มีปัญหา สะมาริตันส์ พร้อมจะรับฟังคุณ และจะเก็บเรื่องของคุณเป็นความลับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร โทร 02-713-6793.


คนโทรเข้ามามีความทุกข์อะไรบ้าง
  • ร้อยละ 50 ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว 
  • ร้อยละ 20 ผู้ป่วยทางจิต
  • ร้อยละ 10 ปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเรียน 
  • ร้อยละ 10 ปัญหาทางเพศ 
  • ร้อยละ 10 ปัญหาอื่นๆ เช่น ความเหงา ปัญหาของบุคคลรอบข้าง ขอข้อมูลทั่วไป ฯลฯ
วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog