ไม่พบผลการค้นหา
สรุปว่าหนังเรื่องนี้น่าดูหรือไม่? ถ้าน่าดูจริงทำไมไม่เข้าโรง หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "สำส่อนทางความบันเทิง" โดยคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

Annihilation เป็นหนังเรื่องใหม่ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ผู้สร้างชื่อจากการเขียนนิยายเรื่อง The Beach สร้างเป็นหนังในปี 2000 เขียนบทให้หนังดีหลายเรื่อง อาทิ Never Let Me Go (2010) หรือ Dredd (2012) และเมื่อกำกับหนังของตัวเองเรื่องแรก Ex Machina (2015) ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดี


Annihilation1.jpg

ดังนั้นเมื่อมีข่าวถึง Annihilation ผลงานใหม่ของการ์แลนด์ที่ดัดแปลงจากนิยายดังชื่อเดียวกันของ เจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ มีพล็อตสุดแสนน่าสนใจว่าด้วย ปรากฏการณ์ประหลาดที่อยู่ดีๆ มีโดมสีรุ้งเกิดขึ้นที่ริมชายหาด แถมยังมีดาราระดับเอลิสต์อย่าง นาตาลี พอร์ตแมน, ออสการ์ ไอแซค และเจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ จึงไม่น่าแปลกว่าผู้คนย่อมตั้งหน้าตั้งตารอหนังเรื่องนี้

แต่กลับกลายเป็นว่า Annihilation เข้าฉายโรงที่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ดูทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)

อันที่จริงการที่หนังระดับนี้ฉายให้ดูกันง่ายๆ ทางเน็ตฟลิกซ์เหมือนจะเป็นเรื่องน่าดีใจ แต่กระแสดันออกไปทางว่า “เฮ้ย ทำไมหนังฟอร์มยักษ์ขนาดนี้ไม่เข้าโรง” หรือ “หนังไซไฟมันต้องดูในโรงสิ” นั่นแสดงให้เห็นว่าหนังที่ลงเน็ตฟลิกซ์อาจให้ความรู้สึกคล้ายกับหนังลงวิดีโอ (Direct-to-video) ซึ่งมักเป็นหนังทุนต่ำ ไม่ได้เน้นความอลังการงานสร้าง เมื่อหนังที่โดดเด่นทั้งงานด้านภาพและเสียงอย่าง Annihilation ไปฉายทางเน็ตฟลิกซ์ นักดูหนังบางคนจึงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องสมเหตุสมผล

เช่นนั้นแล้ว แม้เราจะมีจอโทรทัศน์ขนาดยักษ์หรือลำโพงชั้นยอด แต่มันไม่อาจเทียบเท่ากันการดูหนังในโรงอย่างนั้นหรือ ผู้กำกับการ์แลนด์เองก็ออกจะไม่ค่อยแฮปปี้นักกับการที่หนังไปลงเน็ตฟลิกซ์ เพราะเขาสร้างหนังเรื่องนี้ในสเกลสำหรับฉายโรงภาพยนตร์ การทำให้การดูหนังทางเน็ตฟลิกซ์ทดแทนการดูหนังโรงได้อย่างสมบูรณ์เป็นโจทย์ที่ทางเน็ตฟลิกซ์ต้องขบคิดต่อไป


Annihilation2.jpg

อีกสาเหตุที่ Annihilation ไปฉายเน็ตฟลิกซ์กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนักก็เพราะว่าภาพยนตร์ของเน็ตฟลิกซ์มักได้เสียงวิจารณ์ที่ไม่ค่อยดี แม้ Mudbound หรือสารคดี Icarus จะมีบทบาทบนเวทีออสการ์ปีนี้ แต่หนังเน็ตฟลิกซ์หลายเรื่องก็ถูกด่าชนิดไม่เหลือชิ้นดี ไม่ว่าจะ Death Note, Bright หรือ The Cloverfield Paradox ทั้งที่จริงแล้ว Annihilation เป็นเพียงหนังที่มา ‘ฉาย’ ทางเน็ตฟลิกซ์ ต่างจากหนังทุกเรื่องที่กล่าวมาซึ่งเป็นหนังที่ ‘สร้าง’ โดยเน็ตฟลิกซ์ หรือที่เรียกว่า Netflix Original Films แต่คนดูบางคนก็ไม่มาใส่ใจเรื่องพวกนี้ และเหมารวมไปเสียหมดว่าหนังเน็ตฟลิกซ์คือห่วย

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วทำไม Annihilation ถึงฉายทางเน็ตฟลิกซ์?

ที่มาของดราม่านี้เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2017 ที่ผลสำรวจจากรอบทดลองฉายของ Annihilation ออกมาไม่สู้ดีนัก เดวิด เอลลิสัน นายทุนแห่งค่ายพาราเมาต์มองว่าหนัง ‘ฉลาด’ และ ‘ซับซ้อน’ เกินไป และขอร้องให้การ์แลนด์เปลี่ยนตอนจบของหนัง แน่นอนว่าฝั่งโปรดิวเซอร์และผู้กำกับไม่ยอม แถมพวกเขายังถือสิทธิ Final Cut หรือการตัดต่อขั้นสุดท้ายด้วย

การขัดแย้งกันระหว่างฝั่งนายทุนและคนทำหนังลงเอยด้วยการที่ Annihilation ไม่ต้องถูกเปลี่ยนหรือตัดทอนใดๆ หากแต่ค่ายพาราเมาต์จะเอาหนังเข้าโรงเฉพาะที่อเมริกาเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นฉายทางเน็ตฟลิกซ์ (อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีข่าวว่าหนังจะฉายโรงที่จีนเดือนเมษายนนี้)

ปี 2017 เป็นปีที่พาราเมาต์ ‘เจ็บหนัก’ มากจากหนังเรื่อง Mother! และ Downsizing ซึ่งเป็นหนังที่แบ่งนักวิจารณ์เป็นสองขั้วอย่างรุนแรงคือไม่กรี๊ดสุดๆ ก็เกลียดไปเลย แต่สำหรับคนดูทั่วไปแล้วส่วนใหญ่ต่างสาปส่งหนังทั้งสอง จน Mother! ทำกำไรไปน้อยนิด (ต้นทุน 30 ล้านเหรียญ รายรับ 44.5 ล้านเหรียญ) ส่วน Downsizing ขาดทุน (ต้นทุน 68 ล้านเหรียญ รายรับ 54.6 ล้านเหรียญ)


Mother.jpg

เอลลิสันมองแล้วว่า Annihilation คงมีชะตากรรมไม่ต่างจากหนังข้างต้น นั่นคือนักวิจารณ์บางคนอาจจะเชียร์หนังอย่างสุดๆ แต่คนดูส่วนใหญ่จะเกลียดมัน การเลือกฉายหนังทางเน็ตฟลิกซ์จึงเป็นการลดต้นทุน เพราะการเอาหนังเข้าโรงมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งค่าทำสื่อการฉาย DCP (Digital Cinema Package) และค่าสื่อประสัมพันธ์ต่างๆ นอกจากนั้นการเลือกไม่ฉายโรงทั่วโลกยังเป็นการลดกระแสด่าทอหนังไปด้วย

บางคนอาจเคยมองเอลลิสันและค่ายพาราเมาต์เป็นนายทุนผู้ร้ายกาจ ทว่าเมื่อ Annihilation ฉายโรงที่สหรัฐอเมริกา หนังก็ทำเงินไปเพียง 30 ล้านเหรียญ ทั้งที่หนังลงทุนไปถึง 40 ล้านเหรียญ ส่วนคะแนนจากคนดูที่ CinemaScore หนังเรื่องนี้ได้เพียงเกรด C เท่านั้น (ตรงข้ามกับฝั่งนักวิจารณ์ที่หนังได้คะแนน Fresh จากเวบ RottenTomatoes ถึง 88%) ดังนั้นอาจพูดได้ว่าเอลลิสันนั้นอ่านเกมขาด

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้แปลความได้ว่า Annihilation ฉลาดเกินไปหรือคนดูโง่เกินไปเช่นนั้นหรือ? การตั้งคำถามแบบนี้อาจไม่ถูกจุดหรือไม่ก่อประโยชน์นัก เพราะการดูหนังอาจไม่มีเรื่องของความโง่หรือฉลาด แต่มันเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า สิ่งสำคัญคือการทำอย่างไรให้คนดูหนังในทุกวันนี้มีความกว้างขวางของรสนิยมหรือเปิดใจมากขึ้น ถ้ายังจำกันได้ปีที่แล้วช่วงที่ Mother! ถูกด่าหนัก คนดังหลายคนถึงขั้นต้องออกตัวช่วยหนัง ทั้ง มาริน่า อบราโมวิช ที่เขียนชื่นชมหนังผ่านเฟซบุ๊คของเธอ หรือมาร์ติน สกอร์เซซี ที่ลงทุนเขียนบทความเรียกร้องให้คนให้โอกาสหนังเรื่องนี้  

ดังนั้นหากผู้ชมไม่ต้องการให้เกิดกรณีแบบ Annihilation ถูกจับไปลงเน็ตฟลิกซ์ หรือยังอยากให้คนทำหนังกล้าสร้างหนังสุดขั้วแบบ Mother! ออกมาอีก วิธีแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การนั่งด่าทอนายทุนหรือค่ายหนังเท่านั้น แต่ฝั่งคนดูก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย


Annihilation3.jpg

ทีนี้ขอกลับมาที่ตัวหนัง Annihilation

ถ้าถามว่าหนังเข้าใจยากเกินไปหรือไม่ ผู้เขียนก็มองว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ดูง่าย ไม่ได้บันเทิงแบบหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ที่เราคุ้นชิน แต่มันก็ไม่ใช่หนังยากเกินจะเข้าถึง

อันที่จริงแล้วหนังเองก็ให้คำบอกใบ้ไว้หลายจุด ถ้าใครได้ดูหนังจะพบว่าหนังย้ำคำว่า ‘หักเห’ (ม่านสีรุ้งเกิดจากการหักเหของแสง และทำให้คลื่นวิทยุบิดเบือน) และ ‘กลายพันธุ์’ (สิ่งมีชีวิตในม่านสีรุ้งล้วนกลายพันธุ์กันหมด) ซึ่งสอดคล้องกับประโยคหนึ่งที่นางเอกพูดไว้ว่า “สิ่งเหล่านี้ไม่ได้���าเพื่อทำลายเรา แต่มันมาเพื่อเปลี่ยนแปลง”

‘ความเปลี่ยนแปลง’ นี่เองที่เป็นคีย์เวิร์ดของหนังเรื่องนี้ ในระดับจุลภาค-เราได้เห็นนางเอกที่ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับคนรักและกับตัวเธอเอง ส่วนในระดับมหภาค-เหล่ามนุษย์ในเรื่องนี้ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อมาตลอดว่าปกติแท้จริงแล้วอาจเป็นสิ่งที่ผิดปกติ หนังกำลังเล่นกับธีมคมคายว่าสิ่งที่มนุษย์เรากลัวที่สุดก็คือความเปลี่ยนแปลง

และความเปลี่ยนแปลงขั้นสุดก็คือการทำลายล้าง (Annihilation ตามชื่อเรื่อง) ซึ่งแสดงผ่านฉากจบที่พระเอกนางเอกคุยกัน มันไม่ใช่การทำลายด้วยจิตมุ่งร้าย แต่เป็นการเซ็ตระบบใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มทุกสิ่งทุกอย่างใหม่ ถ้าพูดให้ทันสมัยก็ต้องเรียกว่าเป็นการ ‘เซ็ตซีโร่’

น่าตลกดีเหมือนกันที่ Annihilation เป็นหนังว่าด้วยการเริ่มต้นใหม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังในโลกความเป็นจริง ไม่ว่าจะเรื่องการฉายหรือเสียงตอบรับดูเป็นอะไรที่ถอยหลังลงคลองเสียมากกว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอย่างไรหรือใช้อะไรเราถึงจะ ‘เซ็ตซีโร่’ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในทุกวันนี้ได้