ปัจจัยหลายประการที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการกระตุ้นอุปสงค์ที่มีต่อ 'การศึกษาคุณภาพสูง' ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าการรีบร้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการศึกษาราคาสูง อาจนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล แต่กลับทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตประชากรที่หนักขึ้น
สำหรับหลายคู่ การมีบุตรเพียง 1-2 คน จะทำให้ผู้ปกครองสามารถลงทุนด้านการศึกษากับบุตรได้มากขึ้น และแม้ว่าในยุคปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่จะสามารถเข้าศึกษาต่อได้ง่ายขึ้น แต่ผู้ปกครองหลายคนก็เลือกที่จะให้บุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดอยู่ดี โดยการเข้าสู่ระบบการศึกษาคุณภาพสูงตั้งแต่ระดับปฐมวัยถูกมองว่าจะทำให้เด็กๆ ได้เปรียบเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม
ในปี 2560 นักเรียนชาวญี่ปุ่นกว่า 77,453 คน สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเอกชน ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 15 จากตัวเลขในปี 2543 ขณะที่ตัวเลขของนักเรียนในระดับอนุบาลกลับลดลงกว่าร้อยละ 12 เหลือเพียง 6.44 ล้านคนเท่านั้น
ญี่ปุ่น รายได้มากขึ้น-เวลาน้อยลง
ปัจจุบันครอบครัวในญี่ปุ่นมีรายได้ทั้งจากสามีและภรรยามากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งทำให้ครอบครัวสามารถลงทุนด้านการศึกษาให้กับบุตรได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม รินะ ฮาตาโนะ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาชาวญี่ปุ่น กล่าวว่า พ่อแม่หลายคนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีเวลาเตรียมความพร้อมในการสอบเข้าศึกษาต่อให้กับบุตร จึงเลือกที่จะใช้บริการที่ปรึกษาด้านการศึกษาอย่างเธอ ให้แนะแนวทางการสอบและโรงเรียนที่ดีให้ "เพราะพ่อแม่เหล่านี้มีความคาดหวังสูงต่อลูกของพวกเขา"
ขณะที่ผู้สนับสนุนหลายคนมองว่านี่เป็นการยกระดับการศึกษา แต่ยูกิ โมชิซูกิ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนิฮง ออกมาให้ความเห็นในเชิงตรงข้ามว่าทัศนคติต่อการศึกษาเช่นนี้แท้จริงแล้วเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ อาทิ โรงเรียนเอกชนหลายแห่งมักตั้งอยู่ในตัวเมือง "ทำให้ผู้ปกครองที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองมีตัวเลือกมากกว่า" ซึ่งนำไปสู่ความไม่สอดคล้องทางภูมิภาค
มากไปกว่านั้น การอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าผู้ปกครองจะสามารถส่งเสียบุตรให้เรียนในโรงเรียนเหล่านั้นได้ เนื่องจากค่าเทอมที่สูงลิ่วเกินกว่าประชาชนชั้นกลางจะสามารถส่งเสียบุตรได้
ในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากบุคคลที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานกับคนที่มีรายได้ในระดับเดียวกัน จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยโนมูระ พบว่า หนึ่งในสามของประชากรที่มีรายได้มากกว่า 20 ล้านเยนต่อปี หรือประมาณ 5.7 ล้านบาทต่อปี กล่าวว่า พวกเขาพร้อมจะลงทุนในการศึกษาของบุตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากสัดส่วนในปี 2543
ในทางตรงข้าม สัดส่วนของประชากรที่มีรายได้ 1 - 2 ล้านเยนต่อปี หรือประมาณ 300,000 - 600,000 บาทต่อปี ตกลงจากร้อยละ 14 มาอยู่ที่ร้อยละ 10
เกาหลีใต้ การศึกษาราคาแพงและความกลัวการมีบุตร
'การจัดการคุณสมบัติ' (spec management) ซึ่งแท้จริงแล้วคือการฝึกฝนเพื่อเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นักเรียนเข้าปีแรกของระดับอุดมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะมี 'คุณสมบัติ' ที่เหมาะสมในอนาคต
แนวทางการฝึกเด็กเหล่านี้เป็นการกระตุ้นตลาด 'ธุรกิจประสานงาน' ที่ไม่เพียงควบคุมดูแลตารางเรียนของนักเรียน แต่ยังแนะนำกิจกรรมและการอ่านหนังสือเพิ่มเติมให้กับเด็กด้วย เพื่อเป็นการแสดงให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าเด็กคนนี้มีความมุ่งมั่นที่จะทำทุกสิ่งเพื่อให้ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยนั้นๆ
แน่นอนว่าบริการครบวงจรด้านการศึกษาดังกล่าวมาพร้อมกับราคาที่สูงหลายหลัก ค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาบริหารจัดการชีวิตการศึกษาของบุตรที่ผู้ปกครองในเกาหลีใต้ต้องจ่ายจึงอาจจะสูงถึง 100 ล้านวอนต่อปี หรือประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่าอัตราค่าเล่าเรียนและต้นทุนการศึกษาที่สูงมาก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประชาชนในเกาหลีใต้ยุคหลังๆ ไม่อยากมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่จะตามมา ทำให้อัตราการเกิดของประชากรเกาหลีใต้ตกลงมาอยู่ที่ 0.98 คน ในปี 2561 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา
รัฐบาลเกาหลีใต้อัดฉีดเงินกว่า 117 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2559 - 2561 เพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำของประชากร อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของรัฐบาลนอกจากจะไม่สามารถเพิ่มอัตราส่วนการเกิดของประชากรให้ขึ้นไปอยู่ที่ 1.5 ยังไม่สามารถหยุดการลดลงของอัตราการเกิดของประชากรได้เช่นกัน
อ้างอิง; Nikkei
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: