ไม่พบผลการค้นหา
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง วิจารณ์รายการใหม่ทาง Netflix ของพิธีกรแห่งชาติเกาหลีใต้ ในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง

ทุกครั้งที่มีการโหวตบุคคลที่ชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบที่สุด จะต้องมีชื่อของ ‘ยูแจซอก’ (Yoo Jae-suk) เสมอ ชายวัย 45 ปีผู้นี้คือบุคคลที่ได้ชื่อว่า ‘พิธีกรแห่งชาติ’ เขาเริ่มทำงานในวงการตั้งแต่ยุค 90 เป็นพิธีกรในรายการหลายรูปแบบทั้งวาไรตี้โชว์และทอล์คโชว์

จุดเด่นของแจซอกคือความตลกลื่นไหลเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัย ผลงานสร้างชื่อของเขาที่คนไทยคุ้นชื่อกันดีก็เช่น X-Man (2003-2007), Infinite Challenge (2005-2018), Family Outing (2008-2010) และ Running Man (2010-ปัจจุบัน)

ยูแจซอก

ปี 2018 ถือว่าเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงของแจซอก เมื่อรายการ Infinite Challenge ที่ออกอากาศมายาวนานถึง 13 ปีต้องยุติลง ส่วน Running Man ที่หวิดจะเลิกรายการไปเมื่อปี 2017 ก็ผ่านพ้นวิกฤตมาได้และเรทติ้งดีขึ้น แม้จะห่างไกลจากยุครุ่งเรืองอยู่หลายขุม แต่ก็ถือว่าทรงตัว

ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างในอาชีพของแจซอกคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ Busted! รายการวาไรตี้โชว์ของเกาหลีรายการแรกที่จะออกอากาศทางเน็ตฟลิกซ์ในโปรแกรม Netflix original แถมโปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังยังเป็นทีมงานที่เคยผลิตรายการอย่าง X-Man, Family Outing และ Running Man ด้วย


Busted! เป็นซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่ว่าด้วยนักสืบมือสมัครเล่นเจ็ดคนที่ต้องมารวมตัวกันเพื่อไขคดีต่างๆ นอกจากแจซอกแล้วก็มีบรรดานักแสดง นักร้อง และตลกรวมอีก 6 คน ทั้งซีรีส์มีทั้งหมด 10 ตอน ออกอากาศสัปดาห์ละ 2 ตอน เพิ่งเริ่มออนแอร์เมื่อ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ตัวซีรีส์โฆษณาไว้ใหญ่โตทีเดียวว่าเป็นรูปแบบรายการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่หลังจากใช้เวลาไปกับสองตอนแรกราวสามชั่วโมง ผู้เขียนก็พบว่านี่อาจไม่ใช่การเริ่มต้นที่ดีนัก


ลักษณะเด่นอย่างหนึ่ง-ที่อาจจะเรียกว่าเป็นปัญหาของ Busted! คือมันเป็นรายการแบบมีการเขียนบท ไม่ว่าจะเหตุฆาตกรรม กระบวนการสืบสวน การไขรหัสลับ ทุกอย่างล้วนเขียนบทไว้ก่อนแล้ว Busted! จึงมีความก้ำกึ่งว่ามันเป็นวาไรตี้โชว์หรือละครดราม่ากันแน่ ถ้าให้ผู้เขียนสรุปก็คงจัดเป็นละครสืบสวนที่ถ่ายทำแบบรายการวาไรตี้ ซึ่งนั่นทำให้ Busted! ไม่มีบรรยากาศทริลเลอร์ระทึกแบบที่ปรากฏในแนวทางหนังสืบสวน

และเมื่อมีการเขียนบทไว้แล้ว เมื่อเหล่านักสืบแสดงความชาญฉลาดในการแก้ไขปริศนา มันก็ยากที่ผู้ชมจะคล้อยตาม เพราะเรารู้ดีว่าพวกเขาไม่ได้คลี่คลายสิ่งเหล่านั้นด้วยทักษะของตัวเอง เมื่อ ‘การลุ้น’ ไปกับการสืบคดี-ซึ่งเป็นหัวใจของการสืบสวน-ดันกลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ ก็อาจเรียกได้ว่าซีรีส์สืบสวนนั้นล้มเหลว

ปัญหาประการต่อมาของ Busted! คือความอิหลักอิเหลื่อว่าจะเป็นเน้นความจริงจังหรือตลกกันแน่ แม้ผู้ร่วมรายการหลายคนจะมีเซนส์ด้านความตลกโปกฮา แต่ก็ต้องคอยรักษาภาพความซีเรียสของนักสืบเอาไว้ หรือตัวแจซอกเองก็ไม่ได้ใช้ไหวพริบด้านการปล่อยมุกแบบที่เขาถนัดนัก มันทำให้ตัวละครใน Busted! ดูไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน จนดูไปสองตอนแล้วก็ยังไม่รู้สึกชอบใครในซีรีส์เป็นพิเศษ ซึ่งหากรายการวาไรตี้ใดๆ ไม่สามารถทำให้ผู้ชมผูกพันกับตัวละครได้ก็ถือว่าอันตรายทีเดียว

korean-game-show-busted-netflix-singapore-may-2018-628x353.jpg

นอกจากนั้นยังมีจุดน่าขัดใจยิบย่อย เช่นว่าเป็นรายการที่ทำเพื่อออนแอร์ให้กับสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ 190 ประเทศดู แต่ตอนที่สองของ Busted! กลับเล่นกับปริศนาคำในภาษาเกาหลีไปเกือบทั้งตอน

แต่ใช่ว่า Busted! จะไม่มีความดีงามอะไรเลย สิ่งหนึ่งที่ต้องชมคือทีมโปรดักชันดีไซน์ที่สร้างฉากได้สวยงามอลังการ หรือมีหลายช่วงของรายการที่ดูสนุก โดยมากจะเป็นพวกภารกิจบ้าๆ บอๆ ที่ผู้ร่วมรายการต้องเผชิญ อย่างเช่นภารกิจตักน้ำหรือหลบระเบิดน้ำในตอนที่หนึ่ง แต่ผู้เขียนก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า อ้าว ไอ้รูปแบบตะลุย ‘มิชชั่น’ แบบนี้มันก็คล้ายๆ กับ Running Man เลยนี่นา แล้วฉันจะมาเสียเวลาดู Busted! ทำไมเล่า

อย่างไรก็ดี มีการโปรโมทว่าช่วงท้ายๆ ของ Busted! จะมีการหักมุมที่น่าตื่นเต้นตกใจ ดังนั้นการตัดสินรายการจากการดูไปเพียงสองตอนก็อาจจะเร็วไปสักหน่อย แต่ในโลกยุคนี้ที่หมุนเร็วไวและมีซีรีส์มากมายเป็นหลักพันให้เลือกสรร ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าการให้โอกาสเป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่