องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนออกรายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2020 ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อและยิ่งทำให้วิกฤตที่ผู้สื่อข่าวทั่วโลกกำลังเผชิญยิ่งเลวร้ายลง เพราะรัฐบาลฉวยโอกาสนี้ในการควบคุมและคุกคามเสรีภาพของประชาชน
รายงานฉบับนี้ระบุว่า โรคระบาดได้เปลี่ยนแปลงมาตรฐานสังคมหลายอย่างไปแล้ว รัฐบาลของหลายประเทศยังออกกฎหมายใหม่โดยอ้างว่ามีเป้าหมายในการลดการแพร่ระบาดของไวรัส แต่จริงๆ แล้ว รัฐบาลฉวยโอกาสช่วงที่การเมืองหยุดชะงัก ประชาชนกำลังตกตะลึงกับการแพร่ระบาด และการประท้วงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เพื่อออกกฎหมายให้อำนาจรัฐในการสอดส่องประชาชนในระดับที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้สร้างความกังวลในระยะยาวต่อสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก
เสรีภาพสื่อไทย
รายงานฉบับนี้จัดอันดับให้เสรีภาพสื่อไทยในปี 2563 อยู่ในอันดับที่ 140 จากทั้งหมด 180 ประเทศตกลงมาจะปีก่อน 4 อันดับ โดยรายงานระบุว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีอำนาจควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม" แม้ว่า คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งขึ้นเมื่อรัฐประหารจะถูกยุบไปเมื่อปี 2562 แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.2562 ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างใดๆ เพราะการเลือกตั้งถูกควบคุมโดยชนชั้นนำที่อยู่รายล้อม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก มีอำนาจเต็ม ข่มขู่ผู้สื่อข่าวที่มีปากมีเสียง มักเรียกตัวผู้สื่อข่าวไปสอบถาม ควบคุมตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 10 คนต้องลี้ภัยออกจากประเทศ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากระบบกฎหมายที่โหดร้ายและระบบยุติธรรมที่ทำตามคำสั่ง กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ ก.พ. 2562 ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารมากยิ่งขึ้น และยิ่งคุกคามข้อมูลบนโลกออนไลน์มากขึ้น รายงานฉบับนี้ยังยกตัวอย่างคดีของนางสุชาณี คลัวเทรอ (รุ่งเหมือนพร) อดีตผู้สื่อข่าวของวอยซ์ทีวี ที่ถูกตัดสินจำคุก 2 ปีเมื่อ ธ.ค. 2562 หลังจากที่เธอทวีตข้อความเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ส่วนการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีโทษจำคุก 15 ปี ก็ยังคงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปราบผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ที่มีความคิดเห็นต่าง
ท่าทีของรัฐบาลต่อประเทศอำนาจนิยมอื่นๆ ก็เป็นทีท่าของการยินยอมผ่อนปรน มีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จากกัมพูชา จีนและเวียดนามเข้ามาจับกุมผู้สื่อข่าวหรือบล็อกเกอร์ ที่มีความคิดเห็นต่างในประเทศของตัวเอง แล้วส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางและคุมขัง
เสรีภาพสื่ออาเซียน
อันดับเสรีภาพสื่อไทย (140) อยู่ในอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียที่อยู่อันดับ 101 อินโดนีเซียอันดับ 119 ฟิลิปปินส์ อันดับ 136 และเมียนมาแซงไทยขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 139 จากที่ผ่านมาเมียนมามีอันดับเสรีภาพสื่อต่ำกว่าไทยมาโดยตลอด
ต่อจากไทย ประเทศอาเซียนที่ได้อันดับเสรีภาพสื่อลำดับต่อมาได้แก่ กัมพูชาที่ได้อันดับ 144 บรูไนอันดับ 152 สิงคโปร์อันดับ 158 ลาวอันดับ 172 และเวียดนามอันดับ 175
เสรีภาพสื่อโลก
องค์กรนักข่าวไร้พรมแดนระบุว่า สหรัฐฯ และบราซิลกลายเป็นต้นแบบของการคุกคามสื่อ ขณะที่จีน อิหร่าน อิรักก็พยายามเซ็นเซอร์การรายงานข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยมีการจัดอันดับเสรีภาพสื่อใน 180 ประเทศและเขตการปกครอง
เสรีภาพสื่อในสหรัฐฯ ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้อันดับเสรีภาพสื่อของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นมา 3 อันดับจากปีก่อนมาอยู่ที่อันดับ 25 จากทั้งหมด 180 ประเทศก็ตาม เนื่องจากมี “บรรยากาศของการต่อต้านสื่ออย่างอันตราย” รวมถึงมีการจับกุมทำร้ายร่างกายและคุกคามผู้สื่อข่าวลงไปในระดับผู้สื่อข่าวท้องถิ่น
เสรีภาพสื่อของจีนอยู่ในอันดับ 177 เช่นเดียวกับปีก่อน เดือนที่แล้วจีนเพิ่งไล่ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกันที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ส, เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล และเดอะวอชิงตันโพสต์ออกจากประเทศ เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่รัฐบาลของทรัมป์ จำกัดจำนวนผู้สื่อข่าวชาวจีนที่ทำงานให้กับองค์กรข่าวของรัฐบาลจีน 5 แห่งในสหรัฐฯ และในขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศในจีนรายงานข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงแรกๆ รัฐบาลจีนกลับพยายามปิดข่าวร้ายแรงของโรคระบาดนี้
ด้านอิรักเพิ่งจะปรับเงินสำนักข่าวรอยเตอร์และระงับใบอนุญาตชั่วคราวของรอยเตอร์หลังจากที่มีการตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าความเป็นจริง
รายงานฉบับนี้ยังอ้างอิงถึงนโยบายกดขี่ของบางประเทศในยุโรปและคาบสมุทรบอลข่าน เช่น ฮังการีที่สมาชิกรัฐสภาให้อำนาจวิกตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีในการระงับกฎหมายที่มีอยู่ได้ โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งนโยบายใหม่นี้จะยิ่งจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเปิดโอกาสให้รัฐบาลฮังการีดำเนินคดีกับผู้สื่อข่าวได้ อย่างไรก็ตาม ยุโรปยังเป็นทวีปที่มีเสรีภาพสื่อมากที่สุดในโลกโดยนอร์เวย์ขึ้นเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 4 ปีแล้วตามด้วยฟินแลนด์และเดนมาร์กส่วนสวีเดนตกลงไปอยู่อันดับ 4 เนื่องจากมีการคุกคามผู้สื่อข่าวบนโลกออนไลน์มากขึ้น
ส่วนกลุ่มประเทศที่อยู่รั้งท้ายดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยโดยเกาหลีเหนือตกลงไป 1 อันดับกลายเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดแทนเติร์กเมนิสถาน ส่วนเอริเทรียอยู่ในอันดับ 3 จากท้ายตาราง และเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อต่ำที่สุดในแอฟริกา ขณะที่เฮติตกลงไปถึง 21 อันดับ ไปอยู่ที่อันดับ 83 ทำให้เป็นประเทศที่อันเสรีภาพสื่อร่วงหนักที่สุดในโลกในปีนี้ เนื่องจากผู้สื่อข่าวไม่มีแหล่งเงินทุน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันต่างๆ อีกทั้งยังเป็นเหยื่อการคุกคามและความรุนแรงทางร่างกาย ระหว่างการทำข่าวการประท้วง
ที่มา : Reporters Without Borders, The New York Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: