ไม่พบผลการค้นหา
โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติ หรือ WFP เตือนว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะอดอยากอย่างกว้างขวาง จำนวนคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความอดอยากหิวโหยอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว

ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้าน 5 แสนรายแล้ว โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติประเมินว่า จำนวนคนที่ต้องเผชิญกับภาวะอดอยากทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าตัวภายในสิ้นปีนี้ โดย 'เดวิด บีสลีย์' ผู้อำนวยการโครงการอาหารโลกที่เพิ่งหายป่วยจากโควิด-19 กล่าวระหว่างการประชุมทางไกลเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ พร้อมเตือนว่าหากไม่มีการดำเนินการอย่างว่องไวอาจได้เห็นภาวะอดอยากขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นในกว่า 30 ประเทศ  

รายงานของโครงการอาหารโลกประเมินว่า จำนวนคนที่ต้องเผชิญกับความอดอยากอาจเพิ่มขึ้นจาก 135 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว เป็น 265 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ โดย 10 ประเทศที่เสี่ยงที่สุดคือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง วิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ได้แก่ เยเมน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา เอธิโอเปีย ซูดานใต้ ซูดาน ซีเรีย ไนจีเรียและเฮติ โดยรายงานยังระบุว่าในซูดานใต้ ร้อยละ 61 ของประชากรได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด หลายพื้นที่ของแอฟริกาตะวันออกและเอเชียใต้เผชิญกับการขาดแคลนอาหารอยู่แล้ว จากภัยแล้งและปัญหาฝูงตั๊กแตนบุกทำลายพืชพันธุ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในช่วงหลายทศวรรษ  

ด้าน 'สตีฟ ทาเรเวลลา' โฆษกของโครงการอาหารโลกระบุว่าตอนนี้แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากความหิวโหยและหรือการอดอยาก ส่งผลกระทบต่อประชาชน 73 ล้านคน ลำดับต่อมาคือตะวันออกกลางที่มีผู้ได้รับผลกระทบ 43 ล้านคน อเมริกาใต้ 18.5 ล้านคน และยุโรปประมาณ 5 แสนคน หากตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ เหล่าตัวแสดงในเวทีโลกก็ต้องดำเนินการทันที โดยความขัดแย้งในภูมิภาคต้องถูกยุติอย่างสมบูรณ์ซึ่งนี่คือปัจจัยหลักที่ผลักให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่รายงานของโครงการอาหารโลกระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปัจจัยอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดความอดอยากรุนแรง โดยเมื่อปีที่แล้วมีประชากร 34 ล้านคนที่เผชิญความไม่มั่นคงทางอาหารเนื่องจากภัยพิบัติต่างๆ จากสภาพอากาศ ส่วนปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามคือวิกฤตเศรษฐกิจ โดยโฆษกโครงการอาหารโลกเรียกร้องตัวแสดงทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐช่วยให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือได้โดยไม่ถูกขัดขวาง 

ทั้งนี้ เมื่อช่วงต้นเดือนโครงการอาหารโลกเผยว่า เตรียมลดความช่วยเหลือในหลายพื้นที่สงครามของเยเมนที่ถูกควบคุมโดยกบฏฮูตีลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากเผชิญวิกฤตด้านเงินทุน โดยผู้บริจาคบางรายได้หยุดการให้ความช่วยเหลือจากความกังวลว่าการจัดส่งความช่วยเหลือจะถูกขัดขวางโดยกองกำลังฮูตี โดยในแต่ละเดือนองค์การอาหารโลกจัดส่งอาหารให้กับชาวเยเมนกว่า 12 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กองกำลังฮูตีควบคุมอยู่ ขณะที่เยเมนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกแล้วเมื่อช่วงต้นเดือน ซึ่งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือเตือนว่าหากโรคนี้ระบาดรวดเร็ว จะทำให้ระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอของประเทศไม่สามารถรับมือได้ 

อ้างอิง BBC/ABC News/Business Insider